มีคนกล่าวว่า คำว่า เจตสิก ไม่ใช่คำที่พระพุทธองค์ตรัส

 
มหพล
วันที่  2 ต.ค. 2553
หมายเลข  17296
อ่าน  2,053

คำที่สื่อถึงนามธรรม ที่สำคัญเช่นนี้ เขาว่าไม่ใข่คำกล่าวของพระพุทธองค์ แล้วยังบอกอีกว่า อรรถกถา ฏีกา ก็ไม่สนใจ พระไตรปิฏก ถ้าไม่ขึ้นต้นว่า ดูกรภิกขุทั้งหลาย ก็ไม่สนใจ ผมไม่ได้ตอบเขามากนัก ถึงแม้ว่าเรามีหน้าที่ต้องปกป้องพระธรรมวินัย แต่สมัยนี้เป็นสมัยแห่งกาลสมบัติ พระธรรมที่ถูกต้อง เรารู้ได้จากผลที่เกิด แก่รูปธรรมนามธรรมที่เป็นตัวของเราในปัจจุบัน ผมรบกวนช่วยยกตัวอย่างคำว่า เจตสิก ในพระไตรปิฏกด้วยครับ (ผมไม่มีความสงสัยใขข้อนี้ เพียงแต่ติดใจว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 4 ต.ค. 2553

ขอเรียนว่า ได้ค้นข้อความในพระบาลี คือพระไตรปิฎกแล้ว พบคำว่าเจตสิก เป็นจำนวนมาก เป็นทั้งพระพุทธพจน์ และเถรพจน์ ซึ่งทรงแสดงไว้ในสมัยครั้งพุทธกาล เพราะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ จึงทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่สาวก ผู้ศึกษาตามได้รู้ความจริง ส่วนผู้ที่กล่าวว่า ไม่ใช่คำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ บุคคลนั้นชื่อว่า กล่าวตู่พระตถาคตเจ้า และที่กล่าวว่า ข้อความใน อรรถกถาและฎีกา ไม่สนใจก็เท่ากับผู้นั้นรู้ดีกว่า พระอรหันต์ผู้เป็นอรรถกถา จะเป็นไปได้หรือครับ??

ขอยกข้อความบางส่วนจากพระไตรปิฎกเกี่ยวคำว่า เจตสิกดังนี้ * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 213

คหบดีวรรคที่ ๕ ๑. ปฐมปัญจเวรภยสูตร .. [๒๕๒] ภัยเวร ๕ ประการสงบแล้วเป็นไฉน. ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติ หน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ.. * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 434 สูตรที่ ๗

[๓๑๕] ๖๙. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็น ไฉน คือ กายิกสุข ๑ เจตสิกสุข ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่าง นี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ เจตสิกสุขเป็นเลิศ. จบสูตรที่ ๗ * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 157

อนุรุทธเถรคาถา .... ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นดวงประทีป ของชาวโลกกับทั้งเทวโลก เสด็จดับขันธปรินิพพาน ความพ้นพิเศษแห่งพระหฤทัยได้มีขึ้นแล้ว บัดนี้ธรรม เหล่านี้อันมีสัมผัสเป็นที่ ๕ ของพระมหามุนี ได้สิ้นสุด ลงแล้ว ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน.. แล้ว จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่น จักไม่มีอีกต่อไป * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้าที่ 190 อุปสีวมาณวกปัญหานิทเทส ..ท่านเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากสมาบัติแล้ว จงเพ่งดู คือ ตรวจดู พินิจดู พิจารณาดู ซึ่งธรรม คือจิต และเจตสิกที่เกิดใน สมาบัตินั้น โดยความเป็นธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นฝี เป็นลูกศร เป็นความลำบาก เป็นอาพาธ....

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 544 สีลมยญาณนิทเทส (พระสารีบุตรแสดงไว้) อะไรเป็นศีล? เจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล ความ สำรวมเป็นศีล ความไม่ล่วงเป็นศีล.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 182

๕๗-๓. เจตสิกทุกกะ เจตสิกา ธมฺมา ธรรมเป็นเจตสิก อเจตสิกา ธมฺมา ธรรมไม่เป็นเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pannipa.v
วันที่ 4 ต.ค. 2553

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
govit2553
วันที่ 4 ต.ค. 2553

สำหรับผม ผมใช้วิธีนี้ตอบกลับไปครับ

ถ้าเขาบอกว่า เจตสิก ไม่มีในพระไตรปิฏก

ผมก็ทวนคำพูดไปเลยว่า เวทนา สัญญา สังขาร ไม่มีในพระไตรปิฏก

เพราะเรารู้อยู่ว่า เจตสิก ก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร นั่นเอง

แล้วจะไม่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฏกได้อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 4 ต.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลสัตว์โลกให้เข้าใจธรรมตามพระองค์ ด้วย จึงทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนา ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว คำสอนทั้งหมดพระองค์ทรงแสดงให้เข้าใจความจริง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเมื่อจะกล่าวให้สั้นกว่านั้น คือ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม และ สั้นที่สุด คือ ธรรม นั่นเอง ธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่ต้องใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงธรรมอะไร อันจะเป็นเครื่องส่องให้ผู้ฟังได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ไม่ใช่ให้ไปติดที่ชื่อ เมื่อได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับแล้ว ก็จะเข้าใจว่า ธาตุรู้ หรือ สภาพรู้นั้น มี ๒ อย่าง คือ อย่างแรก เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ (จิต) และ อย่างที่ ๒ คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย (เจตสิก) ตัวอย่างเจตสิก เช่น ความโ ลภ ความโกรธความไม่รู้ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ความระลึกได้ ความเลื่อมใส ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเพียร ความไม่โลภ ความไม่โกรธ เป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้มากมาย ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ประกอบกับจิต จึงชื่อว่า เจตสิก

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดและ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ บุคคลผู้ที่ตั้งใจศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะได้ประโยชน์จากพระธรรม ธรรม เป็นเรื่องยาก จึงต้องตั้งใจฟังตั้งใจศึกษา ความรู้ความเข้าใจจึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ