เรื่องของพรหมจรรย์
สนทนาพระธรรมวินัย
วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑
เรื่องของพรหมจรรย์
ท่านอาจารย์ ธรรมแต่ละคำก็ต้องละเอียด แม้แต่คำว่า "พรหมจรรย์" เราได้ยิน คำว่า “จรรย์” ในภาษาไทย จริยะ = ความประพฤติ , ความเป็นไป “พรหม” บางคนอาจจะเข้าใจ เป็นพระพรหมเท่านั้น แต่จะเป็นอะไร ก็ตามแต่ ความหมายของ "พรหม" ก็คือประเสริฐ เพราะฉะนั้น ความเป็นไป หรือ ความประพฤติที่ประเสริฐในชีวิต ....คืออะไร? ขณะใดที่เกิดกระทำการทุจริต ไม่ประเสริฐแน่ แต่ว่าขณะใดก็ตาม ที่"กุศลธรรม" ประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น...เป็น "ธรรมที่ ประเสริฐ" เพราะฉะนั้น บางครั้ง พระองค์จะทรงแสดงความกว้าง ขวางของพรหมจรรย์ทานก็เป็นพรหมจรรย์ ศีลก็เป็นพรหมจรรย์ และ พรหมจรรย์สูงสุด ก็คือ ความอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ความ จริงของสภาพธรรมเพราะเกิดมาแล้ว ไม่รู้ว่าเกิดเพราะอะไร แล้วบาง คนก็ถามว่า เกิดมาทำไม คือไม่รู้อะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่เกิดแล้ว ก็คือ ว่าเกิดแล้วต้องเป็นไป คือเกิดแล้ว ต้องเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ต้องได้ กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องกระทบสัมผัส ต้องคิดนึก วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้ หรือมากกว่านี้
นอกจาก เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ชั่วขณะสั้นๆ เล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด รวมกันแล้วก็ เป็นชีวิตในวันหนึ่งๆ แล้วก็คิดนึกถึงเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นๆ เป็นเราหรือเปล่า และนอกจากนี้มีอะไรอีก ลองหาดูสิคะ แต่เพราะมีสิ่งเหล่านี้ โดยไม่รู้ ทั้งหมดก็เลยเป็นเรา เพราะฉะนั้น การที่เกิดมาแล้ว ความประพฤติเป็นไปในขั้นทาน ขั้นศีล ก็ยังกระทำไปด้วยการไม่รู้ความจริงของชีวิต ตั้งแต่เกิด จนตาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ การสามารถ ที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกต้อง ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้น ก็ไม่ฟังพระธรรม ฟังเพื่ออะไรคะ เพื่อรู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงทุกขณะของชีวิต เพื่อให้ผู้อื่นสามารถจะมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นกุศล ที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ถ้ามีปัญญาเห็นถูกต้องแล้ว จะทำอกุศลไหมคะ ก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทุกประการด้วย
"ปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทุกประการด้วย"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
การประพฤติพรหมจรรย์ คือการที่เป็นไปในความงาม สามส่วนใน สุจริต ๓ กาย วาจา ใจ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ อันที่จะนำมาซึ่งความผ่องแผ้ว โดย... "เจริญความถูกต้อง ในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ"
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถานี้ว่า “บัณฑิตทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส เหมือนห้วงน้ำลึก ใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น” ในอรรถกถา ขยายความไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำอธิบายนี้ไว้ว่า “ห้วงน้ำนั้น ชื่อว่า ใสแจ๋ว เพราะเป็นน้ำไม่อากูล (ไม่สกปรก) ชื่อว่าไม่ขุ่นมัว เพราะเป็นน้ำไม่หวั่นไหว ฉันใด; บัณฑิตทั้งหลาย ฟังเทศนาธรรมของเราแล้วถึงความเป็นผู้มีจิตปราศจาก อุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ด้วยสามารถแห่งมรรค มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น ชื่อว่า ย่อมผ่องใส ฉันนั้น ส่วนท่านผู้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ย่อมเป็นผู้ผ่องใส โดยส่วนเดียวแล” (จาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท และ อรรถกถา)