กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๒]

 
khampan.a
วันที่  18 ต.ค. 2553
หมายเลข  17384
อ่าน  11,048

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สาระจากตอนที่ ๑ แสดงให้เห็นว่า กฐิน เป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวกับพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนโดยตรงที่จะต้องกระทำตามวินัยกรรม คฤหัสถ์เป็นเพียงผู้ถวายผ้าเท่านั้น

สำหรับในตอนที่ ๒ นี้ จะขอกล่าวถึง ใครสามารถ เป็นผู้ถวายกฐินได้บ้าง กรานกฐินคืออะไร คุณสมบัติของผู้กรานกฐิน และอานิสงส์ของพระภิกษุผู้ได้กรานกฐินหรือ รับกฐิน เป็นลำดับไป ดังนี้

"ผู้ถวายกฐิน"

ในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวรรค หน้าที่ 230 มีข้อความที่แสดงถึงบุคคลผู้ถวายกฐิน ไว้ว่า "บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ หรือสหธรรมิก ๕ (ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี) คนใดคนหนึ่ง ถวาย ก็ใช้ได้"

ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากคฤหัสถ์แล้ว บุคคลผู้สามารถถวายผ้ากฐินได้ ก็ยังมีอีกดังที่ได้กล่าวมา แต่ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้ถวายกฐิน ล้วนเป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น

"กรานกฐิน คืออะไร?"

คำว่า กรานกฐิน เป็นสำนวนในพระวินัย (ตามศัพท์หมายถึง เอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงไว้ที่ไม้สะดึง) โดยเนื้อความแล้วสามารถเข้าใจได้ดังนี้คือ พระภิกษุที่จะกรานกฐิน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป) โดยได้รับการอนุมัติจากสงฆ์ว่า เป็นผู้สมควรได้รับผ้า แต่เดิมท่านมีผ้านุ่งผืนเก่าอยู่ ก็จะต้องสละผ้าผืนเก่าเสียก่อน แล้วนุ่งผ้าใหม่ อธิษฐานผ้าใหม่ที่จะใช้ต่อไป พระภิกษุทั้งหมดที่อยู่ร่วมสังฆกรรมก็อนุโมทนา ขั้นตอนทั้งหมดนี้ คือลักษณะของการกรานกฐิน ซึ่งก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้นั้น พระภิกษุทุกรูปจะต้องร่วมกันทำผ้าให้เสร็จเรียบร้อย เริ่มตั้งแต่การซักผ้าให้สะอาดกะผ้า ตัดผ้าเย็บผ้า ย้อมผ้า เป็นต้น กิจกรรมทั้งหมด ต้องให้เสร็จภายในวันนั้น ซึ่งจุดประสงค์จริงๆ เพื่อให้สงฆ์สามัคคีกัน พร้อมเพรียงกัน (จากประเด็นดังกล่าวนี้ คฤหัสถ์ ก็สามารถถือเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ในเรื่องของความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)

"คุณสมบัติของผู้กรานกฐิน"

จะต้องเป็นพระภิกษุที่มีความเข้าใจพระธรรมวินัย เข้าใจขั้นตอน ในการกระทำสังฆกรรมที่ว่าด้วยการกรานกฐินนี้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเป็นพระเถระ เป็นผู้ทรงคุณเป็นพหูสูต สมควรแก่ผ้าที่จะได้รับนั้น และที่สำคัญเป็นผู้มีผ้าเก่าที่ควรจะได้รับการเปลี่ยนเป็นผ้าใหม่ ทั้งหมดนั้นต้องเป็นผู้ได้รับการอนุมัติจากสงฆ์ คฤหัสถ์จะเป็นผู้เจาะจงว่าจะถวายรูปนั้นรูปนี้ ไม่ได้เลย

ขอเชิญคลิกอ่านคุณสมบัติของผู้กรานกฐินได้ที่หัวข้อนี้ ครับ

... ผู้ควรกรานกฐิน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 ต.ค. 2553

"อานิสงส์ของพระภิกษุผู้ได้กรานกฐิน"

เมื่อพระภิกษุได้กรานกฐินถูกต้องตามวินัย จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ซึ่งเกี่ยวกับการได้รับการผ่อนผันในทางพระวินัย ดังต่อไปนี้

๑. เที่ยวไปไหนโดยไม่ต้องบอกลา ในพระวินัย มีข้อความปรากฏว่า ถ้ามีการนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้านจะไปต่อในที่อื่นจะต้องลาพระภิกษุ ณ ที่นั้นก่อน แต่ถ้าได้กรานกฐินแล้ว สามารถไปได้เลยโดยไม่ต้องบอกลา เพราะว่าเป็นช่วงที่ต้องมีการทำจีวร เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อาจจะขาดเข็ม ขาดด้าย ขาดน้ำย้อม ก็จะสามารถไปบอกข่าวแก่ผู้ที่ได้แจ้งหรือปวารณาไว้ได้ สามารถไปได้เลยโดยไม่ต้องบอกลา (เฉพาะในวันดังกล่าวเท่านั้น)

๒. ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ เนื่องจากว่า มีกิจมากในการทำจีวร ถ้าถือไตรจีวรไปครบสำรับ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษในช่วงนั้น ว่าไม่ต้องถือไปครบสำรับ ถือไปเฉพาะผ้านุ่ง กับผ้าห่มเท่านั้น สังฆาฏิไม่ต้องนำไปก็ได้

๓. ฉันคณโภชนะได้ คือ ฉันเป็นหมู่คณะได้ ๔ รูปขึ้นไป โดยปกติแล้ว ถ้าพระภิกษุรับนิมนต์ โดยคฤหัสถ์บอกชื่ออาหาร จะฉันเป็นคณะ คือ ๔ รูปขึ้นไปไม่ได้ แต่ในช่วงนั้นก็ได้รับการผ่อนปรน ให้ฉันเป็นคณะโภชนะได้สำหรับผู้ได้กรานกฐิน

๔. ทรงอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา ในช่วงกาลจีวรนี้ สามารถเก็บผ้าที่ได้มาที่จะมาทำจีวรได้ โดยไม่กำหนดเวลา ในช่วงที่ได้รับอานิสงส์กฐินนี้ ซึ่งปกติจะเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเท่านั้น

๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้น จักได้แก่พวกเธอ โดยปกติแล้วในอาวาสหนึ่ง ถ้ามีผู้ถวายผ้า ซึ่งถวายแก่สงฆ์ ทั้งภิกษุที่อยู่จำพรรษา และทั้งที่เป็นภิกษุอาคันตุกะ สงฆ์จะต้องทำการแบ่งให้กับทุกรูป แต่ในกรณีที่ได้กรานกฐิน พระอาคันตุกะไม่มีสิทธิ์ ได้เฉพาะภิกษุผู้จำพรรษา ณ อาวาสนั้นเท่านั้น

นี้เป็นอานิสงส์สำหรับพระภิกษุโดยตรง ที่ได้รับการผ่อนผันทางพระวินัยเป็นบางข้อเท่านั้นเอง

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความโดยตรงจากพระวินัยปิฎกที่นี่ ครับ

อานิสงส์ของการกรานกฐิน [พระวินัยปิฎก ปริวาร]


เรื่องกฐิน เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ถ้ามีส่วนที่ผิดตกบกพร่องอย่างไร ผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ด้วยนะครับ (สำหรับในตอนที่ ๓ จะขอกล่าวถึง เกี่ยวกับผู้ถวายกฐินโดยตรง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการถวายกฐิน กฐินเดาะ) [สำหรับในตอนที่ ๔ และ ตอนที่ ๕ (ซึ่งเป็นตอนจบ) จะขอนำเสนอคำสนทนาเรื่องกฐิน ระหว่างท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คณะวิทยากร และ ผู้ร่วมสนทนาธรรม ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 18 ต.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แก่นไม้หอม
วันที่ 19 ต.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 19 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อินทรีย์พละ
วันที่ 20 ต.ค. 2553
ขออนุโมทนาในความรู้ที่ได้รับครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 20 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
aditap
วันที่ 20 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Komsan
วันที่ 3 มี.ค. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jirat wen
วันที่ 5 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
aurasa
วันที่ 12 ก.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
bobensun
วันที่ 28 ต.ค. 2563

สาธุๆ ๆ ๆ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ