สืบเนื่องจาก กฐิน

 
aditap
วันที่  24 ต.ค. 2553
หมายเลข  17431
อ่าน  1,783

ได้อ่านข้อความที่คุณ คําปั่น ได้แสดงไว้เกี่ยงกับเรื่องของการถวายผ้ากฐิน แล้วยังมีความสงสัยเรื่องของ การฟังเทศน์มหาชาติ ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับคำนี้เท่าไร ขอความกรุณา และความเมตตาจากท่านวิทยากร ช่วยแสดงข้อความดังที่กล่าวไว้ ให้ถูกต้องและชัดเจนตรงตามหลักฐานจากพระไตรปิฏก ด้วยครับ

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เทศน์ คือ อะไร มหาชาติ คือ อะไร เทศน์ หรือ เทศนา หมายถึงการแสดง ส่วนมหาชาตินั้น หมายถึง พระชาติที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี เมื่อเกิดเป็นพระเวสสันดร เป็นพระชาติ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี คือทรงบำเพ็ญมหาทาน ทรงบริจาคบุตร ภรรยา อันเป็นที่รักของพระองค์ ทรงบริจาคสิ่งอันเนื่องกับพระองค์ เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่การบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและก็ทรงบำเพ็ญครบทั้ง ๑๐ บารมี ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทานบารมีอย่างเดียวเท่านั้น ก่อนที่พระองค์ จะได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร ในสวรรค์ชั้นดุสิต มีพระนามว่า เสตเกตเทพบุตร ต่อจากนั้น ก็เคลื่อนจากความเป็นเทพบุตรทรงมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และ ได้ทรงบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุด ดังนั้น เทศน์มหาชาติ ก็คือ การแสดงเวสสันดรชาดก นั่นเองเมื่อมีผู้เทศน์หรือผู้แสดงก็ต้องมีคนฟัง ผู้ฟังพระธรรมเทศนาในส่วนดังกล่าวนั้นชื่อว่า ฟังเทศน์มหาชาติตามความเป็นจริงแล้ว เวสสันดรชาดก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์สองหมื่นรูป และพระประยูรญาติที่มหาวิหารนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งที่พระองค์ เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติ โดยทรงทำฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุ จึงตรัสชาดกดังกล่าวนี้ เวสสันดรชาดก เป็นชาดกที่ยาวมาก เป็นหนึ่งในมหานิบาตชาดก ประกอบด้วยพระคาถา ๑,๐๐๐ พระคาถา

ผู้ที่สนใจในรายละเอียด สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ ...
[เล่มที่ 64]
พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 64
หน้า ๔๘๔ - ๘๑๕

การฟังการศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และ มีความเข้าใจไปตามลำดับ ซึ่งสัตว์โลกที่ได้รับประโยชน์จากการแสดงพระธรรมของพระองค์ มีมากมายนับไม่ถ้วน

ต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว : การแสดงเวสสันดรชาดกในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าจะให้ได้ประโยชน์จริงๆ ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งผู้แสดงและผู้ฟัง ควรอย่างยิ่งที่จะนำข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก มาแสดง ด้วยคำพูดธรรมดา เปิดโอกาสให้ซักถามเป็นการสนทนาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการแหล่ หรือ ใส่ทำนอง เพราะเหตุว่า ถ้าแสดงธรรมในลักษณะที่เป็นการแหล่ หรือ ใส่ทำนองนั้น พระภิกษุต้องอาบัติมีโทษอยู่เหนือตน นอกจากนั้นแล้ว ถ้าจะเทียบกันระหว่าง คำพูดธรรมดา กับ การแหล่ หรือ ใส่ทำนอง แล้ว คำพูดธรรมดา ฟังชัดกว่า และที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้แสดง มุ่งที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจธรรมจริงๆ หรือเปล่า หรือ มุ่งอย่างอื่น มี ลาภสักการะ สรรเสริญ เป็นต้น ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ก็เป็นการสะสมอกุศล พอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว แต่ถ้ามุ่งจะให้ผู้ฟังได้ประโยชน์จริงๆ ก็จะต้องยึดแบบอย่างที่ดีจากบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ด้วยการแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริงโดยไม่ทรงต้องการอย่างอื่นเลยในการทรงแสดงพระธรรมแต่ละครั้ง นอกจากให้ผู้ฟังได้เข้าใจธรรม เป็นปัญญาของผู้ฟังเอง เท่านั้น จริงๆ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
aditap
วันที่ 25 ต.ค. 2553

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 26 ต.ค. 2553

เข้าใจว่า มหาชาติ หรือชาติใหญ่ๆ ของพระโพธิสัตว์ไม่ใช่มีเพียงชาติที่เป็นพระเวสสันดร เท่านั้น ยังมีอีกหลายชาติ เช่น สมัยเป็นพระมหาชนก เนมิราช สุวรรณสาม พระเตมีย์ และ มโหสถ เป็นต้น ก็เป็นชาติใหญ่ ที่ควรนำมาแสดงด้วยครับ และควรแสดงด้วยเสียงภาษา และทำนองที่คนเขาฟังรู้เรื่อง เข้าใจในจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ อย่างนี้จะมีประโยชน์มากครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Noparat
วันที่ 26 ต.ค. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 26 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ สาธุ.....

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chaiyut
วันที่ 26 ต.ค. 2553

ขออนุญาต เรียนถามอาจารย์ prachern.s หรือ คุณ khampan.a ก็ได้ครับว่า...

การเทศน์มหาชาติของพระภิกษุ ท่านก็เป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ แล้วการเทศน์มหาชาตินี้จำกัดเวลาว่า จะต้องเฉพาะหลังออกพรรษา หลังทอดกฐินหรือเปล่า ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 26 ต.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"มหาชาติ หรือชาติใหญ่ๆ ของพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่มีเพียงชาติที่เป็นพระเวสสันดร เท่านั้นยังมีอีกหลายชาติ เช่น สมัยเป็นพระมหาชนก เนมิราช สุวรรณสาม พระเตมีย์ และ มโหสถ เป็นต้น ก็เป็นชาติใหญ่ที่ควรนำมาแสดงด้วย ครับ และควรแสดงด้วยเสียงภาษา และทำนองที่คนเขาฟังรู้เรื่อง เข้าใจในจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ อย่างนี้จะมีประโยชน์มากครับ"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ประเชิญ มากครับ

เรียน ความคิดเห็นที่ ๖ ครับ

การแสดงพระจริยาวัตร ของพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่างๆ รวมถึงพระชาติใหญ่ๆ (มหาชาติ) มีเวสสันดรชาดก เป็นต้น นั้น เป็นการแสดงธรรม เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง จะได้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง ตามความเป็นจริง โดยไม่ได้มีการจัดเลยว่า จะต้องเป็นหลังออกพรรษา หรือหลังทอดกฐิน เพราะเหตุว่า การแสดงธรรม หรือการสนทนาธรรม รวมถึงการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จะเป็นช่วงเวลาใด ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และไม่ใช่เพียงแค่ชาดกเท่านั้น ที่ควรแสดงหรือควรศึกษา แต่ควรศึกษาทุกส่วนทั้งในส่วนของพระวินัย พระสูตรอื่นๆ และพระอภิธรรม เพราะทั้งหมดนั้น เมื่อศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 26 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ประเชิญ และ อ.คำปัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 26 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
dhammanath
วันที่ 19 ธ.ค. 2553

เรียนอาจารย์คำปั่น

ก่อนอื่นต้องขออภัยด้วย หากคำถามหรือความคิดเห็นของผมต่อไปนี้ มีความผิดพลาด หรือไม่ชอบด้วยหลักในพระธรรมวินัย โดยประการใดประการหนึ่ง จากความเห็นส่วนตัวที่อาจารย์กล่าวว่า "ถ้าแสดงธรรมในลักษณะที่เป็นการแหล่ หรือใส่ทำนองนั้น พระภิกษุต้องอาบัติมีโทษอยู่เหนือตน" นั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะมีเป็นอาบัติแก่พระภิกษุผู้กล่าวในพระวินัยนั้น มีปรากฎข้อห้ามอยู่จริง แต่ไม่แน่ใจว่าที่ห้ามนั้น ห้ามการกล่าวในลักษณะไหน ในเวลาเรียนพระวินัย ก็เคยมีความสงสัยอยู่เหมือนกัน ผมเคยได้รับทราบว่า จากพระเถรผู้ใหญ่มาว่า การเทศน์ทำนองแบบที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ นั้น เป็นการกล่าวที่ไม่ผิดพระวินัย เพราะไม่สามารถเอาเสียงดนตรีมาจับเป็นจังหวะได้ และถ้าผิดจริงทำไมจึงมีประเพณีการเทศน์แบบนี้มายาวนาน น่าจะมีการพูดจา ตีความกันมาแล้วว่าไม่ผิด อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง เหตุผลอีกอันหนึ่งในพระไตรปิฎกเองก็มีกล่าวไว้ยกตัวอย่างเช่น

ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ ภาค ๒ ข้อ ๒๐ หน้า ๓๑ เรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ (หรือสำหรับพระภิกษุ เวลาเรียนอนุพุทธ ก็จะได้เรียนในเรื่องนี้ด้วย) มีข้อความว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานอนุญาตให้พระโสณกุฏิกัณณะ จำวัดในพระคันธกุฏีอันเป็นที่ประทับของพระองค์ แล้วได้นิมนต์ให้ท่านกล่าวธรรม ท่านก็ได้กล่าวพระสูตรในอัฏฐกวรรค ทั้ง ๑๖ พระสูตรโดยสรภัญญะ ด้วยเสียงอันไพเราะ แล้วพระองค์ทรงสาธุการด้วย มองอีกแง่หนึ่ง พระพุทธเจ้านั้น พวกเราไม่ต้องสงสัยในความรอบรู้ของพระองค์เลยแม้แต่น้อย ในการแสดงพระธรรม พระองค์สามารถที่จะแสดงเป็น ฉันท์ (กาพย์กลอน) ได้อย่างฉับพลันทันที โดยที่ไม่ต้องนั่งนึก แล้วค่อยประพันธ์อย่างกวีเอกของโลกแม้แต่น้อย แล้วก็แสดงเป็นฉันท์หลายอย่างอีกด้วย เช่น คาถาธรรมบททั้งหมด มงคงสูตรเป็นต้น ล้วนแต่เป็นบทกวีทั้งนั้น แม้ว่าฉันท์ที่มีปรากฏนั้น ถ้าเอาหลักวิธีของฉันทลักษณะเข้าจับแล้ว ก็จะผิดฉันทลักษณะไปบ้างก็ตาม (สำหรับนักเรียนบาลีจึงห้ามเอาหลักการแต่งฉันท์ไปจับพระพุทธพจน์ และก็ห้ามแก้ตรงที่ผิดฉันทลักษณะอีกด้วย อันนี้เราก็ได้รับการอบรมสั่งสอนกันมาอย่างนี้ครับ) จุดพระสงค์ที่แสดงด้วยฉันท์นี่ นอกจากจะทำให้จำง่ายแล้ว น่าจะมีพระประสงค์อย่างอื่นด้วย แล้วก็ต้องเกี่ยวกับการสวดด้วย

อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมยกมาเพื่อให้อาจารย์ได้พิจารณาด้วยความเคารพครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ