สัมมามรรค - มิจฉามรรค

 
pawana
วันที่  5 พ.ย. 2553
หมายเลข  17482
อ่าน  4,786

รบกวนเรียนถามท่านผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยค่ะว่า สัมมามรรค เป็นอย่างไร มิจฉามรรค เป็นอย่างไร

ขอบคุณมากค่ะ

ภาวนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 6 พ.ย. 2553

สัมมามรรค คืออริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ

๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ

มิจฉามรรค ๘ ก็นัยตรงกันข้าม คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ

๒. มิจฉาสังกัปปะ

๓. มิจฉาวาจา

๔. มิจฉากัมมันตะ

๕. มิจฉาอาชีวะ

๖. มิจฉาวายามะ

๗. มิจฉาสติ

๘. มิจฉาสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 6 พ.ย. 2553

สัมมา คือ ถูกต้อง มรรค คือ หนทาง หมายถึง หนทางที่ถูกต้องเพื่อการอบรมปัญญาและกุศลทุกประการ จนกว่าจะถึงการตรัสรู้ความจริง ดับกิเลส และดับการเกิดวนเวียนไปในวัฏฏะ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบครับ สำหรับ มิจฉา คือ ไม่ถูกต้อง ผิด ไม่ดีมิจฉามรรค ก็คือ หนทางที่ผิด ไม่เป็นไปเพื่อการเจริญกุศล เป็นความเข้าใจผิดว่าสิ่งที่อบรมอยู่ เป็นทางหลุดพ้น แต่ความจริงไม่ใช่ และไม่รู้ว่าไม่ใช่ ถูกกิเลสหลอกลวงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pawana
วันที่ 7 พ.ย. 2553

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบข้างบนค่ะ แต่ขอเรียนถามอีกว่า เราจะทราบได้อย่างไรคะว่า

1. ทางที่กำลังดำเนินอยู่นั้นเป็น สัมมามรรคหรือ มิจฉามรรค

2. ถ้าดำเนินมิจฉามรรคโดยที่ไม่รู้ว่า เป็นมิจฉามรรค แล้วจะให้ผลอย่างไร สามารถนำปฏิสนธิได้หรือไม่ และในภพภูมิใด ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ ภาวนา คุณหพันธ์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 8 พ.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ ๓

๑. รู้ได้โดยการเทียบเคียงกับพระธรรมคำสอน ว่าตรงกับที่ทรงแสดงไว้หรือไม่

๒. ถ้าเป็นความเข้าใจผิด เห็นผิด รู้ผิด..ย่อมนำปฏิสนธิในอบายได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pawana
วันที่ 8 พ.ย. 2553

ในประเทศไทย ก็มีหลายสำนักที่สอน และปฏิบัติต่างๆ กันมากมาย ปุถุชนยังมีอวิชชาอยู่มาก ย่อมไม่มีทางทราบได้เลยว่า ที่ไหนสอนถูกหรือผิด ขอเรียนถามว่า จะสร้างเหตุปัจจัยอย่างไร ที่จะมีผลทำให้ได้พบกับผู้ที่สอนได้ถูกต้องตามพระไตรปิฏก คะ

ขอบพระคุณมากค่ะ ภาวนา คุณหพันธ์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chaiyut
วันที่ 26 พ.ย. 2553

จะสร้างเหตุปัจจัยอย่างไร ก็คือขณะนี้ ยุคนี้ ยังมีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรม ก็ควรที่จะศึกษาธรรมจากผู้รู้ แล้วไตร่ตรองพิจารณาธรรมที่ได้ฟัง พร้อมกับสอบทานเทียบเคียงกับสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน และโดยตรงจากพระไตรปิฎก เราจะฟังจากใครก็ตามถ้าเราไม่ได้สะสมปัญญามามาก เราย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะไปตัดสินผู้แสดงธรรมได้ว่าท่านกล่าวธรรมถูก หรือ ผิด แต่อาจจะพอพิจารณาจากสิ่งที่ท่านกล่าวได้ คือ ไม่ได้คัดค้าน แต่ก็ไม่ได้รีบเชื่อไปเสียทีเดียว ถ้าหากว่าท่านยังไม่ได้สอนให้เราเกิดปัญญาของตนเอง และเราเองก็ยังไม่ได้ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟังให้ละเอียดรอบคอบ ก็ไม่ควรสรุปสิ่งที่ได้ฟังเข้าข้างความเห็นของเรา คือ ไม่ควรรีบปักใจเชื่อ จนกว่าจะเกิดความเห็นที่ถูกในธรรมที่ได้ฟัง เพราะพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้มาจากความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่เป็นสัจจะ เป็นคำจริงจากความจริงที่ทรงตรัสรู้ แล้วทรงพระมหากรุณาแสดงไว้เพื่อเกื้อกูลให้สาวกที่สะสมบุญในอดีตมา ได้เกิดปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะเห็นประโยชน์ของพระธรรมมากขึ้น เมื่อนั้นจึงจะเป็นปัจจัยให้ถึงการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อละอกุศล เพื่อเจริญกุศลให้ถึงพร้อมเพื่อพ้นทุกข์ นี่คือ การสร้างเหตุปัจจัย โดยเริ่มต้นศึกษาพระธรรมด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาท คือ ไม่รีรอโอกาสข้างหน้า และไม่หวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ถ้าหากมีเวลา ก็ขอแนะนำให้ฟังธรรมจากในเว็ปไซต์นี้ดูครับ มีบริการทั้งฟัง ชม อ่าน สนทนาธรรมรวมทั้งบริการพระไตรปิฎกให้ดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ