ยามคับขัน ต้องการผู้กล้าหาญ [อรรถกถา มหาสารชาดก]
[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาต ชาดก เล่ม ๕๖ -หน้า๓๓๗ -๓๓๘
ยามคับขัน ย่อมปรารถนาผู้กล้าหาญ ยามปรึกษาการงาน ย่อมปรารถนาคนไม่พูดพล่าม ยามมีข้าวน้ำ ย่อมปรารถนาคนเป็นที่รักของตน ยามต้องการเหตุผล ย่อมปรารถนาบัณฑิต ดังนี้ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุกฺกฏฺเฐ ความว่า ในยามคับขัน คือ คราวที่ทั้งสองฝ่ายเข้าประชิดกัน อธิบายว่า เมื่อการรุกรบในสงครามกำลังดำเนินไป
บทว่า สูรมิจฺฉนฺติ ความว่า ย่อมปรารถนาผู้ที่กล้าหาญอันมีปกติไม่รู้จักถอย แม้เมื่อสายฟ้าจะฟาดลงมาบนกระหม่อมเพราะว่าในขณะนั้น คนอย่างนี้ควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นจอมทัพ
บทว่า มนฺตีสุ อกุตูหลํ ความว่า เมื่อเวลามีกิจการที่จะต้องปรึกษาถึงกิจที่ควรทำและไม่ควรทำ ในเวลาปรึกษากิจการย่อมปรารถนาคนที่ไม่พูดพร่ำ ไม่พูดเลื่อยเปื่อย คือไม่แพร่งพรายข้อที่ปรึกษากัน เพราะคนลักษณะเช่นนั้น เหมาะที่จะแต่งตั้งในตำแหน่งนั้นๆ
บทว่า ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ ความว่า เมื่อข้าวน้ำมีรสอร่อยปรากฏขึ้น ย่อมปรารถนาคนอันเป็นที่รัก เพื่อชักชวนให้บริโภคร่วมกัน เพราะคนเช่นนั้น จำปรารถนาในเวลานั้น
บทว่า อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ ความว่า เมื่ออรรถอันลึกซึ้งธรรมอันลึกซึ้งเกิดขึ้น หรือเมื่อเหตุหรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมปรารถนาบัณฑิตผู้มีปัญญาประจักษ์ เพราะท่านผู้มีลักษณะเช่นนั้น ชอบที่จะปรารถนาในสมัยนั้น