ความเข้าใจเรื่องสมาธิ
ข้อความบางตอนจากการสนทนาธรรม ณ "บ้านมิ่งโมฬี"
อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
วันที่ ๗-๘ กันยายน ๒๕๕๓ ถอดเทปบันทึกเสียง โดยคุณย่าสงวน สุจริตกุล
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ท่านผู้ฟัง เห็นท่านพูดไว้เยอะ เรื่อง "สมาธิ" ในหลายที่
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก มีคำว่า "มิจฉาสมาธิ" กับ "สัมมาสมาธิ" ไม่ควรจะเผิน ไม่ใช่พอได้ยินคำว่า "สมาธิ" ก็ชอบและอยากจะมีสมาธิ ขณะมีสมาธิ ขณะนั้นจิตมั่นคงไม่วอกแวก แต่ถ้าไม่มี "ปัญญา" เกิดร่วมด้วย แม้ขณะนั้นก็ไม่สงบ เพราะว่าจริงๆ แล้วขณะที่เราต้องการจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างเช่น ต้องการอ่านหนังสือหรือไม่อยากให้ใครรบกวน ขณะนั้น อาจจะเห็น "ลักษณะของสมาธิ" ได้ แต่ว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะต้องรู้ว่า การที่จิตหนึ่งขณะซึ่งเป็นธาตุรู้จะเกิดขึ้นรู้สิ่ง (อารมณ์) เดียว ก็เพราะว่าขณะนั้นมี "สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง" ซึ่งเป็น "สภาพธรรมที่มีลักษณะตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้" เพราะฉะนั้น จิตจึงรู้อารมณ์เดียว ทุกขณะที่จิตรู้อารมณ์เดียวเรียกว่า "ขณิกสมาธิ" ซึ่งมาจากคำว่า "ขณะ" และ "สมาธิ" มีสมาธิ (เจตสิก) เกิดพร้อมกับจิตทุกขณะ เมื่อจิตเกิดขึ้นจิตต้องรู้อารมณ์ทีละหนึ่งๆ เพราะจิตมีความตั้งมั่นในอารมณ์ทีละหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ลักษณะของสมาธิเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ได้ปรากฏว่าเป็นสมาธิอย่างที่เข้าใจกัน แต่ถ้ามีความตั้งมั่นในอารมณ์ใดนานพอสมควร "ลักษณะความตั้งมั่นของอารมณ์นั้น" ก็ปรากฏให้จิตรู้ได้ ที่ใช้คำว่า "สมาธิ" ถ้าไม่ประกอบด้วย "ปัญญา" ก็เป็นอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อาจจะเข้าใจว่าอกุศลจิตเป็นกุศลจิต แต่ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ได้ว่า ขณะที่เป็นอกุศลจิตไม่ใช่ขณะที่เป็นกุศลจิต โลภะเกิด เป็นอกุศลจิต โทสะเกิด เป็นอกุศลจิต โลภะและโทสะเกิดขึ้นเพราะโมหะคือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ (ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ก็เป็น "ปัจจัย" ที่ทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น.
โลภะและโทสะ เกิดขึ้นเพราะโมหะคือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ (ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ก็เป็น "ปัจจัย" ที่ทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น.
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ