พระไตรปิฎกกับสุขภาพ
การดูแลสุขภาพสำหรับคฤหัสถ์ ส่วนใหญ่เป็นไปตามอกุศลจิต ไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการศึกษาธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม รักษาพรหมจรรย์ ขัดเกลาละคลายกิเลสอย่างเพศบรรพชิต คฤหัสถ์ส่วนใหญ่ดูแลสุขภาพเพื่อให้ร่างกายน่าดูน่าชม ผิวพรรณผ่องใส เปล่งปลั่ง แข็งแรง เพื่อสนองความยินดีพอใจ หมกมุ่นพัวพันในการเสพความสุขในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างมาก ซึ่งตรงนี้พระพุทธเจ้า ไม่ทรงสรรเสริญเพราะเหตุว่าเป็นอกุศล แต่ถ้าจะเพียงดูแลร่างกายให้แข็งแรงพอเหมาะพอควร ยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อความสะดวก ต่อการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ พระองค์จึงทรงแสดงว่า "ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ" ถ้าไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเลย ผิวพรรณก็ย่อมจะเศร้าหมอง มีมลทิน
ขอเชิญคลิกอ่านครับ >>
สาธุ สาธุ __/l__ ขอรับกระผม "แต่ถ้าจะเพียงดูแลร่างกายให้แข็งแรงพอเหมาะพอควรยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อความสะดวกต่อการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ"
.. (-.-) / ว่าแต่คำว่าพอประมาณนี้ขนาดไหนขอรับ ขนาดไหน ที่มันพอจะเรียกได้ว่าสมดุล? ที่มันเหมาะสมแก่ ทิศทาง พลังงาน เวลา ภาระหน้าที่ การงาน ตั้งแต่ตื่น-ยันหลับ ฯลฯ ในจังหวะทั้งหมดของชีวิตอันเปราะบางบนโลกใบนี้ ขอความกระจ่าง เป็นตัวอย่างรูปธรรมสักตัวอย่างหนึ่ง แก่ สหายผู้ร่วมทางธรรมด้วยขอรับกระผม
ขอบคุณครับ
เรียน ความเห็นที่ 3
แต่ละท่าน มีการสะสมอุปนิสัยมา ไม่เหมือนกัน ความเหมาะสมจึงวัดไม่ได้ว่าประมาณไหนจึงจะพอสมควรกับใคร เพราะไม่มีใครจะรู้ถึงการสะสมกุศล - อกุศลมาในแสนโกฏิกัปป์ของผู้อื่น นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ ฉะนั้น ผู้ที่ยังมีอกุศล เช่น โลภะ ย่อมติดข้องในสิ่งต่างๆ หลากหลายนานัปประการไม่เท่ากัน บางท่านชอบล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า ในขณะที่บางท่านชอบใช้โฟมล้างหน้า บางท่านชอบใช้ครีมอาบน้ำ ในขณะที่บางท่านแค่สบู่อะไรก็ได้ก็พอแล้ว แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ท่านก็ยังฟังธรรมและศึกษาธรรม ด้วยเหตุนี้ สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ผู้ที่เป็นฆราวาส ได้เข้าใจความเหมาะสมของการดำรงชีวิตของตัวท่านเอง ก็คือ "ปัญญา" ครับ ปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง ที่จะทำให้ท่านค่อยๆ รู้จักการสะสมของตนเองว่า หนัก เบาด้านไหนมาก - น้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่การฝืนไปเป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่อัธยาศัยของท่านเอง แต่ทุกคนที่เข้าใจธรรม แล้วก็เป็นตัวของตัวเอง ดำรงชีวิตตามปกติพอเหมาะพอควรแก่อัธยาศัยของตน แม้ว่าเป็นผู้ที่ยังติดข้องอยู่ แต่ก็ไม่ควรให้ถึงระดับที่จะกระทำทุจริตกรรม เช่น การขโมยของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็ศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจ เพื่อละ เพื่อขัดเกลากิเลสตามตามลำดับขั้น ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ครับ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่มที่ 36 หน้าที่ 267
๖. ทุติยอนายุสสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อายุสั้น และอายุยืน
[๑๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุสั้น ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑ เป็นคนทุศีล ๑ มีมิตรเลวทราม ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุสั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืน ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ มีมิตรดีงาม ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นเหตุให้อายุยืน
จบ ทุติยอนายุสสสูตรที่ ๖
ถ้าอยากจะมีอายุยืนยาวก็ควรทานอาหารที่ย่อยง่ายนะคะ ร่างกายจะได้ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีสารพิษตกค้างจากกระบวนการย่อยอาหาร ออกกำลังกายบ้าง เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ปอดและหัวใจทำงานดีขึ้น เว้นขาดจากการกระทำทุจริตกรรม โดยเฉพาะปาณาติบาตค่ะ ส่วนการคบมิตรเลวทรามก็มีแต่จะนำความเสื่อมมาให้ค่ะ