ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ วัดสันติธรรมาราม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  7 ธ.ค. 2553
หมายเลข  17590
อ่าน  3,151

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร ได้รับเชิญให้ไปสนทนาธรรม ที่วัดสันติธรรมาราม ซอยเจริญนคร ๖๐ ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐-๑๘.๓๐ น.

ด้วยความเมตตาของท่านอาจารย์ ในการเห็นประโยชน์ของผู้ฟัง ที่จะได้รับโอกาส อันจะเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ในสังสารวัฏฏ์ของแต่ละบุคคล ที่จะได้รับฟังสิ่งที่มีค่ายิ่ง โดยการได้รับฟังความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ แม้เพียง "ครั้งหนึ่ง" ก็ยังดีกว่า การที่ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะผลของกุศลกรรมหนึ่ง แล้วก็ ตายไปด้วยความไม่รู้.....ไม่....แม้เพียงจะได้มีโอกาสได้ฟังความจริงของชีวิต ที่ถูกต้อง ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในกาลสมัยที่พระศาสนา และ พระธรรมคำสอนยังอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์

ขอเชิญทุกท่านได้มีโอกาสพิจารณา บางช่วง บางตอน ของ ณ กาลครั้งนั้น.....ซึ่งจะเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง.....ของทุกๆ ท่าน ในขณะนี้ ด้วยเช่นกันครับ

คุณคำปั่น ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านอาจารย์ สุจินต์บริหารวนเขตต์ และสวัสดีท่านผู้ฟังพระธรรมทุกท่านนะครับ สำหรับวันนี้ ก็เป็นโอกาสดีที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนามีโอกาสมาสนทนาธรรมะ เพื่อความเข้าใจธรรมะยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่า ธรรมะ ต้องฟัง ต้องศึกษาจึงจะ "เข้าใจ" พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น มีความละเอียด มีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง...ต้องอาศัยการสะสมจากการฟัง การศึกษา ในชีวิตประจำวัน...ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ

สำหรับในช่วงแรกนี้ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ได้อธิบายเป็นเบื้องต้นก่อนนะครับว่า สิ่งที่เราต้องศึกษา ต้องฟัง ที่บอกว่าเป็นธรรมะ ธรรมะนั่น คืออะไรครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยกับ "คำ" กับ "ชื่อ" ต่างๆ แต่ว่าความเป็นจริง ต้องมีสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ก่อนชื่อ ถูกต้องไหม? อย่างขณะนี้ "เห็น" มีจริงๆ "กำลังเห็น" ยังไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น นั่นคือ "ธรรมะ" แต่ว่า การที่เราจะรู้ว่า เราหมายความถึง ธรรมะ อะไร? เพราะว่า "ธรรมะ" ก็มีหลากหลายมาก จำเป็นที่จะต้องใช้ชื่อ เพื่อจะแสดงให้เรารู้ว่า "เราหมายเฉพาะ" ธรรมะอะไร.........

.....แทนที่เราจะบอกว่า "เห็น" เป็น "ธรรมะ" , "ได้ยิน" เป็น "ธรรมะ"...ก็ "กำลังได้ยิน" จริงๆ เดี๋ยวนี้แหละ ที่เป็น "ธรรมะ"........

"...เพราะฉะนั้น "ภาษา" ก็คือว่า ไม่จำเป็นที่เราต้องไปติดที่ "คำ" แต่ว่า ให้เข้าใจว่าคำนั้น หมายถึง สิ่งที่มีจริง และการที่เราจะศึกษาธรรมะ ก็คือว่า ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ " ความจริงของ "สิ่งนั้น" ก็คือว่า มี เพราะ เกิด ถ้าไม่เกิด ก็จะไม่มี "เห็น" ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า "สิ่งใด" ก็ตามที่ปรากฏ "สิ่งนั้น" เกิด...แล้วปรากฏ...แล้วก็ดับไป อย่างเร็วที่สุด จนกระทั่ง ไม่มีใครสามารถ ที่จะรู้ความจริง ถ้าไม่ได้ "ฟัง" พระธรรม..."

...เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจ "ความจริง" ว่า สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ของใคร เพียงแต่มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นถูก เพราะรู้ว่าไม่มีใครสามารถจะทำอะไรเลย.....แต่เพราะไม่รู้ความจริง จึงเข้าใจว่า ที่เห็น เป็น "เราเห็น" หรือที่ได้ยิน ก็เป็น "เราได้ยิน" ที่ได้กลิ่น ก็เป็น "เราได้กลิ่น" ที่คิดนึกก็เป็นเรา สุขก็เป็นเรา ทุกข์ก็เป็นเรา แต่ความจริง ก็เป็น "ลักษณะ" ของธรรมะแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก แล้วก็ ไม่ใช่ "ใคร" ไม่ใช่ "ของใคร" แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย เข้าใจอย่างนี้ ถูกต้องไหม?

ท่านผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์นะคะ คือว่าทุกวันนี้ เราๆ นี่ก็คือว่าทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำ สวดมนต์ ไหว้พระที่บ้าน ไม่ทราบว่าตรงนี้ เป็นการศึกษาพระธรรม หรือเป็นอะไร? ตามความเข้าใจของดิฉันน่ะค่ะ

ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย พูด "คำ" ที่ไม่รู้จักหรือเปล่าคะ? เช่น เมื่อกี้นี้ พูดถึง "บุญ" , "บุญ" คืออะไร? เราพูดกันบ่อย ทุกคำ แต่ไม่รู้ว่า คำนั้นๆ หมายความถึง ธรรมะอะไร? เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามว่า เป็นบุญหรือเปล่า? ใช่บุญหรือเปล่า? เพราะเหตุว่า เราไม่ได้ "เข้าใจ" คำที่เราใช้

ปุญญ หรือ บุญ หมายความถึง ธรรมะ ที่เป็นฝ่ายดี ที่จะชำระอกุศล หรือว่า ขัดเกลาอกุศลทั้งหมด เพราะว่าธรรมะมี ๒ อย่าง ธรรมะฝ่ายดี จะเป็นธรรมะฝ่ายไม่ดีไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นดี ก็เป็นดี แล้วก็ดับไป ธรรมะฝ่ายไม่ดี ฝ่ายชั่ว เกิดเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ดับไป เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น เช่นกล่าวว่า "ทำบุญ" ขณะนั้น "บุญ" อยู่ที่ไหน? และ "บุญ" คืออะไร?

"บุญ" ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่เป็น สภาพของจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นไปเพื่อ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ไม่ว่าจะให้อะไรใครก็ตามแต่ ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ขณะนั้นมีความเอื้อเฟื้อ มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน มีความต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น ขณะนั้น ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่ความโกรธหรือขุ่นเคือง เพราะเหตุว่า ถ้าขุ่นเคืองก็ให้ไม่ได้ บางทีคิดตัดใจจะให้ แต่พอโกรธก็ยังไม่ให้ เก็บไว้ก่อนก็ได้

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สภาพของจิต หลากหลายมาก เพราะฉะนั้น การกระทำทางกาย ทางวาจา ทั้งหมด....มาจากจิต ถ้าจิตดี กายก็ดี วาจาก็ดี ถ้าจิตไม่ดี กายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถที่จะรู้จิตได้ถ้าไม่มีการกระทำและคำพูดที่จะปรากฏให้เห็น ขณะนี้ จิตของใครเป็นอะไร? ทุกคนกำลังนั่งอยู่ที่นี่เหมือนๆ กัน แล้วใคร? รู้ใจใครบ้าง?

ท่านผู้ฟัง สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ ดิฉันขอเป็นตัวแทน ของคณะผู้ที่เข้ามาบวช หลายท่านทีเดียวค่ะ ที่เพิ่งเข้ามาเป็นครั้งแรก ไม่ทราบหรอกค่ะ ศัพท์คำว่า เจตสิก ไม่ทราบ แล้วก็เรื่องของรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ (อุ๊ย) มันคืออะไร? อยู่แต่บ้าน ทำมาหากิน ไม่ค่อยรู้เรื่องเหล่านี้ ขอความอนุเคราะห์ ใช้ภาษาชาวบ้าน ที่เราผู้ที่เพิ่งเข้ามา ขอความกระจ่างตรงนั้น ฟังให้ชัดเจน เหมือนดังที่ท่านอาจารย์ผู้ชาย เมื่อกี้นี้ท่านยกขึ้นมา ค่อนข้างจะมีภาษาชาวบ้านเข้ามา ทำให้พวกเรากระจ่างขึ้นบ้าง แต่ถ้าหากว่ามาใช้ศัพท์ต่างๆ แล้วก็หลายท่านงง ไม่รู้จักเลยทีเดียวค่ะ ขอบคุณค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เป็นความจริงนะคะ มีหลายคำ...ก็เลย ไม่รู้จัก สักคำ.......เพราะว่าแต่ละคำ ก็เป็นคำใหม่ๆ ไม่ใช่คำที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำ ถึงแม้ว่า คำที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ได้เข้าใจคำที่เราใช้ เช่นคำว่า "ธรรมะ" มีใครบ้างที่ไม่เคยได้ยินคำนี้เลยในชีวิต ไม่มีใช่ไหม? แต่ไม่รู้ว่า ความจริงนั้นคืออะไร?

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะก็คือ ศึกษาให้เข้าใจความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ แล้วแต่ว่าใช้ภาษาไหน ถ้าใช้ภาษาไทย ก็เป็นภาษาที่เราเข้าใจได้ แต่ว่าเวลาที่ได้ยินคำในภาษาบาลี ถ้าเราเข้าใจในภาษาไทยแล้ว เราก็รู้ว่า คำที่เราได้ยิน หมายความถึงอย่างนั้น เช่น คำว่า "ธรรมะ" จริงๆ ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นคำภาษาบาลี แต่ภาษาไทยเราก็ใช้คำภาษาบาลีมาก โดยที่ว่าไม่ได้เอาความหมายที่ถูกต้อง ในภาษาบาลีมาด้วย เพียงแต่ว่า เพราะขาดการศึกษาโดยละเอียดโดยรอบคอบ โดยลึกซึ้ง ได้ยินคำไหนก็ "เผิน" เข้าใจว่า เข้าใจแล้ว เช่นเวลาที่เราใช้คำว่า "ธรรมะ" จะพูดโดยไม่รู้หรือ? ว่า "ธรรมะ" คืออะไร? ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ....ไม่รู้ จริงๆ

".....เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายที่เป็นธรรมะด้วย เพียงแต่ไม่เผินว่า รู้จักธรรมะแล้ว....ความเข้าใจธรรมะต้องเป็นของตัวเองจากการฟัง พระผู้มีพระภาคฯทรงประทานมรดกที่สำคัญที่สุดให้กับผู้ฟัง คือ "ความเข้าใจ" ของผู้ฟัง ทรงมีโวหารเทศนา โดยประการทั้งปวง ที่จะทำให้คนฟัง ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ เพื่อที่จะให้คนอื่น ได้รู้ตามด้วย ไม่อย่างนั้น เราก็ได้แต่กราบไหว้ บูชาคนที่เราไม่รู้จัก ว่ามีพระปัญญาระดับไหน? มีพระบริสุทธิ์ระดับไหน? มีพระมหากรุณาคุณระดับไหน? ใน ๔๕ พรรษา..."

ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นความลึกซึ้งของธรรมะ แล้วก็เห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะไม่เข้าใจผิด ในการเป็นผู้ "เผิน" ในการที่จะฟังแล้ว หลงทำร้ายพระธรรม.....โดยความเข้าใจผิดของตนเอง ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมผิด พระธรรมจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ไหม? ไม่ได้เลย เปลี่ยนแปลงจากการที่ได้ทรงแสดงไว้ เป็นความเห็น ความคิด ของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการทำอันตรายต่อพระธรรม ที่จะทำให้พระธรรม อันตรธาน สูญไปจากความเข้าใจ...

เพราะฉะนั้น คนที่ได้สะสมกุศลในชาติแต่ปางก่อน มีโอกาส ที่จะได้ฟังพระธรรม แต่ว่า ขึ้นอยู่กับศรัทธา และ การสะสม ว่ามีการเห็นคุณค่า ของสิ่งที่ได้ฟัง มาก น้อย แค่ไหน? แล้วก็มีจิตที่ ผ่องใส มั่นคง "ตรง" ต่อพระธรรม เป็น "สัจจะ" ความจริงใจ ที่จะ "ฟัง" เพื่อ "เข้าใจ" สิ่งที่กำลัง "ฟัง" เพื่อ ละคลายความไม่รู้ และ ความไม่เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่อลาภ ไม่ใช่เพื่อยศ ไม่ใช่เพื่อสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออย่างหนึ่งอย่างใด แต่....เพื่อเข้าใจความจริง

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ศึกษาด้วยความเคารพจริงๆ แม้ว่าจะเป็นคำเพียงไม่กี่คำ "รู้น้อย" แต่ "รู้จริง" ดีกว่า มีคำเยอะ ตำรับตำรามากมาย แต่...ไม่ได้ "เข้าใจ"....เลย...

"...บุคคลผู้ทำกรรมไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนว่าท่านทำกรรมไม่ควรแล้ว จะโกรธโดยส่วนเดียวก็ตาม หรือไม่โกรธก็ตาม อีกอย่างหนึ่งเขาจะเขี่ยทิ้งเหมือนกำแกลบหว่านทิ้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่มี..."

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดกเล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ 329 คันธารชาดก

"...ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น..."

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 150

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ups
วันที่ 7 ธ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ขอบพระคุณ คุณวันชัย และขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pat_jesty
วันที่ 7 ธ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และผู้แบ่งปันบรรยากาศอันน่าชื่นชมให้ชื่นใจกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

ด้วยความเมตตาของท่านอาจารย์ ในการเห็นประโยชน์ของผู้ฟัง ที่จะได้รับโอกาสอันจะเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ในสังสารวัฏฏ์ของแต่ละบุคคล

ที่จะได้รับฟังสิ่งที่มีค่ายิ่งโดยการได้รับฟังความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ

แม้เพียง "ครั้งหนึ่ง"

...กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์และอาจารย์วิทยากรค่ะ...

ขอขอบพระคุณคุณวันชัย และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kanchana.c
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาและขอบคุณคุณวันชัยอย่างยิ่ง ที่ทำให้ผู้ไม่ได้ร่วมฟังในวันนั้น ได้เห็นทั้งภาพ และได้รู้ทั้งเรื่อง แม้จะไปเอง ก็อาจจะไม่ได้เห็นและรู้เรื่องขนาดนี้ก็ได้ ขอให้กุศลที่เพียรกระทำนี้เป็นปัจจัยให้เจริญรุ่งเรืองในคำสอนของพระพุทธศาสนา เทอญ (คือ เข้าใจมากยิ่งขึ้นๆ จนถึงที่สุดทุกข์ค่ะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สุภาพร
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
aurasa
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

กราบอนุโมทนากับท่านอาจารย์ และวิทยากร ตลอดทั้งคุณวันชัย ที่ได้นำธรรมะบางส่วนมาเผยแพร่ ค่ะ ขอบพระคุณยิ่ง และจะช่วยขยายธรรมะนี้ออกไปใ้ห้ผู้สนใจได้อ่านได้เข้าใจ ยิ่งๆ ขึ้นนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paew_int
วันที่ 8 ธ.ค. 2553
...ดีจัง.. ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chaiyut
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

เป็นบุญของท่านทั้งหลายแล้วหนอ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัยและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 ธ.ค. 2553

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
h_peijen
วันที่ 9 ธ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pannipa.v
วันที่ 9 ธ.ค. 2553

ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนาจะฟังพระสัทธรรมกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นชื่อว่า "ผู้มีศรัทธา"

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และวิทยากรทุกท่านขออนุโมทนาในกุศลวิริยะ และกุศลศรัทธาของ คุณวันชัย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
aditap
วันที่ 9 ธ.ค. 2553
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 ธ.ค. 2553

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 13 ธ.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
wirat.k
วันที่ 13 ธ.ค. 2553
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 16 ธ.ค. 2553
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 27 ธ.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ