ไตรลักษณ์ - อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 
pirmsombat
วันที่  7 ธ.ค. 2553
หมายเลข  17592
อ่าน  2,912

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

คุณยุพา จากการสนทนาธรรมกันเสาร์ที่แล้ว ก็มีข้อสงสัยอยู่ อนิจจัง กับ ทุกขังลักษณะต่างกันอย่างไรคะ

ท่านอาจารย์ คำว่า ไตรลักษณ์ หมายความถึง ลักษณะทั้ง ๓ ไม่ใช่เพียงลักษณะเดียว จึงใช้คำว่า ไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นคำว่า อนิจจัง คือสภาพที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้ว ดับไป คำว่า เป็นทุกข์ และคำว่า อนัตตา ไม่ได้แยกกันเลย เป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับ ลักษณะที่เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยงนั่นแหละเป็น ทุกข์

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แยกลักษณะที่เป็นทุกข์ต่างหากจากสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สภาพธรรมนั้นเองเป็นทุกข์ แล้วสภาพธรรมที่เกิดดับจึงเป็นทุกข์นั่นแหละ เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้ง สภาพธรรมที่เกิดว่าไม่ให้ดับไปได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะทั้ง ๓ ไม่แยกจากกันเลยจึงชื่อว่าไตรลักษณ์ เมื่อเกิดแล้วดับ จึงเป็น ทุกข์ จึงเป็น อนัตตา

ไม่ใช่ว่า ลักษณะนี้เกิดดับแล้ว ลักษณะ อื่นเป็นทุกข์ แล้วอีกลักษณะหนึ่งเป็นอนัตตา แต่ สภาพธรรมที่เกิดนั้นเอง ดับ ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ และ เป็น อนัตตา ไม่ทราบว่ายังมีข้อสงสัยอื่นอีกหรือเปล่าคะ

คุณอดิศักดิ์ คำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง คำว่า ทุกขัง แปลว่า ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ลักษณะ มันก็เหมือนกัน ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจได้ชัดแจ้ง ขอให้อาจารย์อธิบายให้ละเอียดหน่อย

ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้น ควรจะเป็นลักษณะที่พึงเห็น หรือควรเห็นว่าเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้เศร้าโศก แต่หมายความว่า ไม่ควรเป็นที่เพลิดเพลินยินดี ตรงกันข้ามกับลักษณะที่น่าเพลิดเพลินยินดี

เพราะฉะนั้น อรรถ หรือ ความหมายอีกอย่างหนึ่งของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ก็คือ ตรงกันข้ามกับเป็นสุข เพราะว่าถ้าสภาพธรรมใดเป็นสุข ก็เป็นที่ยินดีพอใจ แต่ทำอย่างไรจึงจะคลายความเพลิดเพลินยินดีได้ ถ้ายังคงเห็นลักษณะนั้นน่าพอใจ ถ้ายังคงเป็นลักษณะที่น่าพอใจอยู่ ก็จะติดและจะเพลินอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นว่า ลักษณะนั้นไม่น่าพอใจเลย ไม่ควรจะเป็นที่ติด ที่ยินดี เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นตรงกันข้ามกับสุข

นี่คือความหมายของคำว่า "ทุกข์" ไม่ใช่ ให้เจ็บปวดให้ทรมาน หรือไม่ใช่ให้เศร้าโศกเสียใจ แต่เห็นว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรติด หรือว่า ควร ยินดี ควรเพลิดเพลินอีกต่อไป ทั้งๆ ที่สภาพธรรมในขณะนี้ ทุกคนก็เห็นว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไปจริงๆ อย่างเสียง เป็นต้น ปรากฏนิดเดียวชั่วขณะหนึ่งแล้วก็หมดไป แล้วทำไมไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ คือ ยังไม่ยอมเห็นว่าเป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าจะติด ไม่น่าที่จะยินดีเพลิดเพลิน ต้องการ

เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เป็น "ทุกขลักษณะ" ซึ่งเป็นไตรลักษณ์เป็นสภาพที่เห็นยาก ไม่ใช่ว่าจะเห็นง่ายเพราะว่าจะต้องประจักษ์ถึงความเกิดขึ้นและดับไป จึงสามารถจะเห็นว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เป็นทุกข์ เพราะไม่ควรพลิดเพลินยินดีทั้งนั้น ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังคงพอใจอยู่แน่นอน เพราะว่าสภาพธรรมใดดับไปแล้วสภาพธรรมอิ่นก็เกิดสืบต่อทันที ทำให้ไม่ประจักษ์ในการดับไปของสภาพธรรมก่อนเพราะว่ามีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นสืบเนื่องทันที ดูไม่น่าประหวั่นพรั่นพรึงเลยใช่ไหมคะ พราะว่าไม่น่าประจักษ์การขาดตอนของของการดับไป และการเกิดขึ้นของสภาพธรรมแต่ละขณะ

คุณอดิศักดิ์ เมื่อไม่อยู่ในสภาพเดิมก็แปลว่าไม่เที่ยง มันก็น่าจะเหมือนกัน

ท่านอาจารย์ พอไหมล่ะคะ ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง แต่ไม่เที่ยงแล้วไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นควรเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้น คือ เป็นสภาพที่ไม่ควรยินดี คำว่า ทุกข์ ที่นี่ หมายความถึงสภาพที่ไม่ควรยินดี ตรงกันข้ามกับสุข ถ้าบอกว่า ไม่เที่ยง ก็ไม่มีการ สลด ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยง เพราะว่าไม่ประจักษ์ว่า ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ จึงต้องทรงแสดงทั้ง ๓ ของสภาพธรรมที่เกิด ว่าสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับแล้วนั้น เป็นทุกข์ด้วยไม่เพียงแต่ไม่เที่ยงเฉยๆ ไม่ควรเป็นที่ยินดี เพลิดเพลินหรือพอใจ แต่จะต้องประจักษ์ ลักษณะที่เกิดดับจริงๆ จึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร เป็นทุกข์โดยที่ว่าไม่น่ายินดี พอใจ ในสภาพที่เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง จะให้แต่แสดงลักษณะที่ไม่เที่ยง และไม่ให้แสดงว่า ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ด้วยหรือ ไม่จำเป็นหรือคะ ซึ่งความจริงแล้ว จำเป็นมาก เพราะว่า ที่จะรู้ว่าไม่เที่ยง ต้องเห็นว่าเป็น ทุกข์ด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chaiyut
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

ฟังแล้วอ่านอีก อ่านแล้วฟังอีก ธรรมนี้ลึกซึ้งมากขอขอบพระคุณและขออนุโมโทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 8 ธ.ค. 2553

ผมดีใจมากที่คุณ chaiyut มีความเห็นเช่นเดียวกับผม

ขอบคุณและอนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 9 ธ.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 10 ธ.ค. 2553

# "..ลักษณะทั้ง ๓ ไม่แยกจากกันเลย จึงชื่อว่าไตรลักษณ์ เมื่อเกิดแล้วดับ จึงเป็น ทุกข์ จึงเป็น อนัตตา.."

# ''..ทุกข์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้เศร้าโศก แต่หมายความว่า ไม่ควรเป็นที่ เพลิดเพลินยินดี..

# ..แต่จะต้องประจักษ์ ลักษณะที่เกิดดับจริงๆ จึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร เป็นทุกข์โดยที่ว่า ไม่น่ายินดีพอใจในสภาพที่เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง.."

ขอบพระคุณมาก และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ