สันโดษ?
ได้ฟังเรื่อง มงคลสูตร เมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อน ครุ่นคิดถึงเรื่องสันโดษ ซึ่งเป็นมงคลประการหนึ่งมาหลายวัน จึงรู้ว่า ธรรมนั้นลึกซึ้งจริงๆ ยากที่จะเข้าใจ แม้ท่านผู้รู้ระดับต่างๆ จะแสดงไว้แล้วโดยละเอียดก็ตาม ก็ยังเข้าใจผิด
เดิมเข้าใจว่า ตนเองเป็นคนสันโดษ เพราะไม่ค่อยอยากจะได้อะไร พอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ ตามกำลัง ตามสมควร (ชอบคิดว่าตนเองมีคุณสมบัติดีๆ อย่างนี้เสมอ) แต่เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์ อธิบายเรื่องสันโดษแล้ว ก็รู้ว่าเข้าใจผิด (ก็ต้องมีเรื่องเข้าใจผิดมาเล่าเรื่อยๆ เพราะยังไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง)
เท่าที่จำได้ (ต้องออกตัวไว้ก่อน เพราะเมื่อยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ก็ยังเข้าใจผิดอยู่เสมอท่านผู้รู้ช่วยกรุณาแก้ไขให้ด้วยค่ะ) ท่านอาจารย์อธิบายว่า สันโดษนั้น เป็นความพอใจที่เป็นสมโลภะ เป็นความพอใจ หรือโลภะที่มีกำลังอ่อน ไม่ถึงกับให้ทำอกุศล เพราะพอใจตามมี ตามได้ ตามกำลัง ตามสมควร ซึ่งถ้าเป็นได้อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้ว่าเป็นมงคล และทรงแสดงไว้ว่า สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
เมื่อเรียนถามท่านอาจารย์ ในระหว่างรับประทานอาหารว่า สันโดษนั้น หมายถึงอะไรแน่ท่านก็ยกตัวอย่างให้เห็นว่า อย่างรับประทานอาหารจานนี้ ก็พอใจในอาหารจานนี้ ไม่ไปพอใจในอาหารจานอื่น เข้าใจแล้วว่า ใช่เลย สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นต้องดูทีละขณะจิต ไม่ใช่เป็นเรื่องยาวๆ ในชีวิตว่า ตั้งแต่เกิดมาดิฉันไม่ชอบขวนขวายหาสิ่งใหม่ๆ ได้อะไรก็พอใจอย่างนั้น (อาจจะขี้เกียจ) ก็เลยคิดว่าตนเองสันโดษ แต่นั่นเป็นความคิดนึก ไม่ใช่สภาพของสันโดษในขณะที่เกิดขึ้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องอาหาร เท่าที่ผ่านมา (เป็นเรื่องราวอีกเช่นเคย) ไปสั่งอาหารอย่างหนึ่ง ถ้าเพื่อนสั่งอีกอย่างที่ไม่เหมือนกัน ก็อยากรับประทานของเพื่อนเสมอ บางครั้งต้องขอชิมหน่อย เพราะหน้าตาดีกว่าที่เราสั่งมา เมื่อคิดดูให้ละเอียด ไม่ว่าอะไรก็ตาม มักไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี ตนได้เลย อย่างใส่เสื้อผ้าชุดหนึ่ง เมื่อออกจากบ้าน ก็ไม่พอใจ คิดว่าน่าจะใส่ชุดอื่นจะได้สวยกว่านี้ (แก่แค่ไหนก็ยังอยากสวย)
ความจริงถ้าเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ได้นำมากล่าวพร่ำสอนบ่อยๆ เนืองๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และสภาพธรรมแต่ละอย่างก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที ไม่กลับมาเกิดซ้ำอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ จึงไม่เลือกสภาพธรรม ที่ตนเองพอใจให้เกิดอย่างเดียวเท่านั้น หรือไม่อยากให้สภาพธรรมที่ไม่พอใจเกิดขึ้น เพราะเลือกไม่ได้ เมื่อเหตุปัจจัย เหมาะสมสภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น อย่างเวลานี้เกิดทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็ไม่อยากจะให้เกิดขึ้น หรือเกิดแล้วก็อยากให้ดับเร็วๆ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพธรรมแต่ละอย่างมีอายุเท่าๆ กัน เพียงแต่สิ่งที่ติดข้องพอใจ เช่น ความสุขนั้น ดูเหมือนดับไปเร็วราวสายฟ้าแลบ แต่ความทุกข์ทรมาน ที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเลย ดูเหมือนจะปรากฏเนิ่นนาน จนทนไม่ไหว
ถ้าเชื่ออย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่เลือกสภาพธรรม ให้เกิดตามความพอใจ เพราะรู้ว่าเลือกไม่ได้ และก็จะเพียรระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏ เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็จะดับไป และไม่กลับมาเกิดซ้ำอีกเลย คิดเองสรุปเองว่า สันโดษก็คือการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้นก็เป็นฐาน ให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ทั้งนั้น ดังนั้นที่คิดว่าตัวเองเป็นคนสันโดษนั้น จึงไม่เป็นความจริงเลย เพียงแต่อยากเป็นเท่านั้น (ก็ไม่สันโดษในคุณสมบัติที่ตนมีอยู่ในขณะนี้ อยากจะได้คุณสมบัติที่ยังไม่เกิดในตนอีก)
จะเห็นได้ว่าแม้แต่สันโดษ ก็ยังเกิดยาก เพราะไม่ได้พอใจในสิ่งที่ตนมี ตนได้ ตนเป็นจึงไม่ต้องพูดถึงการดับโลภะ ไม่ให้เกิดอีกเลยนั้น ว่าจะยิ่งยากกว่านี้มากมายแค่ไหน
ขอบพระคุณครับ และขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยครับ
ธรรม เป็นเรื่องละเอียดลึกซื้ง ถ้าไม่ฟังในสิ่งที่ควรฟัง ไม่ได้พิจารณา ก็เป็นเรื่องที่ยาก และเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก คือไม่ได้ฟัง ธรรม ที่ตรงกับความเป็นจริง ก็ยังติดข้องในสังสารวัฏฏ์ อีกยาวนาน ขณะที่ฟ้งก็เข้าใจ แต่ไม่ได้ฟังก็ แล่นไปสู่อารมณ์ (ผมเอง) เบื่อเหลือเกินการเกิด
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดงมากครับที่ทำให้เข้าใจคำว่า "สันโดษ" มากขึ้น