อาลัย
อาลัย ในสังคมไทยเราใช้คำว่า อาลัย ในความหมายที่แตกต่างจากทางพุทธศาสนาพอสมควร แต่ก็มีเค้าในเรื่องของความหมายอยู่บ้าง ซึ่งจะต้องพิจารณา ความหมายทางไทยๆ หมายถึง เมื่อมีคนที่เรารักต้องมาตายจากกัน ก็จะมีการไว้อาลัย หรือมีความอาลัยถึงบุคคลที่เรารัก ซึ่งเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว จะเข้าใจความลึกซึ้งของคำนี้ยิ่งขึ้น และตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม
อาลัย มีความหมาย ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม หมายความถึงสิ่งที่น่าติดข้อง น่าพอใจ และกิเลสกาม หมายถึง ความติดข้อง ความพอใจ ซึ่งก็คือ โลภเจตสิกทั้งหมดนี้ ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นส่วนมาก
ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม่ต้องคำนึงถึงชื่อ แต่เข้าใจลักษณะสภาพธรรม เข้าใจความเป็นธรรมะ จะเข้าใจธรรมะจริงๆ นั้นก็ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ผู้ศึกษามักจะถามว่า คำนี้หมายถึงอะไร เช่น อาลัย มีหมายความว่าอย่างไร สัมมัปธานหมายความว่าอย่างไร ท่านอาจารย์ก็จะอธิบายว่า ก็ยังเป็นเราที่อยากรู้ชื่อ และเรื่องราวของธรรมะ ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักตัวธรรมะ ไม่ต้องคำนึงถึงชื่อ เช่น เห็น ขณะนี้มีจริง สิ่งที่ปรากฏกับเห็น ก็มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อว่า เห็น และ รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏกับจิตเห็น สิ่งนั้นๆ ก็มีจริงๆ เริ่มเข้าใจลักษณะสภาพธรรมทีละอย่าง เมื่อเข้าถึงลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ทีละอย่าง ก็จะเข้าถึงคำว่าอาลัย โดยไม่ต้องเรียกชื่อ เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเข้าถึงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เราเลยที่จะไปทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นได้
การศึกษาธรรมะ ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ชื่อ ที่คำ แต่เข้าใจลักษณะจริงๆ ของธรรม ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ควรที่จะศึกษาทีละคำให้เข้าใจตัวลักษณะสภาพธรรมจริงๆ [การศึกษาพยัญชนะ นั้น ส่องให้เห็นถึงตัวสภาพธรรม จึงจะได้ประโยชน์จริงๆ ]
เพราะฉะนั้น อาลัย ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นขณะนี้ กล่าวคือ ขณะที่มีความยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็มีความอาลัยแล้วในขณะนั้น ไม่ยอมสละซึ่งความอาลัย
ขอนำเพียงส่วนหนึ่งของอายาจนสูตร มาให้ศึกษาถึงคำว่า อาลัย
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๕ - หน้าที่ ๑๑๑ - ๑๒๖
อายาจนสูตร
ว่าด้วยพรหมอาราธนาให้แสดงธรรม
[๕๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า แรกทรงตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร) แถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าที่ลับ ทรงพักผ่อนอยู่ อย่างนี้ว่า ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาคคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็หมู่สัตว์นี้แล ยังยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้นนี้ เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัยเบิกบานแล้วในอาลัย จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็เห็นได้ยาก ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม แต่ชนเหล่าอื่น จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความลำบากของเรา
และ ผู้ที่ได้ชื่อว่า อนาลโย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีความอาลัยอีกเลย คือ ท่านพระอรหันต์
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
การศึกษาธรรมที่ละเอียด เป็นสิ่งที่เข้าใจยากจริงๆ ต้องฟังและอ่านหลายครั้ง ต้องขอขอบพระคุณคุณเมตตา ที่นำธรรมที่บรรยายในวันนั้นมาสรุปทบทวนได้รวดเร็วดีจริงขออนุโมทนาค่ะ
ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้นนี้ เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็เห็นได้ยาก คำถาม ฐานะที่พึงเห็นได้ยาก มี ๒ ฐานะ ดังกล่าวข้างต้น คืออะไรครับคุณเมตตา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียน ความคิดเห็นที่ 9
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้นั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นถึงจะรู้ตามความเป็นจริงได้ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น คือ สัจจะทั้ง ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค พระอริยสาวกทั้งหลายที่ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ตรัสรู้สัจจะทั้ง ๔ นี้เช่นเดียวกัน
จากประเด็นคำถาม ที่ว่า ฐานะ ๒ (ตามข้อความในอายาจนสูตร) นั้น คือ อะไร
ฐานะที่ ๑ คือปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ได้แก่ จิต เจตสิก และ รูป (ขณะนี้ เป็นปฏิจจสมุปบาท)
ฐานะที่ ๒ คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่สำรอกหรือดับราคะ เป็นที่สิ้นตัณหา ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพานได้ ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ฐานะทั้ง ๒ นั้นได้แก่ ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และ พระนิพพาน ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สภาพธรรมไม่ใช่เรา แล้วเป็นใครครับ ทำไมวุ่นวายกับใครต่อใครไปทั่ว ไม่มีใครกำราบเสียที สภาพธรรมเห็นได้ยากไหมครับ สภาพธรรมเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น หรือ สภาพธรรมเป็นธรรมที่เกิด-ดับ หรือ สภาพธรรมเป็นธรรมที่ดับ หรือ สภาพธรรมเป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียน ความคิดเห็นที่ 12
ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด และที่กล่าวว่า สภาพธรรม ไม่ใช่เรา นี้ถูกต้องเพราะเป็นเพียงธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น เช่น เห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เราที่เห็น ได้ยินเป็นธรรม ไม่ใช่เราที่ได้ยิน ขณะเป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงมีการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นคนนั้น คนนี้
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สภาพธรรม ไม่ใช่เรา เพราะเป็นเพียงธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น จริงๆ หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในสภาพธรรม ไม่ได้เลย ธรรม มีทั้งที่เป็นธรรมที่เกิดดับ คือ จิต เจตสิก และ รูป และ นอกจากนั้นยังมีสภาพธรรมที่ไม่เกิด ไม่ดับ คือ พระนิพพาน ด้วย
ธรรมทั้งหมด ละเอียด ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก แต่ ไม่เหลือวิสัย เพราะเหตุว่าผู้ที่ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น มี อย่างเช่น พระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่สูญหายไปไหน และไม่ไร้ผล ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น และคุณชีวิตคือขณะจิตด้วยค่ะ
ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า การฟังพระธรรมนั้นไม่ว่าจะฟังในส่วนที่เป็นพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม ให้มีความเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นธรรมะ และธรรมะก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทางตา ทางหู ... และทางใจ เมื่อสะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ แม้จะเป็นธรรมที่เห็นได้ยาก สักวันหนึ่งย่อมรู้เห็นตามความจริงนั้นได้
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...
เรียนคุณ sudaprasert
คุณชีวิตคือขณะจิต ก็คือ คุณเจ้าของความคิดเห็นที่ 9, 11, 12 และ 14 ค่ะ
คุณเมตตาเคยตอบคำถามที่เป็นประโยชน์กับผมว่ารูปเกิดทางมโนทวาร ผมสงสัยว่ารูปทางปัญจทวารต่างกับรูปทางปัญจทวารอย่างไร ครูโอตอบว่าเหมือนเงานกบนต้นไม้ ผมถามต่อว่าเป็นรูปทางปัญจทวารที่ดับไปแล้ว หรือ ก็รูปที่ดับไปแล้วนั้นจะปรากฎได้อย่างไร รูปทางมโนทวารคืออย่างไรครับ
แต่ผมเชื่อ โดยไม่สงสัยรูปทางมโนทวารอีก คุณเมตตาสนทนาอะไร ผมจึงสนใจ และสนทนาด้วยครับ สวัสดีครับคุณ sudaprasert คำของท่านผู้เจริญกล่าวว่าเรามักสนใจ แต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเห็นได้ยาก เราไม่ค่อยสนใจการเปลี่ยนไปของขณะจิตที่เกิดดับเร็วมาก คำนี้ทำให้ผมสดุดใจ ผมจึงนำมาเป็นพยัญชนะในการสนทนา สื่อความหมายว่าชีวิตมีอยู่หรือ เมื่อขณะจิตเกิดดับสืบต่อกัน จิตดวงเก่าให้ปัจจัยจิตดวงใหม่แล้วดับไป ร่างกายก็มีแต่ชราลง และจะมรณะไป เราก็ยังอาลัยติดข้องตามที่คุณเมตตาสนทนานั่นแหละ
ผมเห็นว่าพระสูตรที่คุณเมตตานำมากล่าวมีประเด็นของความอาลัย ๒ ฐานะ จึงถามคุณเมตตาอีกเหมือนที่เคยถาม ซึ่งคุณ คำปั่นตอบแล้ว ปัจจยาการคือฐานะ นิพพานคือฐานะ ผมเกิดความปิติ จึงกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา
"เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลินบ่นถึงติดใจเวทนานั้น ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ"