ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่บ้านธัมมะ เชียงใหม่ ๑๓ ม.ค. ๒๕๕๔ ตอนที่ ๑ โดยคุณวันชัย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ม.ค. 2554
หมายเลข  17761
อ่าน  1,206

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

(ภาพโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธองค์ บนชั้นสามของบ้านธัมมะ เชียงใหม่)

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 78

๔. พหุการสูตร

ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก ๓ จำพวก

[๔๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้คือใคร คือ บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงได้ถึงพระพุทธเจ้า ... พระธรรม ... พระสงฆ์เป็นสรณะบุคคล (อาจารย์) นี้ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

อนึ่งอีก ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงรู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่เหตุเกิดทุกข์ ... นี่ความดับทุกข์ ... นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ บุคคล (อาจารย์) นี่ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

อนึ่ง อีก ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงกระทำให้แจ้งเข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะ สิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันนี่ บุคคล (อาจารย์) นี่เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าบุคคลอื่นจะมีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้ ยิ่งกว่าบุคคล ๓ นี่ไม่มี อนึ่ง เรากล่าวว่า บุคคล (ศิษย์) นี้ จะทำการสนองคุณแก่บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ไม่ได้ง่ายเลย แต่เพียงด้วยการกราบ ลุกรับ ทำอัญชลี สามีจิกรรม และคอยให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้

จบ พหุการสูตรที่ ๔

ปวงเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้กราบขอโอกาสจากท่านอาจารย์ เพื่อร่วมกันแสดงมุทิตาจิต เป็นอาจาริยบูชา แด่ท่าน เนื่องในโอกาสวันแห่งการครบรอบอายุ ๗ รอบ ปีนักษัตร อันเป็นสมมติบัญญัติชาวโลก ในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

นอกเหนือไปจากการเป็นศิษย์ที่ดีด้วยการเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพื่อเป็นการบูชาท่านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว ยังกราบขอโอกาสท่านเพื่อที่จะบูชาท่านด้วยการแสดงออกต่างๆ จากใจของทุกคน ด้วยความนอบน้อมปีติยินดี แม้ว่าการแสดงออกบางอย่าง อาจดูเป็นการไม่สำรวมอยู่บ้างด้วยความเป็นปุถุชน แต่ก็เป็นไปด้วยความเข้าใจในธรรม แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการรื่นเริง แต่ทว่าเป็นการร่าเริงด้วยธรรม เนื้อหาแห่งถ้อยคำ ในคำร้อง และร้อยกรอง ในบทกวีต่างๆ นั้น เต็มไปด้วยถ้อยธรรม ที่กลั่นมาจากใจของทุกๆ ท่าน เพื่อกราบกรานนอบน้อมคารวะ ท่านผู้มีนามสมมติบัญญัติในชาตินี้ว่า ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความสำนึกในพระคุณ ด้วยกุศลจิตโดยแท้

วาระแห่งการแสดงความนอบน้อม กตเวทิตาคุณ นั้นได้ผ่านไปแล้ว หมดไปไม่กลับมาอีก ข้าพเจ้าจึงทำได้เพียงการถ่ายทอด บางเหตุการณ์ บางตอน จากความทรงจำอันน้อย เพื่ออาจยังประโยชน์ ในอนุโมทนามัยของท่าน ตามสมควรแก่เหตุแลปัจจัย นะครับ อนึ่ง เนื่องจากในวันนี้ มีภาพถ่ายที่ประทับใจข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก จึงใคร่ขอนำเสนอท่านเป็นตอนๆ รวมทั้งหมด ๔ ตอนด้วยกัน นะครับ โดยตอนแรกนี้ ข้าพเจ้าขอใช้ชื่อตอนว่า "ตื่นแต่เช้า เพื่อเจริญกุศล"

วันแห่งความปีตินั้น เริ่มขึ้นตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ บนชั้นสี่ ของโรงแรมแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ คุณย่าสงวน สุจริตกุล สหายธรรมรุ่นแรกๆ ของท่านอาจารย์ ในวัย ๙๕ ปี ตื่นนอนแต่เช้ามืด อาบน้ำแต่งตัว บรรจงสวมเสื้อสีส้ม อันเป็นสีของวันเกิดท่านอาจารย์ คือ วันพฤหัสบดี ซึ่งท่านเองก็เกิดวัน (พฤหัสบดี) นี้ด้วยเช่นกัน ในมือของท่าน ถือตุ๊กตาหมีตัวน้อย มานั่งรอท่านอาจารย์ ที่หน้าห้องพักพร้อมๆ กับคุณลุงนิภัทร ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ของท่าน ที่จะกล่าวคำมุทิตาจิตแด่ท่านอาจารย์ ซึ่งท่านให้ความเคารพเป็นที่ยิ่งนั้น เป็นคนแรก ในวันอันสำคัญนี้

"...กราบเท้าท่านอาจารย์

ผ่านเสียง คำกล่าวหวานใส

ด้วยรัก จากใจหญิงชาย

ที่ไม่ห่างหายจากการฟังธรรม

สุดแสนซาบซึ้ง นึกถึงพระคุณประจำ

ท่านอาจารย์ได้พยายาม

เกื้อกูลทางธรรม ด้วยใจเมตตา..."

(ประพันธ์คำร้องโดย คุณคำปั่น อักษรวิลัย)

"...ห้าสิบกว่าปี ที่อุทิศทั้งกายและใจ

ไม่ว่าอยู่หนแห่งใด

มุ่งทำประโยชน์ไป

ไม่เคยเหนื่อยล้า ที่ทำอย่างนี้

ไม่หวังสิ่งใดตามมา

นอกจาก หนึ่งเดียวคือว่า

ผู้ฟังนั้นเกิดปัญญา..."

...จวบถึงวันนี้ ท่านอาจารย์ก็ยังพร่ำสอน

พระธรรมทุกบททุกตอน ก่อนหลับตานอน คิดถึงคุณค่า

จะอยู่ที่ไหน จดจำใส่ใจตลอดเวลา

สิ่งที่มีค่านั่นหนา ปัญญายิ่งกว่าสิ่งใด...

...กราบเท้าท่านอาจารย์ บูชาพระคุณอีกครั้ง

สิ่งที่ลูกศิษย์มุ่งหวัง ให้ท่านเป็นดังร่มโพธิ์ร่มไทร

อายุยืนนาน แข็งแรง ตลอดไป

ชีวิตก้าวเดินต่อไป ปลูกความรู้ไว้ ในใจทุกคน..."

(ประพันธ์คำร้องโดย คุณคำปั่น อักษรวิลัย)


อนึ่ง เรากล่าวว่า บุคคล (ศิษย์) นี้ จะทำการสนองคุณแก่บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ไม่ได้ง่ายเลย แต่เพียงด้วยการกราบ ลุกรับ ทำอัญชลี สามีจิกรรม และคอยให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้ ความบางตอนจาก...

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 78


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมากเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สังฆสามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข

...กราบเท้าท่านอาจารย์ บูชาพระคุณอีกครั้ง

สิ่งที่ลูกศิษย์มุ่งหวัง ให้ท่านเป็นดังร่มโพธิ์ร่มไทร

อายุยืนนาน แข็งแรง ตลอดไป

ชีวิตก้าวเดินต่อไป ปลูกความรู้ไว้ ในใจทุกคน..."


กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของท่านอาจารย์

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

พบกับตอนหน้า "ผู้คนแวดล้อม" นะครับ

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่บ้านธัมมะ เชียงใหม่ ๑๓ ม.ค. ๒๕๕๔ (ตอนที่ ๒ โดยคุณวันชัย)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 20 ธ.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ