ให้พิจารณาตนเองวันละ ๓ ครั้ง (๓)
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ท่านอาจารย์ นี่สำหรับปกติของผู้ที่ว่ายากและมีกิเลสมาก แต่สำหรับท่านที่เป็นผู้เข้าใจหนทางข้อประพฤติปฏิบัติแล้ว จะสังเกตได้ว่า ไม่ต้องรออย่างนี้ใช่ไหมคะ ขณะใดที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าอกุศลประเภทใดจะเกิด สติก็สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ทันที นั่นก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งเข้าใจหนทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ศึกษาลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็พิจารณาตนเอง หลังจากที่ได้ฟังพระสูตรนั้นแล้ว ท่านพิจารณาบ้างหรือเปล่า หรือว่าวันละ ๓ ครั้ง หรือว่าเพียงวันละ ๒ ครั้ง หรือว่าหลายวันครั้งหนึ่ง แต่ถัาเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ต้องห่วง เพราะว่าท่านเข้าใจแล้วว่า ทันทีที่อกุศลจิตเกิด ไม่ต้องรอจนกระทั่งถึงเวลาที่จะพิจารณา แต่เมื่ออกุศลจิตเกิด สติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึก ได้ทันทีในขณะนั้นนั่นก็เป็นการเริ่มต้น เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าขณะนั้นจะไม่รู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพียงรู้ลักษณะของสภาพอกุศล ด้วยสติสัมปชัญญะในขณะนั้นตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะขั้นหนึ่ง
ตามข้อความในพระสูตรที่ว่า
หากพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีอกุศลแม้นั้นจริง ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณารู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ไม่มีอกุศลนั้นๆ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็คือศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินั่นเอง ก็แล้วแต่ว่าในวันหนึ่งๆ สติสัมปชัญญะขั้นใดจะเกิด ท่านเพียงระลึกว่า วันนั้นมีอกุศลอย่างนั้นๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว ระลึกได้ หรือว่าในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพใด สติก็ระลึกได้ทันที
มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหมคะ ความละเอียดของการพิจารณาสภาพธรรม สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต้องมีความละเอียดที่จะพิจารณารู้ว่าต้องการผล ของการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า เพราะว่ามีบางท่านซึ่งพยายามอย่างมาก เพียรอย่างมาก เพราะคิดว่าจะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเร็ว แต่ผลปรากฏก็คือว่า เหนื่อย ก็ต้องเลิก เพราะว่าไม่สามารถที่จะเร่งรัดผลของการเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติจริงๆ การที่จะรู้สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาก็คือ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดมีความหวัง มีความเพียร หรือมีความต้องการโดยรวดเร็ว จะทำให้กระทำอย่างอื่นด้วยความหวังผลนั้น
"ไม่สามารถที่จะเร่งรัดผลของการเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติจริงๆ "
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ
ขอบคุณ คุณ chaiyut มากและขออนุโมทนาครับ
คุณมีอะไรดีๆ เสมอเลย ผมชอบครับ
จะต้องมีความละเอียดที่จะพิจารณารู้ว่า ต้องการผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า เพราะว่ามีบางท่านซึ่งพยายามอย่างมาก เพียรอย่างมาก เพราะคิดว่าจะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเร็ว แต่ผลปรากฏก็คือว่า เหนื่อย ก็ต้องเลิก
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
"แต่เมื่ออกุศลจิตเกิด สติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึกได้ทันทีในขณะนั้น นั่นก็เป็นการเริ่มต้นเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพียงรู้ลักษณะของสภาพอกุศลด้วยสติสัมปชัญญะในขณะนั้นตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะขั้นหนึ่ง"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ