จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๑)
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ท่านอาจารย์ นี่คือสภาพของจิตที่วิปลาส
เพราะฉะนั้น เวลาที่สัญญาจำ จิตคิดเรื่องที่สัญญาวิปลาสจำ เป็นความวิปลาสมากกว่าสัญญา เพราะว่าสัญญาเพียงจำคลาดเคลื่อน ไม่ได้จำให้ตรงลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่เมื่อสัญญาวิปลาสแล้ว สภาพของจิตที่วิปลาสมีกำลังกว่าสัญญาวิปลาส เพราะว่า ปรุงแต่ง คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวตามที่สัญญาวิปลาสทั้งหมด ในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมากเหลือเกิน ไม่ว่าในขณะไหนก็ตาม ที่ไม่ใช่ขณะที่เป็นกุศล ที่กำลังฟังพระธรรม ที่กำลังเข้าใจพระธรรม ที่กำลังคิดเรื่องพระธรรม ในขณะที่เป็นอกุศลทั้งหมด ขณะนั้น ถ้าสติเกิด จะรู้ได้เลยค่ะ
ความวิปลาสของจิต ซึ่งเพราะ จำวิปลาสเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลย
สัญญาวิปลาส เป็นเหตุของจิตวิปลาสด้วย
สำหรับทิฏฐิวิปลาสนั้น เป็นความเห็นผิด เพราะลูบคลำสี่งที่ยึดถือ
นี่แสดงให้เห็นแล้วนะคะว่า เมื่อสัญญาวิปลาส คือ จำคลาดเคลื่อน ก็เป็นปัจจัยทำให้ทิฏฐิเกิดขึ้น โดยลูบคลำไม่ปล่อยในความคิดที่สัญญาจำคลาดเคลื่อน เป็นความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนมั่นคง ดุจการจับเหล็กด้วยคีมใหญ่ของช่างเหล็ก นี่คือลักษณะของทิฏฐิวิปลาส
เพราะฉะนั้นทิฏฐิวิปลาส ก็เอาออกไป เพราะว่าเข้าใจแล้ว สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ก็เข้าใจแล้ว ก็จะมีข้อข้องใจในเรื่องของขณะที่กุศลจิตเกิด ที่จะเป็น สัญญาวิปลาส หรือ จิตวิปลาส หรือเปล่า ใช่ไหมคะ เปลี่ยนเรื่องแล้วเป็นเรื่องเมื่อ อกุศลจิตเกิด สัญญาและจิต จะวิปลาสหรือเปล่า
แต่ก็ให้ทราบว่า ในขณะใดที่มีความเห็นถูก ไม่วิปลาส คือ ขณะที่เห็นในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม แม้เพียงเล็กน้อย
(ยังมีต่อ)