กิเลส 16 กับกิเลส 10 ต่างกันอย่างไรครับ?
กิเลสทั้งหลายเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต สัตว์โลกไม่รู้จักกิเลสตามความเป็นจริง จึงประสบทุกข์จากกิเลสเป็นอันมาก แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ให้ผู้ฟังเข้าใจถูกในกิเลสที่ตนมีโดยประการต่างๆ หลากหลาย วิจิตร เหมาะแก่อัธยาศัยของแต่ละบุคคลที่ฟังแล้วสามารถจะเห็นถูก เกิดปัญญาจนถึงขั้นรู้แจ้งแทงตลอดความจริงซึ่งเป็นอริยสัจจธรรม ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ตามบารมีที่ได้สะสมมานาน สมควรแก่การที่จะบรรลุความเป็นพระอริยสาวก บางครั้งทรงแสดงอุปกิเลส ๑๖ บางครั้งทรงแสดงกิเลส ๑๐ บางครั้งทรงแสดงกิเลส ๓ บางครั้งทรงแสดงไว้เพียงสั้นๆ เช่น ความประมาท เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ฟังเห็นความจริงของธรรมฝ่ายไม่ดี คือ กิเลสที่มี ที่ไม่เคยรู้ว่ามี และที่ปรากฏให้รู้ได้ว่ามีในชีวิตประจำวันในระดับที่แตกต่างกัน แม้ว่าโดยปรมัตถ์แล้ว จะเป็นกิเลสประเภทเดียวกันก็ตาม เช่น โทสะ เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี เป็นกิเลส แต่ก็มีหลายระดับมาก ในกิเลส ๑๐ ทรงแสดงว่า โทสะ เป็นกิเลส ที่ทำให้ธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยกับโทสะนั้นเศร้าหมองส่วนในอุปกิเลส ๑๖ ก็ทรงแสดงระดับของโทสะมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น พยาบาท [ปองร้ายเขา], โกธะ [โกรธ], อุปนาหะ [ผูกโกรธไว้] ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นโทสเจตสิกแต่ที่ทรงแสดงไว้หลายพยัญชนะ เพื่อให้ผู้ฟัง ฟังแล้วเกิดปัญญา เห็นถูกในกิเลสที่มีตามความเป็นจริง จนกว่าจะเห็นโทษของกิเลส และค่อยๆ ขัดเกลากิเลสที่มีได้ตามลำดับขั้นที่เจริญขึ้นของปัญญา โดยไม่มีอัตตาตัวตนของใครไปทำอะไรกับกิเลส แต่ปัญญาที่เห็นโทษของกิเลสมากขึ้นเท่านั้น ที่จะเป็นเหตุให้มีการเจริญกุศลทุกประการเพื่อการละคลายกิเลสที่มีในชีวิตประจำวัน ซึ่งกิเลสประการแรกที่ควรขัดเกลาจริงๆ ก็คือ ทิฏฐิกิเลส (กิเลสคือความเห็นผิด) ครับ
"... กิเลสประการแรกที่ควรขัดเกลาจริงๆ ก็คือ ทิฏฐิกิเลส (กิเลสคือความเห็นผิด) ครับ ..."
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ