อริยสัจจ์สี่
ดิฉันขอความกรุณา บ้านธัมมะ แสดงข้อความในพระไตรปิฎก ตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่อง อริยสัจจ์สี่ (โดยละเอียด) เพื่อการศึกษาและนำมาพิจารณาอย่างแยบคาย
ขอขอบพระคุณ ค่ะ
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 281
๔. สัจจวิภังค์
สุตตันตภาชนีย์
[๑๔๔] อริยสัจ ๔ คือ
๑. ทุกขอริยสัจ
๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ทุกขอริยสัจ
[๑๔๕] ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจ เป็นไฉน
ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โลกปริเทว ทุกข โทมนัสส อุปายาส ทุกข์อัปปีเยหิสัมปโยคทุกข์ ปีเยหิวิปปโยคทุกข์ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
[๑๔๖] ในทุกขอริยสัจนั้น ชาติ เป็นไฉน
ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งถึง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้เฉพาะอายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า ชาติ
ฯลฯ
[๑๕๗] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน
รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ สภาวธรรมนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 285
ทุกขสมุทยอริยสัจ
[๑๕๘ ] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นไฉน
ตัณหานี้ใด อันเป็นเหตุเกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
[๑๕๙] ก็ตัณหานี้นั้นแล เมื่อเกิด ย่อมเกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ไหน
ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิดก็เกิดที่จักขุนี้เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้ ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูป ในโลก จักขุ เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิดก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะ ฯลฯ ฆานะ ฯลฯ ชิวหา ฯลฯ กายะ ฯลฯ มโน เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิดก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้ ฯลฯ รูปวิจาร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิดก็เกิดที่รูปวิจารนี้เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิจารนี้ สัททวิจาร ฯลฯ คันธวิจาร ฯลฯ รสวิจาร ฯลฯ โผฏฐัพพวิจาร ฯลฯ ธัมมวิจาร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิดก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้ สภาวธรรมนี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.
ทุกขนิโรธอริยสัจ
[๑๖๐] ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นไฉน
ได้แก่ ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ ความปล่อยวาง ความส่งคืน ความพ้น ความไม่ติดอยู่ แห่งตัณหานั้นนั่นเทียว.
[๑๖๑] ก็ตัณหานี้นั้นแล เมื่อจะละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้ เมื่อจะละก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้เมื่อดับก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้ ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 290
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๑๖๒] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นไฉน
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
[๑๖๓] ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ.
[๑๖๔] สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ.
[๑๖๕] สัมมาวาจา เป็นไฉน ความงดเว้นจากการพูดเท็จ ความเว้นจากการพูดส่อเสียด ความงดเว้นจากการพูดหยาบ ความงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา.
[๑๖๖] สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน ความงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ความงดเว้นจากการลักทรัพย์ ความงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ.
[๑๖๗] สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน บุคคลผู้อริสาวกในศาสนานี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้วเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ.
[๑๖๘] สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในศาสนานี้ ทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อป้องกันอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด
ฯลฯ
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 291
เพื่อละอกุศลบาปธรรมที่เกิดแล้ว ฯลฯ เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดทำฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความดำรงอยู่ ความไม่สาบสูญ ความภิยโยยิ่ง ความไพบูลย์ ความเจริญ ความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ.
[๑๖๙] สัมมาสติ เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ ผู้ประกอบด้วยความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ ฯลฯ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นจิตในจิต เนืองๆ อยู่ ฯลฯ ผู้ประกอบด้วยความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก นี้เรียกว่า สัมมาสติ.
[๑๗๐] สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌานอันยังใจให้ผ่องใส เพราะวิตกวิจารสงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้นภายใน ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะคายปีติได้อีกด้วย จึงเป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน พึงเป็นฌานที่พระอริยทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิทในก่อน มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ สภาวธรรมนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิทาอริยสัจ.
สุตตันตภาชนีย์ จบ