ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณธวัชชัย (เขาใหญ่) ๙ ก.พ. ๕๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันที่ ๘-๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ คณะวิทยากร ได้รับเชิญจากคุณ ธวัชชัย ปิยอัจฉริยะ ให้ไปสนทนาธรรม
ที่บ้านพักตากอากาศของท่าน บริเวณเขาใหญ่ เป็นสถานที่ๆ สวยงามและมีบรรยากาศ
ดีมากครับ ข้าพเจ้ามีโอกาสไปร่วมฟังเพียงวันที่ ๙ เพียงวันเดียว ซึ่งการสนทนาวันนั้น
ภาคเช้ามีการสนทนาธรรมในบ้าน ที่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
และ ในภาคบ่าย เป็นการสนทนาธรรมในสวนหน้าบ้าน ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น
จึงขอโอกาสนำภาพและความบางตอนที่ท่านอาจารย์ได้สนทนามาฝากทุกท่านดังนี้ครับ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
คุณคำปั่น ครับ ก็จะขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ประเด็นแรกเลยนะครับ ในฐานะที่
พวกเราทุกคนก็เป็นคนไทย เกิดมาก็ พ่อแม่ก็นับถือพระพุทธศาสนา แล้วทีนี้ ถ้าหากว่า
จะกล่าวถึงว่า ผู้ที่เป็นชาวพุทธที่ดีนั้น ควรจะมีคุณลักษณะอย่างไรครับ ชาวพุทธที่ดีครับ
ท่านอาจารย์ ชาวพุทธคืออะไร? ก่อนค่ะ
คุณคำปั่น ครับ ชาวพุทธ ก็คือผู้ที่นับถือ หรือว่า มีความเคารพ ในพระธรรมคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ต้องเข้าใจธรรมะ ใช่ไม๊คะ?
คุณคำปั่น ครับ ขึ้นชื่อว่า ชาวพุทธ ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมะครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ คือรู้จักพระคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่รู้จักพระคุณ
ก็จะนับถือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ได้ยินแต่เพียงชื่อ นะคะ แล้วก็ได้รับคำบอกเล่ามาว่า
เป็นผู้ที่เลิศ ประเสริฐที่สุดในจักรวาล ก็มีความเข้าใจเพียงเท่านั้น แล้วก็กล่าวว่า ตนเอง
เป็นชาวพุทธ
แต่ว่า ชาวพุทธจริงๆ ก็หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่รู้จักคุณ ของผู้ที่ตนเคารพสูงสุด
คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งพระองค์มีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ
แล้วเรา รู้จักในพระคุณไหนของท่าน?
ถ้าไม่มีการฟังธรรมะเลยนะคะ ก็ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ได้เคารพ นับถือ สักการะ
ผู้ที่เรากล่าวว่า เรานับถือ โดยที่ยังไม่รู้จักพระคุณ
เพราะฉะนั้น การที่รู้จัก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นะคะ มีทางเดียว
คือ ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงชาวพุทธที่ดี เพียงแต่ ชาวพุทธ คือใคร?
คือ ผู้ที่ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวว่าเป็นชาวพุทธ แต่ถ้ามีใครถามคนที่เป็นชาวพุทธ นะคะ
ว่า พระพุทธศาสนา คืออะไร? แล้วก็ไม่รู้ อย่างนี้ คนอื่นเขาจะบอกว่า
เราเป็นชาวพุทธได้ไหม? ในเมื่อเราไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร?
ด้วยเหตุนี้ค่ะ ชาวพุทธจริงๆ ก็คือ ต้องเป็นผู้ที่ เข้าใจพระธรรม
โดยการศึกษา ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง นะคะ
เพราะเหตุว่า ผู้ที่ทรงแสดงพระธรรมเนี่ยค่ะ เป็นผู้ที่ตรัสรู้ความจริง
มีคำตอบสำหรับทุกอย่าง ซึ่งคนอื่น ไม่สามารถที่จะรู้ หรือเข้าใจได้ เราจึงได้เลื่อมใส
หรือเคารพ ในพระปัญญาคุณ ที่ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมะ ตามความเป็นจริง
เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น นะคะ แล้วธรรมะนี่ก็ ทั้งหมดทั้งปวงที่มีด้วย
ไม่ใช่ว่ารู้เพียงบางส่วน หรือบางสิ่ง
คุณคำปั่น ครับ การที่จะรู้ถึงพระคุณ ของพระองค์ ก็ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม
ฟังพระธรรม ซึ่งเป็นคำสอน ที่พระองค์ทรงแสดงนะครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ข้ามเลยสักคำเดียวนะคะ เช่น ศึกษาธรรมะ
แสดงอยู่แล้วนะคะว่า พระธรรมทั้งหมด ไม่ใช่สำหรับเพียงอ่าน หรือ ฟังเพียงครั้งเดียว
แล้วก็คิดว่า จะเข้าใจได้ แต่พระธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งค่ะ
กว่าพระองค์จะได้ทรงตรัสรู้ ก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานมาก ที่สามารถที่จะรู้ความจริง
ซึ่งเป็นความจริงที่สุดนะคะ ไม่มีความจริงอื่น ยิ่งกว่านั้น
แล้วก็ การบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็เพื่อที่จะแสดงพระธรรม ถ้าพระองค์ ไม่ทรงแสดงพระธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่า
แม้ "ธรรมะ" คืออะไร?
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเห็นพระปัญญาคุณ ที่ทรงบำเพ็ญมานะคะ เพื่อที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลก
ก็จะเห็นได้นะคะว่า " แต่ละคำ " ที่เปล่งจากพระโอษฐ์ มีความหมาย มีความลึกซึ้ง
มีความละเอียด ที่เราไม่สามารถจะคิดเองได้เลย
ต่อเมื่อใด ได้ศึกษาธรรมะ นะคะ โดยไม่เผิน แล้วก็ไตร่ตรอง
จนกระทั่ง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
เมื่อนั้นก็ชื่อว่า เข้าใจ แม้แต่คำที่ทุกคนได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า "ธรรมะ"
ไม่เผินเลย แม้สักคำ ค่ะ จึงจะสามารถ "เข้าใจ" พระธรรมได้จริงๆ
อนึ่ง คุณคำปั่น ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ในเช้าวันสุดท้ายก่อนการสนทนาธรรม
ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า พวกเราทุกคน เป็นครอบครัวธรรม หมายความว่า ทุกคน
มาจากต่างสถานที่ ต่างสถานะ แต่ได้มาศึกษาพระธรรมร่วมกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไปในแนวทางเดียวกัน ตรงตามพระธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง ครับ
บริษัทที่สามัคคีกัน เป็นอย่างไร?ในบริษัทใด ภิกษุทั้งหลาย พร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกันไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสมกับน้ำ
มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือ สายตาของคนที่รักใคร่กัน)
บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกันพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตเล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 482 ปริสาสูตร
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าของบ้าน คุณธวัชชัย ปิยอัจฉริยะ
ที่มีเมตตาให้ทุกๆ คนในวันนั้น
ได้มีโอกาสร่วมฟังการสนทนาธรรม ในสถานที่สวยงาม ร่มรื่น ประทับใจมากครับ
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ท่านวิทยากร และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
กราบเท้าอนุโมทนาในความเมตตาของท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ยิ้มแย้ม ร่าเริง ผ่องใส ด้วยธรรมมีกถาที่ท่านกล่าวสอนพวกเราเสมอ
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลคือความเอื้อเฟื้อของคุณวันชัย
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของสหายธรรมทุกท่านด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาและกุศลวิริยะของคุณวันชัย
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของสหายธรรมทุกท่านด้วยค่ะ
กราบเท้าอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณวันชัย และสหายธรรมทุกๆ ท่านคะ