สมาธินั้น...แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

 
โชติธัมโม
วันที่  17 ก.พ. 2554
หมายเลข  17900
อ่าน  5,254

ขออนุญาตคุณพุทธรักษาที่ได้นำเรื่องนี้ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้บรรยายไว้มาเผยแพร่ โดยส่วนตัวคิดว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ติดในการนั่งสมาธิ ที่ไม่รู้ว่าสมาธิมีทั้งมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ จะได้ไม่เสียเวลาหลงทางครับ

มิจฉาสมาธิ ... สัมมาสมาธิ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง โลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม.

ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ... ก็มีโลภะกันมากๆ .

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลบางรูปได้ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยวทีเดียว ก็แสดงว่าท่านอยากพ้นทุกข์ อันนี้ตรงกับที่อาตมากำลังกล่าวอยู่หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจจะกระทำ โลภะเกิดกับกุศลจิตไม่ได้เลย ฉันทะเกิดกับกุศลจิตก็ได้เกิดกับอกุศลจิตก็ได้.

ท่านผู้ฟัง พระอริยบุคคลทำความเพียรนั้น ... เป็นโลภะ หรือ ฉันทะ.

ท่านอาจารย์ เป็นกุศลเจ้าค่ะ ... ท่านไม่ได้เพียรอกุศล.

ท่านผู้ฟัง การที่โยมผู้หญิงท่านนั้นกล่าวว่า การนั่งสมาธินั้น จิตใจเพลิดเพลิน ยินดี รู้สึกติดข้อง การกระทำอย่างนั้น เป็นโลภะหรือฉันทะ.

ท่านอาจารย์ ขณะนั้น ... มีปัญญาหรือเปล่า เจ้าคะ.

ท่านผู้ฟัง ก็การกระทำนั้น เป็นไปเพื่ออริยมรรค.

ท่านอาจารย์ การกระทำอย่างนั้น ... ไม่ได้เป็นไปเพื่ออริยมรรค แต่เป็นความพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น.

คนที่ทำสมาธิตั้งหลายคน เขาบอกว่า เขาต้องการทำสมาธิเพราะไม่อยากให้จิตใจฟุ้งซ่าน อยากให้จิตใจ จดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด และเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ. ขณะใดที่เป็นโลภะ คือ ความติดข้อง แม้ต้องการจะจดจ้อง ขณะนั้น เป็นลักษณะของมิจฉาสมาธิ เพราะว่า ... ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย.

ท่านผู้ฟัง สมาธินั้น ... แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก มีสภาพที่มีอารมณ์เดียว ขณะที่เป็นสมาธิก็มีเอกัคคตาเจตสิก ที่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งปรากฏ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะเอกัคคตาเจติกเป็น "สัพพจิตตสาธารณะเจตสิก" ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ เพราะมีอยู่แล้วกับจิตที่เกิดทุกดวง เพียงแต่ว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น (ปกติ) ... ลักษณะของเอกกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะจิตที่เกิดก็สั้นมาก และสิ่งที่ปรากฏวาระหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏตั้งมั่นถึงระดับที่เราใช้คำว่า "สมาธิ". แต่ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนาน ... ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ... เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกขณะนั้น ... ไม่ใช่กุศลจิต.

ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิตขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต. ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" แต่เป็น "อกุศลสมาธิ" หรือ "มิจฉาสมาธิ" ขณะที่เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ". ต่อเมื่อใด ที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ทานก็เกิดน้อย การวิรัติทุจริตก็เกิดน้อย และ จิตส่วนใหญ่จะตกไปเป็นอกุศล เมื่ออารมณ์ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตจะคล้อยไปเป็นอกุศลเป็นส่วนใหญ่ ยากนักหนาที่เมื่อเห็นแล้ว ... เป็นกุศล. แล้วแต่ว่าสะสมกุศลจิตระดับใดมามาก ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา เมื่อคิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังมีจิตที่เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอุปนิสัย แต่ขณะนั้นก็สั้นนิดเดียว เดี๋ยวเสียงก็ปรากฏ ... เดี๋ยวสีก็ปรากฏ ฉะนั้น ลักษณะของสมาธิก็ไม่มั่นคง ... ถึงแม้จะเป็นกุศลก็ตาม.

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาในครั้งโน้น คือผู้ที่เห็นโทษของอกุศล โดยเฉพาะโลภะ รู้ว่าจิตจะคล้อยตามสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยความติดข้องอย่างไม่รู้สึกตัวเลย รู้ว่าติดข้องในการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และ การกระทบสัมผัส

ท่านเหล่านั้นพยายามที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส เมื่อรู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลจิต. ที่สำคัญ ... ท่านเหล่านี้ รู้ว่าสำคัญที่ "วิตกเจตสิก" หมายความว่า เมื่อนึกถึงอะไรแล้วเป็นเหตุให้จิตเป็นกุศล เช่น นึกถึงศีล นึกถึงสิ่งที่เป็นเหตุให้จิตสงบจากอกุศล เป็นเหตุให้ลักษณะของกุศลจิตเกิดบ่อย และความสงบก็จะปรากฏลักษณะของสมาธิ ก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ"

สัมมาสมาธิ ระดับที่เป็นอุปจารสมาธิและอัปนาสมาธิจึงเป็นฌานจิต เป็นปฐมฌาน และ รู้ต่อไปอีกว่า ขณะนั้นถ้ายังมีวิตก คือ มีการตรึกอยู่ ก็ใกล้ต่อการตรึกถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงละสภาพธรรมที่เป็นวิตกหรือการตรึก และประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น โดยไม่ให้มีวิตกหรือการตรึก. เป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า อย่าไปพอใจกับคำว่า "สมาธิ" โดยไม่มีการศึกษา ให้เกิดเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน ว่า มิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ... ต่างกันอย่างไร.

ท่านผู้ฟัง อย่างสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ... เป็น "สัมมาสมาธิ" ใช่ไหม.?

ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าคะ ... เพราะว่า เป็นสมาธิที่เกิดพร้อมกับ "สัมมาทิฏฐิ".

(สนทนาธรรมที่วัดบ้านปิง อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๔

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์)

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pat_jesty
วันที่ 18 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณค่ะ และขออนุโมทนาในจิตเมตตาแบ่งปันธรรมของเจ้าของกระทู้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 19 ก.พ. 2554

อย่าไปพอใจกับคำว่า "สมาธิ" โดยไม่มีการศึกษา (ศึกษาธรรม, ฟังธรรม, พิจารณาธรรม) ให้เกิด (ความ) เข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนว่า มิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ... ต่างกันอย่างไร. อ่านดีมากครับ ...

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 ก.พ. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
intira2501
วันที่ 20 ก.พ. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิต อ่านแล้วทำให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 21 ก.พ. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ศรัทธา
วันที่ 21 ก.พ. 2554

สมาธิของผู้ได้ฌาน เช่น อุทกดาบส ไม่ได้มีปัญญาร่วมเป็นมิจฉาสมาธิหรือไม่ ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ทำไมไปเกิดเป็นพรหมได้อย่างไรเพราะอาศัยกุศลอะไรที่ไม่ใช่ฌาน

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chaiyut
วันที่ 22 ก.พ. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

สมาธิของผู้ได้ฌาน เช่น อุทกดาบส เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเกิดกับอรูปฌานกุศลครับ เป็นกุศลขั้นสูงที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่ง มีความตั้งมั่นของสมาธิมาก ผลของกุศลระดับนี้ เมื่อฌานจิตไม่เสื่อม หลังจากจุติแล้วก็ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล แต่พระโพธิสัตว์ค้นพบว่า แม้จิตจะสงบถึงระดับนั้นก็ยังไม่ใช่ทางหลุดพ้น เมื่อทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงแสดงหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ที่ถูกต้อง คือ การอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ ทรงแสดงสัมมาสมาธิที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นด้วย คือ สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่สำหรับสมาธิของอุทกดาบสก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่ว่าไม่ได้อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะกุศลที่อุทกดาบสเจริญนั้นประกอบด้วยปัญญาในระดับของสมถภาวนาเท่านั้น ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา จึงยังเป็นกุศลที่เป็นไปเพื่อการเกิดในวัฏฏะครับ

แม้ว่าจะไม่ใช่มิจฉาสมาธิ แต่ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา คือ เจริญกุศลจริง แต่ปรารภทางผิด ไม่ได้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อปรารภการหลุดพ้นทุกข์จากการเกิดในสังสารวัฏฏ์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
โชติธัมโม
วันที่ 23 ก.พ. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่าน และต้องขออนุโมทนากับคุณ chaiyut ด้วยนะครับที่ช่วยให้ความรู้ การสนทนาธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคลยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ศรัทธา
วันที่ 3 มี.ค. 2554

ถ้าจิตไม่ได้สั่งแล้ว การตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ... เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก

อยากทราบว่า ทำได้อย่างไร โดยเฉพาะที่กล่าวว่า ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งถ้าตั้งใจทำสิ่งใดได้ เท่ากับว่า จิตสั่งได้

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
prakaimuk.k
วันที่ 8 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาในโพสต์ของคุณโชติธัมโมและคุณ Chaiyut

ช่วยให้ความกระจ่างยิ่งขึ้นในเรื่องสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ และสมถภาวนาค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
thilda
วันที่ 20 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 22 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ สาธุ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง

จาก ใหญ่ราชบุรี – ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 24 มี.ค. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

ขอบพระคุณและอนุโมทนาท่านเจ้าของกระทู้

และทุกท่านที่ร่วมแสดงความเห็น เป็นอย่างยิ่งครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
p.methanawingmai
วันที่ 4 ม.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Jarunee.A
วันที่ 21 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ