อุปมารูปเหมือนฟองน้ำ - สัญญาเหมือนพยับแดด [อรรถกถาเผณปิณฑสูตร]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 320
(ข้อความบางตอนจาก)
อรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ ๓
บทว่า ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารนั้น เวลาเย็นเสด็จออกจากพระคันธกุฏี ไปประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ชาวเมืองจัดถวายไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ทอดพระเนตรเห็นฟองน้ำใหญ่ลอยมาในแม่น้ำคงคา จึงทรงดำริว่า เราจักกล่าวธรรมข้อหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเบญจขันธ์ในศาสนาของเรา ดังนี้ แล้วได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายผู้นั่งแวดล้อมอยู่
บทว่า มหนฺตํ เผณปิณฺฑํ ความว่า ฟองน้ำเริ่มตั้งแต่มีขนาดเท่าผลพุทราและล้อรถในคราวแรก ก่อตัวๆ แล้ว เมื่อถูกกระแสน้ำพัดพาไปก็ก่อตัวใหญ่ขึ้นตามลำดับจนมีขนาดเท่ายอดภูเขา ซึ่งสัตว์เป็นจำนวนมากมีงูน้ำเป็นต้นอาศัยอยู่ ได้แก่ ฟองน้ำที่ใหญ่ถึงปานนี้. บทว่า อาวเหยฺย แปลว่า พึงนำมา. ก็ฟองน้ำนี้นั้น ย่อมสลายตัวไปตรงที่ที่ก่อตัวบ้าง ลอยไปได้หน่อยหนึ่งจึงสลายตัวบ้าง ลอยไปได้ไกลเป็นโยชน์หนึ่งสองโยชน์เป็นต้น แล้วจึงสลายตัวบ้าง แต่ถึงแม้จะไม่สลายตัวในระหว่างทาง ถึงทะเลหลวงแล้วก็ย่อมสลายตัวเป็นแน่แท้ทีเดียว.
บทว่า นิชฺฌาเยยฺย แปลว่า พึงจ้องดู. บทว่า โยนิโส อุปปริกฺเขยฺย แปลว่า พึงตรวจดูตามเหตุ. บทว่า กิญฺหิ สิยา ภิกฺขเว เผณปิณฺเฑ สาโร ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ในฟองน้ำจะพึงมีสาระได้อย่างไร? ฟองน้ำจะพึงย่อยยับสลายตัวไปถ่ายเดียว.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 321
รูป
บทว่า เอวเมว โข ความว่า ฟองน้ำไม่มีสาระ (แก่น) ฉันใด แม้รูปก็ไม่มีสาระฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเว้นจากสาระคือเที่ยง สาระคือยั่งยืนและสาระคืออัตตา. เปรียบเหมือนว่า ฟองน้ำนั้นใครๆ ไม่สามารถจะจับเอาด้วยความประสงค์ว่า เราจักเอาฟองน้ำนี้ทำภาชนะหรือถาด แม้จับแล้วก็ไม่ให้สำเร็จประโยชน์นั้นได้ ย่อมสลายตัวทันทีฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้นใครๆ ไม่สามารถยึดถือได้ว่า เราหรือของเรา แม้ยึดถือแล้วก็คงอยู่อย่างนั้นไม่ได้ย่อมเป็นเช่นกับฟองน้ำอย่างนี้ทีเดียว คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่สวยงามเอาเลย.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ฟองน้ำมีช่องเล็กช่องน้อยพรุนไปเชื่อมต่อด้วยที่ต่อหลายแห่ง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก มีงูน้ำเป็นต้น ฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้นมีช่องเล็กช่องน้อย พรุนไป เชื่อมต่อด้วยที่ต่อหลายแห่ง ในรูปนี้หมู่หนอน ๘๐ เหล่า อาศัยอยู่กันเป็นตระกูลทีเดียวรูปนั้นนั่นแล เป็นทั้งเรือนเกิด เป็นทั้งส้วม เป็นทั้งโรงพยาบาล เป็นทั้งป่าช้าของหมู่หนอนเหล่านั้น หมู่หนอนเหล่านั้นย่อมไม่ไปทำกิจทั้งหลายมีคลอดลูกเป็นต้นในที่อื่น รูปเป็นเหมือนฟองน้ำด้วยอาการอย่างนี้บ้าง. อนึ่ง เปรียบเหมือนว่าฟองน้ำแต่แรกก็มีขนาดเท่าผลพุทรา.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 323
สัญญา
แม้สัญญา ก็ชื่อว่าเป็นเหมือนพยับแดด เพราะอรรถว่าไม่มีสาระ ๑ อนึ่ง ชื่อว่าเป็นเหมือนพยับแดดเพราะอรรถว่าอันใครๆ จับคว้าไม่ได้ เพราะใครๆ ไม่สามารถจะจับคว้าเอาพยับแดดนั้น มาดื่ม อาบ หรือ บรรจุให้เต็มภาชนะได้. อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า พยับแดดย่อมเต้นยิบยับปรากฏเหมือนมีลูกคลื่นเกิดฉันใด แม้สัญญาแยกประเภทเป็นนีลสัญญาเป็นต้นก็ฉันนั้น ย่อมไหวตัว คือเต้นยิบยับ เพื่อประโยชน์แก่การเสวยอารมณ์มีรูปสีเขียวเป็นต้น.
อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า พยับแดดย่อมหลอกล่อคนจำนวนมากให้หลงให้พูดว่า ปรากฏเหมือนแม่น้ำมีน้ำเต็ม ฉันใด แม้สัญญาก็ฉันนั้นย่อมหลอกล่อคนจำนวนมากให้หลงให้พูดว่า รูปนี้สีเขียวสวยงาม เป็นสุข เที่ยง.
แม้ในรูปสีเหลืองเป็นต้นก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้แล.สัญญาชื่อว่าเหมือนกับพยับแดด เพราะทำให้หลงอย่างนี้บ้าง.