ละอองธุลีแห่งโลภะ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สนทนาธรรมตอนหนึ่งว่า
"โลภะอันละเอียด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เปรียบเสมือนละอองธุลีที่ฟุ้งอยู่
แล้วล่วงหล่นลงนอนเนื่องอยู่ในสันดาน"
ขออนุญาตเรียนถามว่า โลภะที่ละเอียดนั้นท่านหมายถึงโลภะประเภทไหน มีลักษณะอย่างไร อยู่ที่จิตไหน และสังเกตได้อย่างไรครับ
และที่ท่านอุปมาว่า "เปรียบดังละอองธุลีที่ล่วงหล่นนอนเนื่องอยู่ในสันดานนั้น"
ขยายความให้ชัดเจนเพื่อความเข้าใจได้อย่างไรครับ
และถ้อยคำนี้เป็นถ้อยคำในพระสูตรด้วยหรือไม่ครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดตลอด ๔๕ พรรษาเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง สำหรับในเรื่องของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงจำแนกไว้หลายหมวดหมู่ เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจ และเห็นโทษของอกุศลธรรม ตามความเป็นจริง โลภะ เป็นสภาพธรรมทีี่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น โลภะก็ไหลไปแล้ว ชอบแล้วติดข้องแล้ว โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร นี้คือความบางเบาของกิเลสที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน โลภะ เป็นอกุศลเจตสิกประการหนึ่ง เกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเป็นมูลเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแต่ไม่สูญหายไปไหนยังสะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไปๆ (ที่กล่าวว่า สันดาน หรือสันตานะ นั้น ก็คือ การเกิดดับสืบต่อของจิต) ที่มีกิเลสเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่กลุ้มรุมจิตใจ ก็เพราะว่า ยังมีพืชเชื้อของกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ ซึ่งเป็นกิเลสที่ละเอียด โลภะก็เช่นเดียวกัน ที่เกิดติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เพราะยังมีพืชเชื้อของโลภะ ซึ่งเป็นกามราคานุสัย (ซึ่งจะต้องถูกดับด้วยมัคคจิต คือ อนาคามิมัคคจิต ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล) ในอรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร มีข้อความที่แสดงถึงละอองกิเลสไว้ ว่า [เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๓๙ - หน้าที่ ๒๑๑ "จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพ (คือพระอรหันต์) นั้น ชื่อว่า วิรชะ เพราะปราศจากละอองกิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น" ซึ่งคำว่าละอองในที่นี้ มาจากคำว่า รชะ หมายถึง ธุลีหรือสิ่งสกปรก จะเห็นได้ว่ากิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น บุคคลผู้ที่ไม่มีละอองกิเลสโดยประการทั้งปวง คือพระอรหันต์เท่านั้น ซึ่งดับพืชเชื้อของกิเลสได้ทั้งหมด ไม่มีเหลือ ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณจักรกฤษณ์และทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า ขอน้อมเศียรและจิตอนุโมทนากับท่านจักกฤษณ์ และท่านคำปันรวมทั้งทุกๆ ท่านที่มีสัมมาทิฐฐิด้วยเศียรเกล้า
ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์คำปั่นเพิ่มเติมอีกสักนิดนะครับว่า
ที่กิเลสเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะก็เนื่องจากยังมีพืชเชื้อของกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิต
และในขณะที่กิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็ยังสะสมสืบต่อไปตามการเกิดดับของจิตอีกด้วย
แสดงว่า การเกิดของกิเลสแต่ละครั้งนั้น ย่อมมีผลเสมอกล่าวคือ เป็นการเติมพืชเชื้อของกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ด้วย ใช่ไหมครับ
ส่วนกิเลสที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เบาบางโดยที่เรายังไม่รู้เลยว่าเป็นอะไรก็ติดข้องแล้ว นั้น ก็สะสมเช่นเดียวกัน
ดังนั้น วันทั้งวัน แม้กิเลสอย่างหยาบไม่เกิด แต่กิเลสที่เบาบางเกิดขึ้นทั้งวัน ดังนี้พืชเชื้อก็ยังถูกสะสมถูกเติมไปเรื่อยๆ โดยเราไม่รู้ตัวเลย ใช่ไหมครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์คำปั่นมากครับ
ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เกิดขึ้นก็สะสมเป็นปัจจัยทำให้มีจิตอย่างนั้นเกิดอีก
เช่น ถ้าเราให้ทานครั้งหนึ่งก็เป็นปัจจัยให้ให้อีก ถ้าเราโกรธก็เป็นปัจจัยให้โกรธ
ถ้าสะสมปัญญาบ่อยๆ ก็ทำให้ปัญญาเจริญ กุศลทั้งหลายก็เจริญขึ้น ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เรียน ความคิดเห็นที่ ๘ ครับ ที่คุณจักรกฤษณ์ ได้แสดงความเห็นนั้น ก็ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงครับเพราะกิเลสที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง เมื่อเกิดแล้วดับไป ก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไปสะสมเป็นพืชเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า อกุศลเกิดบ่อยมาก เป็นปกติธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอกุศลเคยเิกิดและสะสมมาแล้วอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ นั่นเอง กิเลส ทั้งระดับที่บางเบาที่ตั้งขึ้นกลุ้มรุมจิตใจโดยรอบ ทั้งระดับที่มีกำลังกล้าถึงขั้นล่วงเป็นอกุศลกรรมบถประการต่างๆ ก็สะสมทั้งนั้น, กิเลสที่มีมาก จะถึงการดับได้อย่างเด็ดขาด เมื่ออบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตามลำดับ เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง แทรกซึมลึกไปถึงพืชเชื้อของกิเลส คือ สามารถดับพืชเชื้อของกิเลสได้ทั้งหมด เมื่อไม่มีพืชเชื้อของกิเลส (ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรค) แล้ว ก็ย่อมจะไม่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นที่กลุ้มรุมจิตใจ กับ ขั้นที่มีกำลังกล้า เกิดขึ้นอีก แต่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ใช่ว่ากิเลสเท่านั้นที่สะสม แม้ธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นก็สะสมเช่นเดียวกัน เช่น ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นก็สะสมปัญญาเพิ่มขึ้น สะสมเป็นอุปนิสัยฝ่ายดีเพิ่มขึ้น กุศลธรรมประการอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน แต่จะไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาดระหว่างกุศลธรรม กับ อกุศลธรรม ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณจักรกฤษณ์และทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอแสดงความคิดเห็นด้วยเล็กน้อยครับว่า
ท่านอาจารย์สุจินต์เคยกล่าวไว้ประโยคหนึ่งเกี่ยวกับ "โลภะอย่างละเอียด"ว่า
ถ้าท่านรู้สึกหรือนึกหรือกล่าวว่า "ดีใจ" เมื่อได้ฟังธรรมหรือเข้าใจเรื่องราว
ของธรรมบางประการ หรือเจริญกุศลใดก็ตาม
ขณะนั้นท่านอาจารย์จะเตือนว่า "ดีใจเสียแล้ว" ซึ่งเป็นโลภะอย่างละเอียด
ที่สำคัญมาก
ขอบคุณและอนุโมทนาทุกท่านครับ