อาบัติทุกกฏ .

 
sms
วันที่  1 มี.ค. 2554
หมายเลข  17973
อ่าน  8,790

อาบัติทุกกฏเป็นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแปลคำว่า อาบัติ ก่อนว่า หมายถึงอะไร คำว่า อาบัติ หมายถึง กิริยาที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วมีโทษอยู่เหนือตน เช่น ภิกษุ มีความจงใจฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งเป็นอาบัติที่หนักมาก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เป็นต้น

สำหรับ อาบัติทุกกฏ นั้น เป็นอาบัติที่เบา สามารถแก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติ คือ การแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ด้วยความจริงใจตั้งใจว่าจะสำรวมระวังให้ดีต่อไป อาบัติทุกกฏ มีเยอะมาก เช่น

-ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ

-ภิกษุไม่พึงเสยผมด้วยแปรง ไม่พึงเสยผมด้วยหวี ไม่พึงเสยผมด้วยนิ้วมือต่างหวี ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับขี้ผึ้ง ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับน้ำ รูปใดเสย ต้องอาบัติทุกกฏ

-ภิกษุไม่พึงดูเงาหน้าในแว่นหรือในภาชนะน้ำ รูปใดดู ต้องอาบัติทุกกฏ ...ฯลฯ...

ว่าโดยศัพท์แล้ว ทุกกฏ หมายถึง การกระทำไม่ดี การกระทำไม่สมควร การกระทำผิด ตามข้อความที่ว่า

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๒๒

จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือ ทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่าทุกกฏ. ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค.

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อาบัติทุกกฏ เป็นอาบัติที่เบา สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าไม่แก้ไขด้วยการปลงอาบัติ ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
sms
วันที่ 2 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณมากครับ ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่า การแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน มีข้อปฏิบัติอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ (ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้ครับ)

เมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติทุกกฏ พึงเข้าไปหาภิกษุด้วยกัน นุ่งห้มผ้าให้เรียบร้อย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กราบพระภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า นั้น พร้อมกับเปล่งวาจาต่อหน้าพระภิกษุรูปนั้น แสดงออกถึงความจริงใจในการที่จะสำรวมหรือระมัดระวังไม่ให้ล่วงสิกขาทข้อนั้นๆ อีก ดังนี้

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๗๑๐

อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ (คำแปล คือ ท่านเจ้าข้า ! กระผมต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น)

ภิกษุด้วยกันซึ่งเป็นผู้รับแสดงอาบัติ พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (เธอเห็นหรือ?) .

ผู้แสดง: อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ! ผมเห็น)

ผู้รับ: อายตึ สํวเรยฺยาสิ (เธอพึงสำรวมต่อไป) .

ผู้แสดง: สาธุ สุฏฺฐุ สํวริสฺสามิ (ดีละ ผมจะสำรวมให้ดี) .

จะเห็นได้ว่า การแสดงอาบัติ หรือ ปลงอาบัติ เป็นการแก้ไขทางพระวินัย เพื่อจะได้ไม่เป็นเครื่องกั้นการไปสู่สวรรค์ และ ไม่เป็นเครื่องกั้นการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เพราะถ้าไม่แสดงหรือไม่ปลง ก็เป็นเครื่องกั้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 2 มี.ค. 2554

ผมเคยบวชพระและเคยปลงอาบัติด้วยการกล่าวคำบาลีข้างต้น แต่ไม่ทราบความหมายเลย เพราะไม่ได้มีการอธิบายความหมายและความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะท่องภาษีบาลีกันไวมากๆ ในการปลงอาบัติ ทำให้รู้สึกว่าผู้ที่ท่องได้ไวและเร็วจะดูว่ามีความชำนาญหรือบวชมานาน แต่หาได้ทราบถึงความหมายและวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการปลงอาบัติเลย ทั้งยังไม่ทราบเลยว่าล่วงสิกขาบทข้อใด และจะสำรวมระวังต่อไปไม่ทำผิดอีกหรือไม่ การปลงอาบัติส่วนใหญ่จึงทำเป็นพิธีเท่านั้น และกลับสบายใจว่าได้ปลงอาบัติแล้ว ที่ท่านอาจารย์คำปั่นกรุณาอธิบายจึงมีประโยชน์มากครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านอาจารย์คำปั่นมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 3 มี.ค. 2554

อาบัติทุกกฏ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการผิดมารยาท เช่น ฉันข้าวเคี้ยวเสียงดังฉันไปพูดไป นุ่งห่มผ้าไม่เรียบร้อย หรือนั่งบนอาสนะต่ำแสดงธรรมะแก่ผู้นั่งอยู่บนอาสนะสูงกว่า หรือการส่งเสียงดังในระแวกบ้าน เป็นต้น คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
sms
วันที่ 5 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 23 มี.ค. 2554

อาบัติเบา แต่ตายแล้วยังไปอบายได้ครับ เพราะอาบัติเบาๆ นี่ละครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jeabbabe
วันที่ 26 ต.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jeabbabe
วันที่ 26 ต.ค. 2555

ขอให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเถิด สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jeabbabe
วันที่ 27 ต.ค. 2555

ภิกษุรูปใดเป็นภิกษุรูปแรกที่ต้องอาบัติทุกกฎครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jeabbabe
วันที่ 27 ต.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 17973 โดย sms

อาบัติทุกกฏ หมายความว่าอย่างไร ความหนักเบาขนาดไหนครับ

อาบัติทุกกฏเป็นลหุกาบัติ คืออาบัติเบาระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทุกระดับครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ