อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจของอกุศลธรรมนั้นอยู่ตลอดเวลา (๒)
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นเรื่องของผู้ที่รักในความสนุก หรือว่าในความเพลิดเพลิน ทางตาทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นเริ่มจาก ไม่เข้าใจชีวิต ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม แต่เมื่อได้อาศัยการฟังพระธรรมเข้าใจแล้ว ก็เป็นผู้ที่เปิดจิตให้ออกจากกิเลสทั้งหลายที่หุ้มห่อไว้มิดชิด
ลองคิดดู กิเลสหุ้มห่อ ห้อมล้อม ปกปิดไว้มิดชิด ขณะที่ไม่รู้ว่าสภาพธรรมคืออะไร และไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย ชั่วขณะที่มีการศึกษามีการฟัง มีการเข้าใจ ก็เหมือนกับผู้ที่เปิดกิเลสออกไป ที่หุ้มห่ออยู่ ให้ออกมาเห็นความจริงของสภาพธรรมชั่วคราว แล้วก็กลับไปถูกกิเลสหุ้มห่อไว้มิดชิดอีก แล้วก็มีการฟังพระธรรม มีการพิจารณา มีการเข้าใจ ก็เปิดจิตออกมาให้พ้นจากการหุ้มห่อของกิเลส ทีละเล็กทีละน้อย จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ นี้ ที่จะออกมาจากการหุ้มห่อของกิเลส แล้วมารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขั้นการฟังบ้าง หรือในขั้นที่สติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้าง น้อยเพียงใด เพราะฉะนั้นก็จะต้องอบรมต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ว่าไม่ท้อถอย ต้องเป็นผู้ที่ตั้งต้นใหม่ เกิดใหม่ทุกขณะ ไม่ว่ากิเลสจะทำให้เป็นผู้ที่เห็นผิด หลงผิด เข้าใจผิด ประพฤติผิด ทางกาย ทางวาจาไป มากน้อยอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นผู้ที่สามารถจะเรี่มต้น ตั้งต้นใหม่ และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ ทั้งพระสูตร พระวินัย ก็เป็นเรื่องราวของ จิต เจตสิก รูป ทั้งอกุศลจิต เจตสิก ทั้งโสภณจิต โสภนเจตสิก ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรม ถึงแม้แต่ในขณะนี้เองค่ะ ซึ่งหลายท่านก็อาจจะคิดว่า ท่านอยู่นอกพระสูตร หรือนอกพระวินัย แต่ไม่พ้นจากพระอภิธรรมเลย เพราะว่าขณะนี้ก็เป็นโสภณจิต และโสภณเจตสิก ซึ่งกำลังเกิดในขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ แต่ก็เป็นผู้ที่ละเอียด ก็อาจจะสังเกตเห็นได้ว่า มีอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกเกิดแทรกคั่นได้บ้างบางกาละ นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้
ปัญญาก็จะต้องรู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แต่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้วต้องสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม
เรื่องพระวินัยก็เป็นเรื่องที่ละเอียดซึ่งขอกล่าวถึงอีกเล็กน้อย เช่น "ความจริงใจในกุศล" ไม่ว่าในเพศของ บรรพชิต หรือ คฤหัสถ์
"....ต้องอบรมต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ว่าไม่ท้อถอย ต้องเป็นผู้ที่ตั้งต้นใหม่ เกิดใหม่ทุกขณะ ไม่ว่ากิเลสจะทำให้เป็นผู้ที่เห็นผิด หลงผิด เข้าใจผิด ประพฤติผิด ทางกาย ทางวาจาไป มากน้อยอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นผู้ที่สามารถจะเรี่มต้น ตั้งต้นใหม่ และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม .." วิริยารัมพกถาจากท่านอาจารย์ ทำให้เช้านี้ที่ได้อ่านแล้วเข้าใจธรรมเกิดความอาจหาญ ร่าเริง อดทน ไม่ท้อถอย และมีกำลังใจครับ
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ