อภิธรรมในชีวิต [33] โลภะ เหตุของทุกข์

 
พุทธรักษา
วันที่  5 มี.ค. 2554
หมายเลข  17987
อ่าน  1,473

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 

โลภะ ทุกระดับขั้น ไม่ว่าหยาบ หรือ ละเอียดย่อมเป็น "เหตุของทุกข์" เราเป็นเหมือนทาส ตราบใดที่ยังเพลิดเพลิน มัวเมา หลง-ติดในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ เราไม่เป็นอิสระเลย ถ้าความสุขของเรา ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ที่เกิดกับเรา และ จากการกระทำของคนอื่นคนอื่น อาจจะดีกับเราขณะหนึ่ง แต่อีกขณะหนึ่ง อาจจะไม่ดี ก็ได้ถ้าเรา "ยึดถือ" ในความชอบพอ รักใคร่ ที่คนอื่นมีต่อเราอย่างมากมายเหลือเกินแล้ว จิต ก็จะหม่นหมองได้ง่ายและ ตกเป็น "ทาส" ของอารมณ์ และ ความรู้สึกต่างๆ

เราจะเป็นอิสระขึ้นได้ ถ้า "เข้าใจ" ความจริง ว่าทั้งตัวเราเอง และ คนอื่น เป็นเพียง นามธรรม และ รูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป
เมื่อใครพูดคำที่ไม่น่าฟังกับเรา ก็เพราะ มี "เหตุปัจจัย" ที่ทำให้เขา "พูด" อย่างนั้น และ มี "เหตุปัจจัย" ที่ทำให้เรา "ได้ยิน" คำเหล่านั้น การกระทำของคนอื่น และ ปฏิกิริยาของเรา-ต่อการกระทำนั้นๆ "ล้วนเป็นสภาพธรรม" ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย และ ไม่เที่ยง ขณะที่ กำลังคิดถึง-สภาพธรรมเหล่านั้น สภาพธรรมเหล่านั้น ก็ดับไปแล้ว

การอบรมเจริญปัญญา เป็น ทางที่จะทำให้ "ละคลาย-ความยึดมั่น" ในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต ฯลฯ เมื่อ โลภะ ฝังลึกในจิตอย่างเหนียวแน่นถึงเพียงนี้ "การละ-โลภะ" ก็ต้องเป็นไป ตามลำดับขั้น

"มิจฉาทิฏฐิ" (ความเห็นผิด) ต้องดับหมดก่อนแล้ว "โลภะอื่นๆ" จึงจะดับหมดสิ้นได้ "พระโสดาบันบุคคล" (บุคคลที่บรรลุ-โลกุตตรธรรม-ขั้นที่ ๑) ดับ มิจฉาทิฏฐิ เป็นสมุจเฉท เพราะ ท่านอบรมเจริญปัญญาและ "รู้ชัด" ว่าสภาพธรรมทั้งหลาย เป็น นามธรรม และ รูปธรรมไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุที่ พระโสดาบันบุคคล ละ มิจฉาทิฏฐิ ได้แล้ว โลภมูลจิต ซึ่งเกิดร่วมกับ มิจฉาทิฏฐิ จึงไม่เกิดอีกเลย

ดังที่ได้ศึกษาแล้ว ว่า โลภมูลจิต ๔ ประเภท เกิดร่วมกับ มิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตสัมปยุตต์) และ โลภมูลจิต ๔ ประเภท ไม่เกิดร่วมกับ มิจฉาทิฏฐิ (ทิฏฐิคตวิปยุตตย์) โลภมูลจิต ที่ ไม่เกิดร่วมกับ มิจฉาทิฏฐิ ยังคงเกิดกับ พระโสดาบันบุคคล เพราะ พระโสดาบันบุคคล ยังไม่ได้ดับโลภะทั้งหมด พระโสดาบันบุคคล ยังมี "มานะ" (ความสำคัญตน) ฯ ขณะที่มีการเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น ขณะนั้น เป็น "มานะ" เช่น ขณะที่คิดว่า เรามีปัญญามากกว่าคนอื่น เป็นต้น

ขณะที่ถือว่า ตนเอง ดีกว่า เสมอกัน หรือ ด้อยกว่า คนอื่นนั่นเป็น "ความสำคัญตน" ขณะนั้น เป็น "มานะ" ขณะที่คิดว่าตนเอง ด้อยกว่า คนอื่นนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นกุศล (เสมอไป) แต่อาจเป็น "อาการหนึ่ง-ของการถือตน" ฯ

"มานะ" ฝังลึกในจิตซึ่งจะดับ "มานะ" หมดเป็นสมุจเฉท ก็ต่อเมื่อ บรรลุเป็นพระอรหันต์ ผู้ที่บรรลุโลกุตตรธรรม ขั้นที่ ๒ คือ "พระสกทาคามีบุคคล" (ผู้กลับมาสู่กามโลกอีกครั้งหนึ่ง) พระสกทาคามีบุคคล ละคลายโลภะได้มากกว่าพระโสดาบันบุคคล

"พระอนาคามีบุคคล" (ผู้ไม่กลับมาสู่กามโลก) ผู้ซึ่งบรรลุโลกุตตรธรรม ขั้นที่ ๓ ดับโลภะในกามอารมณ์ ๕ ได้ แต่ ยังมี มานะ และ ความยินดีพอใจ-ในการเกิด "พระอรหันต์" ดับโลภะได้ทั้งหมด เป็นสมุจเฉท พระอรหันต์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะท่านดับกิเลสได้หมด เป็นสมุจเฉท

ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปัคคัยหสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคฯ ประทับอยู่ ณ นิคม ชื่อว่า เทวทหะ ของศากยราชทั้งหลาย ใน สักกชนบท พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสกะพระภิกษุทั้งหลาย ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดา และ มนุษย์ เป็นผู้มี รูป เป็นที่มายินดี เป็นผู้ยินดีแล้ว ใน รูปเป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ใน รูป เพราะ รูป แปรปรวน คลายไป และ ดับไป เทวดา และ มนุษย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เทวดา และ มนุษย์ เป็นผู้มี เสียง เป็นที่มายินดี เป็นผู้มี กลิ่น เป็นที่มายินดี เป็นผู้มี รส เป็นที่มายินดี เป็นผู้มี โผฏฐัพพะ เป็นที่มายินดี เป็นผู้มี ธรรมารมณ์ เป็นที่มายินดี เป็นผู้ยินดีแล้ว ใน ธรรมรมณ์ เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ใน ธรรมารมณ์ เพราะ ธรรมารมณ์ แปรปรวน คลายไป และ ดับไป เทวดา และ มนุษย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนตถาคต ผู้เป็นอรหันต์ ตรัสรู้แจ้ง โดยชอบรู้แจ้งแล้ว ซึ่ง ความเกิดขึ้น และ ความดับไป คุณ โทษ และ อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูปทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่เป็นผู้มี รูป เป็นที่มายินดี ไม่เป็นผู้ยินดีแล้ว ใน รูป ไม่เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ใน รูป เพราะ รูป แปรปรวน คลายไป และ ดับไปตถาคต ย่อมอยู่เป็นสุข"

คำถามท้ายบทที่ ๕

๑. ถ้าจุดประสงค์ของการพูด ไม่เป็นไปในทาน ศีล หรือ ภาวนาการพูดนั้น เกิดจาก กุศลจิต ได้หรือไม่

๒. กรรม เป็น เจตสิก อะไร

๓. อกุศลกรรมบถ ๑๐ มีอะไรบ้าง

๔. ทิฏฐิ ทุกอย่าง เป็นอกุศลกรรมบถ หรือ

๕. ทำไม โลภะ จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

๖. ใคร ดับโลภะได้หมดสิ้น เป็นสมุจเฉท


หนังสือ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" [Abhidhamma in Daily Life] โดย นีน่า วันกอร์คอม แปลโดย อ. ดวงเดือน บารมีธรรม จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เปิดอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ...

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 6 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prakaimuk.k
วันที่ 7 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ