ละมักขะได้เป็นพระอนาคามี [มักขสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  15 มี.ค. 2554
หมายเลข  18045
อ่าน  1,620

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 87

๕. มักขสูตร ว่าด้วยละมักขะได้เป็นพระอนาคามี

[๑๘๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราเป็นผู้รับรองเธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉนดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่ง คือ มักขะได้ เราเป็นผู้รับรองเธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งมักขะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่ไปสู่ทุคติแล้วละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหนๆ เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบมักขสูตรที่ ๕


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 15 มี.ค. 2554

อรรถกถามักขสูตร

ในมักขสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มกฺขํ ได้แก่ ลบหลู่คุณท่าน. จริงอยู่ ผิว่าคนลบหลู่นั้นเหมือนจับคูถแล้วประหารผู้อื่น กายของตนย่อมเปื้อนก่อนทีเดียว แม้ดังนั้น ท่านก็กล่าวว่า เป็นผู้มักลบหลู่คุณผู้อื่น เพราะการทำเช่นนั้น โดยประสงค์จะลบหลู่คุณของผู้อื่น. เป็นความจริง คนลบหลู่นั้นย่อมลบหลู่ คือ ล้างคุณของผู้อื่นให้พินาศไปดุจผ้าเช็ดน้ำ เช็ดน้ำที่ติดตัวของผู้อาบน้ำ

ฉะนั้น จริงอยู่ ท่านกล่าวว่ามกฺโข (ผู้ลบหลู่คุณท่าน) เพราะทำลายกำจัดสักการะอัน ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรากฏแก่คนเหล่าอื่น. พึงเห็นว่าคนลบหลู่นั้น มีการลบล้างคุณผู้อื่นเป็นลักษณะมีการทำให้คนทั้งหลายพินาศเป็นกิจรส มีการปกปิดคุณของเขาเป็นอาการปรากฏ. แต่โดยใจความ พึงเห็นว่า คนลบหลู่เป็นผู้มีจิตตุบาทสหรคต ด้วยโทมนัสอันเป็นไป โดยอาการลบล้างคุณของผู้อื่น.

บทว่า ปชหถ อธิบายว่าเธอทั้งหลายจงพิจารณาโทษมีประเภทดังกล่าวแล้วในมักขะนั้น และโทษมีนัยดังกล่าวแล้วในโทสะ และอานิสงส์ในการละโทษตามที่กล่าวนั้น แล้วละด้วยตทังคะ เป็นต้น ในส่วนเบื้องต้น ขวนขวายให้เกิดวิปัสสนา แล้วละไม่ให้มีส่วนเหลือด้วยตติยมรรค.

บทว่า มกฺขิตาเส ได้แก่ เป็นผู้ลบล้างคุณของผู้อื่น คือ ป้ายร้ายความดีของผู้อื่น. อธิบายว่า เป็นผู้ขจัดคุณแม้ของตน จากการที่ลบล้างคุณของผู้อื่นนั้นด้วย.

บทที่เหลือมีนัยดังได้กล่าวแล้วนี้แล.

จบอรรถกถามัขสูตรที่ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ