ข้างขึ้น ข้างแรม [ทุติยโอวาทสูตร]

 
khampan.a
วันที่  16 มี.ค. 2554
หมายเลข  18060
อ่าน  1,907

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ หน้าที่ ๕๗๓-๕๗๖

๗. ทุติยโอวาทสูตร

ว่าด้วยการให้โอวาทภิกษุทั้งหลาย

[๔๘๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้นแลท่านพระมหากัสสป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย.

[๔๙๐] ท่านพระมหากัสสป กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญภิกษุทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรม ย่อมเสื่อมจากวรรณ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา... ไม่มีหิริ... ไม่มีโอตตัปปะ... ไม่มีความพากเพียร...ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิรินี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีโอตตัปปะนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้านนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทรามนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ เป็นความเสื่อมโทรม

[๔๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลบางคนมีศรัทธา มีหิริมีโอตตัปปะ มีความเพียร มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนผู้มีศรัทธา... มีหิริ... มีโอตตัปปะ... มีความเพียร ... มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลมีศรัทธานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีหิรินี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีโอตตัปปะนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีความพากเพียรนี้ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มักโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่ผูกโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ไม่เป็นความเสื่อมโทรม

[๔๙๒] พ. ดีแล้ว ดีแล้ว กัสสป บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา... ไม่มีหิริะ...ไม่มีโอตตัปปะ... ไม่มีความเพียร... ไม่มีปัญญา ในกุศล ธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรม ย่อมเสื่อมจากวรรณ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา... ไม่มีหิริ... ไม่มีโอตัปปะ... ไม่มีความเพียร... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลยเหมือนฉะนั้น ดูก่อนกัสสป ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิริ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ฯ ลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้าน ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทราม ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้เป็นความเสื่อมโทรม

[๔๙๓] ดูก่อนกัสสป บุคคลบางคนมีศรัทธา... มีหิริ... มีโอตตัปปะ... มีความเพียร... มีปัญญา ... ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้างในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนผู้มีศรัทธา... มีหิริ...มีโอตตัปปะ... มีความเพียร... มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น ดูก่อนกัสสปข้อที่บุรุษบุคคลมีศรัทธานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีหิริ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีโอตตัปปะ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีความเพียร ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญา ฯล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนไม่มักโกรธ ฯล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนไม่ผูกโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ดังนี้

จบทุติยโอวาทสูตรที่ ๗

อรรถกถาทุติยโอวาทสูตรที่ ๗

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยโอวาทสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้

บทว่า สทฺธา ได้แก่ ศรัทธาที่มั่นคง.

บทว่า วิริย ได้แก่ความเพียรทางกายและทางจิต.

บทว่า ปญฺา ได้แก่ ปัญญรู้กุศลธรรม.

บทว่า น สนฺติ ภิกฺขู โอวาทกา ท่านพระกัสสปะ แสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนี้ว่า บุคคลนี้ไม่มีภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร ผู้โอวาท พร่ำสอน ดังนี้ เป็นความเสื่อม

จบอรรถกถาทุติยโอวาทสูตรที่ ๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ