ที่จะรู้ตัว ว่ามีมานะ มากน้อยแค่ไหน ขณะไหน (๓)

 
pirmsombat
วันที่  19 มี.ค. 2554
หมายเลข  18077
อ่าน  1,830

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์.....นี่ค่ะคือชีวิตตามความเป็นจริง ไม่ใช่ใครทั้งนั้นค่ะ แต่เป็นสภาพ

ธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งเมื่อสะสมมีกำลังเพี่มขึ้น ที่จะไม่ให้ปรากฏ ทางกาย ทาง

วาจาก็เป็นสี่งที่เป็นไปไม่ได้แต่เมื่อมีการปรากฏแล้ว ถ้าสติเกิดระลึกได้ย่อมเห็นโทษ

ข้อสำคัญที่สุด ต้องเห็น

โทษของอกุศลตามความเป็นจริง

ตราบใดที่ยังไม่เห็นว่า อกุศลนั้นเป็นโทษ

ก็จะไม่มีการพากเพียรที่จะละละอกุศลนั้นๆ เลย

และบางครั้งอาจจะไม่รู้จัก สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ว่าเป็นอกุศลประเภทใด เช่น "ตืเสมอ"

ก็เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความสำคัญตนด้วย

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส วรรณนา ทุกนิทเทส

มีข้อความว่า บุคคลใดย่อมตีเสมอ ผู้อื่น

คือไม่แสดงคุณของผู้อื่น ย่อมทำคุณทั้งหลาย คล้ายกับเป็นคุณของตนๆ

เพือนำมาซึ่งความชนะของตน เป็น ลักษณะ

ทำคุณทั้งหลายของตนให้เสมอกับคุณของบุคคลอื่น เป็น รสะ

ดีเท่ากันใช่ไหมคะ เก่งเท่ากัน รู้เท่ากัน

เพราะฉะนั้นย่อมยังคุณของตน ให้แผ่ออกไปเสมอๆ

ข้อความในอรรถกถา ยกตัวอย่างเช่น

ในโรงธัมมสากัจฉา (คือการสนทนาธรรม) ย่อมจะกล่าวเหยียดออกไปซึ่งคุณ

ของตน ให้เสมอๆ กับผู้อื่นว่า "ในวาทะของท่าน และวาทะของเรา เหตุอันแตก

ต่างกันชื่อว่ามีอยู่หรือ ถ้อยคำของพวกเรา ก็เป็นเช่นเดียวกับท่านนั่นแหละ

เปรียบเหมือนแท่งทองคำ อันบุคคลผ่าออกแล้ว ก็เป็นทองคำนั่นแหละ

มิใช่หรือ" ดังนี้

นี่คือสำนวนของคนในยุคนั้น ซึ่งท่านก็มีคำที่สุภาพ แม้กระนั้นก็เป็นการตีเสมอ

แม้แต่จะกล่าวว่าวาทะของท่าน กับวาทะของเรา ก็เป็นเช่นเดียวกับท่านนั่นแหละ

เปรียบเหมือนแท่งทองคำ อันบุคคลผ่าออกแล้ว ก็เป็นทองคำนั่นแหละมิใช่หรือ

ทำไมถึงจะต้องมีการที่จะสำคัญตน ถึงกับจะแสดงคุณของตนเอง ว่า

คุณของตนก็มีเท่ากับบุคคลอื่นนั่นแหละ ซึ่งถ้ามีคุณจริง ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะ

ต้องมีการเปรียบเทียบ ว่าจะต้องเท่ากับบุคคลนั้น บุคคลนี้

เพราะฉะนั้นผู้ที่ตีเสมอจะมีการ

เอาใจใส่ยึดถือ คุณของผู้อื่น เป็นอาการที่ปรากฏ

เพราะว่าถ้าเราไม่คิดถึงคุณของผู้อื่นซึ่งมีมาก แล้วก็อยากจะเหมือน ก็คงจะ

ไม่มีการตีเสมอ ใช่ไหมคะ

เพราะฉะนั้นเมื่อนึกถึงคุณของผู้อื่น ซึ่งมีมาก แต่ก็อยากให้เท่ากับของตนหรือ

ว่าเหมือนกับของตน ด้วยความสำคัญตนในขณะนั้นก็เป็น ปลาสะ คือ "ตีเสมอ"

ด้วยอำนาจของของมานะในขณะนั้น เพราะฉะนั้นก็ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ของ

แต่ละบุคคล มากหรือน้อยตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกได้ ระลึกเร็วก็จะ

หยุดใช่ไหมคะ ก็ไม่ "ตีเสมอ" ต่อไป หรือไม่ลบหลู่ต่อไปได้ เพราะว่าสติ

เกิดระลึกได้ แต่ถ้าสติไม่เกิด ระลึกไม่ได้ ก็จะเป็นอุปนิสสัยที่จะสะสมต่อไป

ซึ่งบุคคลอื่นก็ย่อมจะมองเห็นได้ชัด ในมานะ ของผู้ที่มี กาย วาจา อย่างนั้น

นอกจากนั้นก็มี สาเถยยะ "ความโอ้อวด" นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน

(ยังมีต่อ)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 20 มี.ค. 2554

วันนี้ได้ฟังท่านอาจารย์วิทยากรสนทนาเรื่อง มานะ

ท่านอาจารย์ประเชิญ กล่าวว่า ความสำคัญตน ท่านให้พึงเห็นเสมือนความเป็นบ้า

ช่างเป็นคำเปรียบเปรยที่ถึงใจที่สุดครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 20 มี.ค. 2554

ความจริงเมื่อเราทราบถึงคุณความดีของผู้ใด หากมีการใส่ใจโดยแยบคาย คือ กุศลจิตเกิด ไม่ริษยา ไม่เป็นศัตรู ไม่ยกความดีของตนขึ้นเทียบ ไม่มุ่งการแข่งดีกับผู้อื่น แต่มีใจชื่นชมยินดี มีเมตตา มีมุฑิตา จิตใจอ่อนโยน ไม่กระด้าง ขณะนั้นชื่อว่ารักษาประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีการเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น แต่เมื่อยังไม่ได้ดับมานะเป็นสมุทเฉทการใส่ใจโดยไม่แยบคาย ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดการไหลออกของมานะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย,วาจา หรือ ใจ ทางเดียวที่จะขัดเกลามานะได้ ก็คือ อบรมปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง จนกว่าจะมีปัจจัยให้สติฯ ระลึก และปัญญาเห็นถูกว่า มานะเป็นอกุศลธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน เมื่อเห็นถูกว่ามานะ ไม่ใช่เรา ปัญญาย่อมรู้หนทางที่จะขัดเกลามานะได้มากขึ้น ยิ่งปัญญาเห็นถูกว่าสิ่งที่มีจริง เช่น มานะ เป็นธรรมมากขึ้น ความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้อื่น ก็จะค่อยๆ ลดลงครับ

ทำกระทู้เป็นซีรี่ส์ๆ อย่างนี้ ชวนให้ติดตามอ่านธรรมะตอนต่อไปดีมากครับ

ขอชื่นชมจากใจ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pirmsombat
วันที่ 20 มี.ค. 2554

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 89

๖. มานสูตร

ว่าด้วยละมานะได้เป็นอนาคามี

[๑๘๘] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ

มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราเป็นผู้

รับรองเธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่ง คือ มานะได้ เราเป็นผู้รับรอง

เธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มี-

พระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่ง

มานะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ถือตัวไปสู่ทุคติ

แล้วละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่

โลกนี้ในกาลไหนๆ .

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า

ได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบมานสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 20 มี.ค. 2554

^

^

ตอนแรกที่อ่านก็แปลกใจค่ะว่า ทำไมพระสูตรนี้จึงกล่าวว่า......ละมานะได้เป็นอนาคามี

เลยลองค้นคำอธิบายในอรรถกถาดู ท่านอธิบายว่า ".....ในสูตรนี้ท่านประสงค์มานะอัน

อนาคามิมรรคพึงฆ่าเท่านั้น...."

ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงมานะที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกับธรรมที่พระอนาคามีละได้ เพราะตาม

ระดับขั้นของสติปัญญาแล้ว มานานุสัยละได้ด้วยอรหัตตมรรคเท่านั้นค่ะ

ป.ล. เดี๋ยวนี้มาเป็นซีรีย์เลยนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 21 มี.ค. 2554

เป็น..ซีรีย์..ที่ตามอ่านคะ..เพราะอ่านแล้วเตือนใจและทำให้เข้าใจสังคมในชีวิตประจำวัน

ได้เป็นอย่างดี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pirmsombat
วันที่ 21 มี.ค. 2554

ตอบความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ขอบคุณคุณหน่องมากครับ

เชิญอ่าน

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 485

ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนชั้นเดียวกัน ย่อมเกิดขึ้นแก่อิสสรชน

มีอมาตย์เป็นต้น. ด้วยว่าอมาตย์ย่อมกระทำความถือตัวทั้งหลายเหล่านั้นว่า

ราชบุรุษอื่นมีใครที่เสนอเราด้วยสมบัติในแว่นแคว้น หรือโภคะยานพาหนะ

เป็นต้น ดังนี้บ้าง. ว่าเรามีการกระทำต่างอะไรกับราชบุรุษอื่นๆ ดังนี้บ้าง,

ว่า เรามีชื่อว่า อมาตย์เท่านั้น แต่ไม่มีแม้สักว่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม

เราชื่อว่าอมาตย์อะไร ดังนี้บ้าง.

ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนเลว เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่พวก

ทาสเป็นต้น. ด้วยว่าทาสย่อมกระทำความถือตัวทั้งหลายเหล่านี้ว่า ชื่อว่า

ทาสอื่นมีใครที่เสมอเราฝ่ายมารดาก็ตาม ฝ่ายบิดาก็ตาม ทาสอื่นๆ ไม่อาจ

จะเป็นอยู่ เกิดเป็นทาสเพราะปากท้อง แต่เราดีกว่า เพราะมาตามเชื้อสาย

ดังนี้บ้าง, ว่า เรามีการกระทำต่างอะไรกับทาสชื่อโน้น ด้วยความเป็นทาส

แม้ทั้งสองฝ่าย เพราะมาตามเชื้อสาย ดังนี้บ้าง, ว่า เราเข้าถึงความเป็นทาส

เพราะปากท้อง แต่ไม่มีฐานะทาสโดยที่สุดแห่งมารดา บิดา เราชื่อว่าทาส

อะไรดังนี้บ้าง.

แม้พวกปุกกุสะและพวกจัณฑาลเป็นต้น ก็กระทำความถือตัวเหล่านี้

เหมือนทาสนั่นแล.

ก็ในบทนี้ ความถือตัวที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนดี

เป็นความถือตัวที่แท้ ความถือตัว ๒ อย่างนอกนี้ มิใช่ความถือตัวที่แท้

บรรดาความถือตัวที่แท้และไม่แท้ ๒ อย่างนั้น

ความถือตัวที่แท้ฆ่าด้วยอรหัตตมรรค,

ความถือตัวที่ไม่แท้ ฆ่าด้วยโสดาปัตติมรรค.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
SOAMUSA
วันที่ 5 ต.ค. 2554

กราบอนุโมทนา ท่านอาจารย์และทุกๆ ท่านค่ะ

ขอนำเรื่องที่จะรู้ตัวว่ามีมานะแค่ไหนฯ ไปเผยแผ่ที่กระทู้ในเวปอื่นค่ะ

อ่านแล้วได้ข้อเตือนตัวเองมากมายค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ