ทุติยโอวาทสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 มี.ค. 2554
หมายเลข  18078
อ่าน  1,884

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

ในวันเสาร์ ๒๖ มี.ค. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ทุติยโอวาทสูตร

(ว่าด้วยการให้โอวาทภิกษุทั้งหลาย)

...จาก...

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ หน้าที่ ๕๗๓-๕๗๖

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ หน้าที่ ๕๗๓-๕๗๖

๗. ทุติยโอวาทสูตร

(ว่าด้วยการให้โอวาทภิกษุทั้งหลาย)

[๔๘๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้นแลท่านพระมหากัสสป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย.

[๔๙๐] ท่านพระมหากัสสป กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญภิกษุทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายากไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรม ย่อมเสื่อมจากวรรณ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา... ไม่มีหิริ... ไม่มีโอตตัปปะ... ไม่มีความพากเพียร...ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิรินี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีโอตตัปปะนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้านนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทรามนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ เป็นความเสื่อมโทรม.

[๔๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลบางคนมีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีความเพียร มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนผู้มีศรัทธา... มีหิริ...มีโอตตัปปะ... มีความเพียร ... มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลมีศรัทธานี้ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีหิรินี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีโอตตัปปะนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีความพากเพียรนี้ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มักโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่ผูกโกรธนี้

ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ไม่เป็นความเสื่อมโทรม.

[๔๙๒] พ. ดีแล้ว ดีแล้ว กัสสป บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา... ไม่มีหิริะ...ไม่มีโอตตัปปะ... ไม่มีความเพียร... ไม่มีปัญญา ในกุศล ธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรม ย่อมเสื่อมจากวรรณ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา... ไม่มีหิริ... ไม่มีโอตัปปะ... ไม่มีความเพียร... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลยเหมือนฉะนั้น ดูก่อนกัสสปข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิริ ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ฯ ลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้าน ฯ ล ฯข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทราม ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธ ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้เป็นความเสื่อมโทรม.

[๔๙๓] ดูก่อนกัสสป บุคคลบางคนมีศรัทธา... มีหิริ... มีโอตตัปปะ... มีความเพียร... มีปัญญา ... ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น ย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้างในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนผู้มีศรัทธา... มีหิริ...มีโอตตัปปะ... มีความเพียร... มีปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเสื่อมไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น ดูก่อนกัสสปข้อที่บุรุษบุคคลมีศรัทธานี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีหิริ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีโอตตัปปะ ฯลฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีความเพียร ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญา ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนไม่มักโกรธ ฯ ล ฯ ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนไม่ผูกโกรธนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ ไม่เป็นความเสื่อมโทรม ดังนี้.

จบทุติยโอวาทสูตรที่ ๗

อรรถกถาทุติยโอวาทสูตรที่ ๗

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยโอวาทสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้.

บทว่า สทฺธา ได้แก่ ศรัทธาที่มั่นคง.

บทว่า วิริย ได้แก่ความเพียรทางกายและทางจิต.

บทว่า ปญฺญา ได้แก่ ปัญญรู้กุศลธรรม.

บทว่า น สนฺติ ภิกฺขู โอวาทกา ท่านพระกัสสปะ แสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนี้ว่า บุคคลนี้ไม่มีภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร ผู้โอวาทพร่ำสอน ดังนี้ เป็นความเสื่อม.

จบอรรถกถาทุติยโอวาทสูตรที่ ๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ทุติยโอวาทสูตร

(ว่าด้วยการให้โอวาทพระภิกษุทั้งหลาย)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน พระองค์ตรัสกับท่านพระมหากัสสปะว่า เราหรือเธอ ควรกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย

ท่านพระมหากัสสปะ กราบทูลว่า ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ ผู้ที่ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญาในกุศลธรรมย่อมมีแต่ความเสื่อม หาความเจริญมิได้ เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรม ที่เสื่อมจากรัศมี ไม่มีความสว่างไสว, การไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีความเกียจคร้าน ไม่มีปัญญา มักโกรธ ผูกโกรธ และ การไม่มีผู้ว่ากล่าวสั่งสอน เป็นความเสื่อม ส่วนผู้ที่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญาในกุศลธรรม ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม เปรียบเหมือนกับพระจันทร์ในข้างขึ้น ที่เต็มไปด้วยรัศมีสว่างไสว, การมีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ และการมีผู้ว่ากล่าวสั่งสอน นั้น ไม่เป็นความเสื่อม เมื่อท่านพระมหากัสสปะกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงชื่นชมว่าดีแล้ว พร้อมทั้งได้ทรงแสดงธรรมอย่างนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

ข้างขึ้น - ข้างแรม

ผู้ว่ายาก กับ ผู้ว่าง่าย ๑ [อรรถกถา เมตตสูตร]

หิริ โอตตัปปะ ละอายและรังเกียจ ในอวิชชา

กุศลธรรม

โทษของความโกรธ

ความเสื่อมและความเจริญของปัญญา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 21 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 21 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 22 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jans
วันที่ 22 มี.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paew_int
วันที่ 22 มี.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 22 มี.ค. 2554
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nity
วันที่ 23 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
dum
วันที่ 24 มี.ค. 2554

ขอขอบพระคุณอ.khampan.a สาธุๆ ๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 26 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ