อภิธรรมในชีวิต [40] ปัญหาที่ทรงพยากรณ์ และ ไม่ทรงพยากรณ์

 
พุทธรักษา
วันที่  21 มี.ค. 2554
หมายเลข  18086
อ่าน  1,347

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 

"ปัญหา" ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงพยากรณ์ และ ไม่ทรงพยากรณ์

คนในสมัยพุทธกาลก็คาดฝันใน "สิ่งที่ไม่นำไปสู่จุดหมายของพระธรรม" เขาสงสัยว่า โลกมีที่สุด หรือ ไม่มีที่สุด โลกเที่ยง หรือ ไม่เที่ยง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่

ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จูฬมาลุงกโยวาทสูตร มีข้อความว่า ท่านพระมาลุงกยบุตร ไม่พอใจ ที่พระผู้มีพระภาคฯไม่ทรงพยากรณ์ "ทิฏฐิเหล่านั้น" ท่านต้องการที่จะทูลเนื้อความนั้น ต่อพระผู้มีพระภาคฯ และ ถ้าพระผู้มีพระภาคฯ ไม่ทรงพยากรณ์ ท่านก็จะลาสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสถามท่านว่า พระองค์ ได้เคยตรัสกะท่านดังนี้หรือ ว่า "ดูกร มาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอ หรือ ว่าเธอ จงมาประพฤติพรหมจรรย์ ในเราเถิด เรา จักพยากรณ์แก่เธอ ว่า โลกเที่ยง หรือ โลกไม่เที่ยง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่"

ท่านพระมาลุงกยบุตร ทูลตอบว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสถามท่านต่อไป ว่าท่านได้เคยทูลพระองค์ ว่า ตนจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคฯ ถ้าพระผู้มีพระภาคฯ จักทรงพยากรณ์ "ทิฏฐิเหล่านี้" แก่ท่าน หรือ ท่านพระมาลุงกยบุตร ทูลตอบว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสอุปมาว่า บุรุษ ต้องศรอาบยาพิษ แต่เขาไม่ยอมเอาลูกศรออกจนกว่าจะรู้จัก บุรุษผู้ยิงตนนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ แพศย์ หรือ ศูทร มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ธนูที่ใช้ยิงตน เป็นชนิดมีแล่ง หรือ เกาทัณฑ์ บุรุษนั้น พึงทำกาละไป ก่อนที่จะรู้ข้อนั้น เช่นเดียวกับบุคคลจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคฯ ก็ต่อเมื่อพระผู้มีพระภาคฯ ทรงพยากรณ์ "ทิฏฐิเหล่านั้น" แก่พวกเขา

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า "ดูกร มาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมณ์จรรย์ หรือ ก็ไม่ใช่ อย่างนั้น

ดูกร มาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่เที่ยง ดังนี้ จักมีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ หรือ แม้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่

ดูกร มาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง หรือ โลกไม่เที่ยงอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส ก็ยังมีอยู่เทียว เราจึงบัญญัติ "ความเพิกถอน" ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส ใน "ปัจจุบัน"

ดูกร มาลุงกยบุตรเพราะเหตุนี้แล เธอทั้งหลาย จงทรงจำปัญหา ที่เราไม่พยากรณ์โดย ความเป็นปัญหา ที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหา ที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหา ที่เราพยากรณ์ เถิด

ดูกร มาลุงกยบุตร อะไรเล่า ที่เราไม่พยากรณ์

ดูกร มาลุงกยบุตร ทิฏฐิ ว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง ดูกร มาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้น เราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ ข้อนั้น

ดูกร มาลุงกยบุตร อะไรเล่า ที่เราพยากรณ์

ดูกร มาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ ทุกข์ นี้ เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ ความดับทุกข์ นี้ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้ เราจึงพยากรณ์ ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน"

ความสงสัย (วิจิกิจจฉา) จะหมด ไม่ได้ ด้วยการคาดคะเน "เรื่องต่างๆ ที่ไม่ทำให้ดับกิเลส" แต่ ความสงสัย (วิจิกิจฉา) จะหมดไปได้ ด้วยการระลึก รู้ ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม ที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง และ แม้จะเกิดความสงสัย "สติ" ก็สามารถระลึก และ" ปัญญา" ก็รู้ได้ ว่า"ความสงสัย" เป็นเพียง "นามธรรม" ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน


หนังสือ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" [Abhidhamma in Daily Life] โดย นีน่า วันกอร์คอม แปลโดย อ. ดวงเดือน บารมีธรรม จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เปิดอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ...

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลสัทธาและวิริยะของท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 22 มี.ค. 2554

ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น (อริยสัจจ์ ๔) เพราะข้อนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน"

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 22 มี.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ