ขับรถชนสุนัข ไม่หยุดรถให้คนตาบอดข้ามถนนในที่จราจรหนาแน่น

 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่  28 มี.ค. 2554
หมายเลข  18112
อ่าน  3,758

ผมได้ยินว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลของการกระทำในอดีด พอดีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับผม 2 เหตุการณ์ในวันเดียวกัน คือ ตอนกลางวัน ผมกำลังขับรถบนถนนสายหลักด้วยความเร็วปกติ มีสุนัขวิ่งข้ามถนน ผมบีบแตรเสียงดังเพื่อให้มันหยุด แต่มันก็ยังวิ่งเข้ามาเหมือนจะหนีอะไรมา ผมจึงเฉี่ยวมันไป แต่มันไม่น่าจะตาย ผมเสียใจว่าปกติเราไม่ฆ่าสัตว์ ก็มามีเหตุให้ต้องทำลายชีวิตสัตว์ การหยุดรถทันทีบนถนนสายหลักอันตรายอยู่ พอตอนเย็นผมขับรถไปในย่านชุมชน ผ่านสี่แยก ติดไฟแดง พอไฟเขียวก็ออกรถตรงไป มีรถหลายคันตามกันมาติดๆ มีคนข้ามถนนอยู่กลางถนนไม่มองรถ ผมก็บีบแตร เขาหันมาแล้วหยุด ผมจึงรู้ว่าเขาตาบอด ผมละอายใจมาก ปกติผมจะสงสาร แต่มีเหตุให้เป็นคนที่ขาดเมตตา กรุณา ทั้ง 2 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ขอถามว่า เป็นผลของกรรมในอดีดใช่ไหมครับ? มีวิธีป้องกันอย่างไรครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล วิบาก (ผลของกรรม) เป็นผลของกรรม ควรเข้าใจความจริงว่าขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นผลของกรรมเป็นวิบาก แต่ขณะใดที่ชอบ โกรธ ไม่สบายใจเสียใจ เป็นต้น ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรมในอดีต ไม่ใช่วิบาก แต่เป็นการสะสมมาของจิตที่เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง ความเสียใจ ความไม่พอใจจึงไม่ใช่ผลของกรรมครับ

ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด การพิจารณาธรรมจึงไม่ใช่พิจารณาเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่ต้องพิจารณาทีละขณะ ขณะเห็นสิ่งต่างๆ เป็นผลของกรรม ขณะที่ไม่พอใจ เสียใจเมื่อเห็นแล้วไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นจิตที่เป็นอกุศลครับ ประโยชน์ของการเข้าใจพระธรรม จึงทำให้เห็นตามความเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2554

กรรมขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ เมื่อไม่มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ จงใจฆ่าสัตว์ ขณะนั้นไม่เป็นปาณาติบาต ไม่เป็นกรรมที่จะทำให้ได้ผลไม่ดีเพราะไม่ได้มีเจตนาจงใจฆ่า แม้สัตว์นั้นจะตายก็ตามทีครับ ดังเช่น เหยียบมดโดยที่เราไมได้ตั้งใจเหยียบ พยายามหลบแต่หลบไม่พ้นก็เหยียบมดไป จิตขณะนั้นไม่ได้มีความจงใจที่จะฆ่าสัตว์จึงไม่เป็นอกุศลกรรมที่จะให้ผลไม่ดีครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่...

บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนา

ในชีวิตประจำวัน จิตจึงเป็นกุศล อกุศลบ้าง ในเหตุการณ์ที่ประสบในชีวิตประจำวัน ควรเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมและเป็นธรรมดา ก็ย่อมเดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าไม่รู้ความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2554

วิธีป้องกันจึงไม่ใช่การพยายามไม่ให้อกุศลหรือสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นที่ใจเรา แต่หนทางคือการอบรมปัญญาด้วยการฟังฟังพระธรรมให้เข้าใจ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นอนัตตา หนทางที่ถูกคือเข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะเราถูกอวิชา คือ ความไม่รู้ หลงยึดถือว่าเป็นเราที่ไม่ดี เป็นเราที่มีอกุศล แต่ปัญญาหรือสัจจะความจริงคือไม่มีเรา มีแต่ธรรม หนทางคืออบรมปัญญาเข้าใจความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมและเป็นอนัตตา โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม เริ่มจากฟังให้เข้าใจก่อนครับว่าธรรมคืออะไร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 มี.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น จะไปเหมารวมว่าเป็นผลของกรรมทั้งหมด ไม่ได้ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ส่วนที่ได้รับผลของกรรมเท่านั้น ยังมีส่วนที่เป็นเหตุ คือ กุศล และ กุศล ด้วย กุศลกรรมที่ทำแล้ว ให้ผลเป็นวิบากจิต คือ จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดี จิตได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ จิตได้กลิ่นที่ไม่ดี จิตลิ้มรสไม่ดี จิตกระทบสัมผัสทางกายที่เย็นเกินไป ร้อนเกินไป แข็งเกินไป ซึ่งจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้สร้างเหตุที่ไม่ดี คือกุศลกรรมไว้ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมแล้ว ก็จะตรงกันข้ามกัน คือ ได้เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ได้กลิ่นที่ดีน่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เป็นต้น นี้คือ ส่วนที่เป็นผลของกรรม (วิบากจิต) ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เกิดความเสียใจ ทุกข์ใจ ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้น เพราะยังมีกิเลส ที่ได้สะสมมา จึงทำให้กุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น

และตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งพระนิพพานบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็มีเหตุปัจจัยให้กระทำกุศลกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ตาม ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ โดยที่รู้ว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ได้ กิเลสทั้งหลาย ดับได้ด้วยปัญญา แต่ถ้าปัญญาในระดับที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้ทำกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ตามกำลังของกิเลส ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 29 มี.ค. 2554

ขอบคุณท่าน paderm ท่าน khampan.a และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
win@wavf
วันที่ 30 มี.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 1 เม.ย. 2554

เรียน ถามท่านkhampan.a ที่นับถือ

ท่านกรุณาแสดงความคิดเห็น ทำให้ผมเห็นจริงในข้อธรรมที่ว่า ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น จะไปเหมารวมว่าเป็นผลของกรรมทั้งหมดไม่ได้ เพราะตามความเป็นจริงแล้วชีวิตไม่ใช่ว่าจะมีแต่ส่วนที่ได้รับผลของกรรมเท่านั้นยังมีส่วนที่เป็นเหตุ คือ กุศล และอกุศล ด้วย,อกุศลกรรมที่ทำแล้วให้ผลเป็นวิบากจิต ผมก็ได้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันว่า นี้เป็นผลของกรรม นี่เป็นกรรม เช่น เมื่อสิ่งใดเกิด ก็พอจะรู้ว่ามีสิ่งใดเกิดตามมา ผ่านไปได้สองสามวันเกิดความสงสัย ประกอบกับฟังเรื่องการเจริญสติปัฎฐานจากแผ่น CD ของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ย้ำนักว่า ให้ระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏว่า "ปัญญาไม่ใช่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ" จึงขอถามท่านอีก ดังนี้

1.) กรรมที่ทำในชีวิตประจำวันให้ผลในชีวิตประจำวันด้วยไหมครับ

2.) การระลึกในสิ่งที่กำลังปรากฏทำให้รู้ว่านี้เป็นผลของกรรม นี้เป็นกรรม และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช้เป็นเรื่องของเวรกรรม จะพูดว่า "แล้วแต่เวรกรรม" ไม่ได้ใช่ไหม ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 1 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 7 ครับ

๑) กรรมที่ทำในชีวิตประจำวันให้ผลในชีวิตประจำวันด้วยไหมครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า กรรม หมายถึงอะไร กรรม คือ การกระทำ เป็นความจงใจ ความตั้งใจกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก กรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและกุศลกรรม เป็นสภาพที่ปกปิด เพราะเหตุว่าเราไม่สามารถเลยว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น จะให้ผลเมื่อใด ให้ผลในชาตินี้ ในชาติหน้า หรือ ในชาติต่อๆ ไป ก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ส่วนคำถามข้อที่ ๒ นั้น ขอแสดงความคิดเห็นว่า สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจ ถึงแม้จะไม่ใช้คำอะไรก็ได้ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่สภาพธรรมจะเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงจะสามารถรู้ได้ ขอให้ฟังพระธรรมต่อไปนะครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 2 เม.ย. 2554

ครับปัญญาเหมือนศรัสตรา การรู้ การเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏกอปรด้วยคุณเป็นอันมากนะครับท่าน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 2 เม.ย. 2554

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 15 เม.ย. 2554

เรียน ท่าน Khampan.a

มีผู้ก่อนนอนเห็นกลอนประตูเปิด คิคตำหนิผู้ที่ลืมปิด เก็บไปนอนฝันว่ามีคนเข้ามา ละเมอไล่ส่งเสียงดัง ผมนึกถึงคำของท่านKhampan.a ได้ว่า จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย ผมขอถามว่า

1. การเห็นกลอนประตูเปิดเป็นวิบากหรือ

2. การคิดตำหนิผู้ที่ลืมปิดเป็นการสะสมกรรมหรือ

3. การเก็บไปฝันเป็นผลของกรรมที่คิดตำหนิผู้ที่ลืมปิดหรือ

4. การฝันมีอารมณฺที่เป็นกิเลส จะสะสมกิเลสต่อไปอีกไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 15 เม.ย. 2554

ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ได้ยินเสียงดีหรือไม่ดี ฯลฯ ทุกขณะก็เป็นผลของกรรม เช่น ขณะที่กุศลจิตเกิดให้ทานครั้งหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยให้ทานอีก หรือ ขณะที่อกุศลจิตเกิด โกรธครั้งหนึ่งก็เป็นปัจจัยให้โกรธอีก กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นสะสมอยู่ในจิตทุกขณะ ปุถุชนยังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องฝันเป็นธรรมดา ส่วนพระอรหันต์ดับกิเลสหมดแล้วไม่ฝ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
khampan.a
วันที่ 15 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สืบเนื่องจากความคิดเห็นที่ 11 ครับ

ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ต่อจากพี่วรรณี ดังนี้ ครับ

๑. เห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เห็น ย่อมเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็นเพียงสีเท่านั้น ขณะที่คิดนึกเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่เห็น ครับ

๒. ขณะที่ตำหนิการกระทำของผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปเกิดความไ่ม่พอใจในพฤติกรรมของผู้อื่น เสียเวลากับอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้นสะสมเป็นอกุศลต่อไป

๓. ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องฝันตามเหตุตามปัจจัย ฝัน ไม่ใช่ในขณะที่หลับสนิทเพราะขณะที่หลับสนิทจะไม่ฝัน ฝัน ก็เป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิตที่ฝัน ฝันจึงไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่ฝัน เป็นผลมาจากการสะสม นั่นเอง

๔. เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ตามสมควรแก่จิต นั้นๆ ในขณะที่ฝัน สิ่งที่ฝันถึงย่อมไม่พ้นไปจากเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเห็น เคยได้ยิน ฯลฯ มาแล้วซึ่งก็เป็นกุศลจิตหรือ อกุศลจิตที่ฝัน กุศลหรืออกุศลที่เกิดขึ้นก็สะสมต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Jans
วันที่ 15 เม.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาคะ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วินิจ
วันที่ 8 พ.ค. 2554

"เรากล่าวเจตนาว่า เป็นกรรม" กรรมคือ... วิบากกรรมคือ...

1. ขับชนคนบาดเจ็บโดยไม่เจตนาคือกรรมหรือไม่?

2. คนบาดเจ็บตามปองร้ายคือวิบากกรรมหรือไม่?

3. ตำรวจจับคนชนแม้ไม่เจตนาคือวิบากกรรมหรือไม่?

4. จิตรู้สึกไม่สบายใจและบันทึกลงใน"สัญญาเจตสิก"ถือเป็นวิบากกรรมหรือไม่?

5. จาก 1-4 ถ้าโดยเจตนา ข้อไหนจัดเป็นวิบากกรรมที่แท้จริง

6. เผลอเดินเหยียบแมลงป่อง ถูกต่อยขาเป็นวิบากกรรมหรือไม่

7. "วิบากกรรม" คือ สำนึกที่บันทึกในจิต หรือที่ผู้ถูกกระทำกระทำคืน

...ขอขอบคุณครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 8 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 15 ครับ

"เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม" กรรมคือ...? วิบากกรรมคือ...?

กรรม คือ การกระทำที่มีความตั้งใจที่เป็นเจตนา กรรมมีทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม คือกรรมดีและกรรมไม่ดี หรือเจตนาที่ดีหรือไม่ดีครับ

วิบากกรรม คือ ผลของการกระทำ ผลของกรรมที่ได้ทำมา วิบากกรรมคือขณะที่เกิด ขณะที่ตาย ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม เป็นวิบากกรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ครับ

1. ขับชนคนบาดเจ็บโดยไม่เจตนาคือกรรมหรือไม่?

สภาพธรรมทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีเจตนาแล้ว เจตนานั้นจะต้องเป็นเจตนาที่ทุจริต ไม่ดี การขับรถชนผู้อื่นโดยไม่ไ่ด้มีเจตนาทุจริตทำร้าย ไม่ได้เป็นอกุศลกรรมที่จะทำต้องได้รับผลของกรรมเพราะไม่มีเจตนาไม่ดี จงใจ ตั้งใจทำร้ายผู้อื่นครับ เจตนาจึงเป็นกรรม

2. คนบาดเจ็บตามปองร้ายคือวิบากกรรมหรือไม่

เวลาจะพิจารณาสภาพธรรมก็ต้องพิจารณาทีละขณะจิต ไม่ใช่เรื่องราวเพราะเรื่องราวที่ยาวนั้นก็มีจิตเกิดดับนับไม่ถ้วนแล้ว ครับ วิบากกรรมหรือผลของกรรมคือขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส เมื่อไหร่ที่เห็นขณะนั้นเป็นผลของกรรม เมื่อไหร่ที่ได้ยินเสียงเมื่อนั้นเป็นผลของกรรม เมื่อไหร่ที่ได้กลิ่นเป็นผลของกรรมหรือวิบากกรรม ขณะที่ลิ้มรส ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ขณะรู้กระทบสัมผัสเป็นผลของกรรม เป็นวิบากกรรมครับ

3. ตำรวจจับคนชนแม้ไม่เจตนาคือวิบากกรรมหรือไม่

โดยนัยเดียวกันกับข้อ 2 ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ไม่ต้องรอตำรวจจับขณะนี้มีผลของกรรมที่เป็นวิบาก ขณะตำรวจจับก็มีเห็น ได้ยิน ... ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ครับ

4. จิตรู้สึกไม่สบายใจและบันทึกลงใน"สัญญาเจตสิก"ถือเป็นวิบากกรรมหรือไม่

ขณะที่ไม่สบายใจเป็นจิตที่เป็นอกุศลคือโทสะ ขณะที่เป็นโทสะ ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผลของกรรม ขณะที่เป็นผลของกรรมคือขณะที่เห็น ได้ยิน ... รู้กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ครับ

5. จาก 1-4 ถ้าโดยเจตนา ข้อไหนจัดเป็นวิบากกรรมที่แท้จริง

ขณะที่มีเจตนาทำกรรม ทำกุศลกรรมหรือกุศลกรรม ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรม ขณะที่เป็นผลของกรรมคือขณะที่เห็น ได้ยิน ... รู้กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบากกรรม ครับ

6. เผลอเดินเหยียบแมลงป่องถูกต่อยขาเป็นวิบากกรรมหรือไม่

ขณะที่กระทบสัมผัสไม่ดี เจ็บ ขณะนั้นเป็นผลของกรรมเป็นวิบากกรรมครับ แต่ขณะที่ทุกข์ใจ ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรมครับ

7. "วิบากกรรม"คือสำนึกที่บันทึกในจิต หรือที่ผู้ถูกกระทำกระทำคืน

วิบากกรรมไม่ใช่ขณะที่กระทำคืน ทำร้ายคืน เพราะขณะที่ทำร้ายคืนมีเจตนาที่ไม่ดี เป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมเป็นเหตุ ส่วนขณะที่เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากก็คือขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้กระทบสัมผัส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
วินิจ
วันที่ 9 พ.ค. 2554

ขอบคุณมากๆ ครับ คงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก

ขอบคุณจริงๆ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
pamali
วันที่ 31 พ.ค. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
papon
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
jirat wen
วันที่ 13 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
Tommy9
วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ