การบวชทดแทนพระคุณของมารดาบิดา

 
โชติธัมโม
วันที่  28 มี.ค. 2554
หมายเลข  18113
อ่าน  2,181

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยและท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยเศียรเกล้า

"การบวชทดแทนพระคุณของมารดาบิดา" ไม่พบในพระไตรปิฎก มีแต่บวช เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพื่อความเข้าใจที่ ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ การบวช คือ อะไร เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ เป็นคฤหัสถ์ ดำรงตนอยู่ในพระธรรมคำสอน ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม พร้อมทั้งมีการอบรม เจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวันก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดีได้ (โดยไม่ต้องบวชถือเพศเป็นบรรพชิตก็ได้)

บุญหรือกุศลเกิดขึ้นกับใครก็เป็นบุญของคนนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็น กุศลของคนนั้น ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ก็ไม่ใช่บุญในขณะนั้น กุศลหรือบุญไม่ใช่การที่ อีกคนหนึ่งทำแล้ว คนที่อยู่ใกล้ชิดก็จะได้รับหรือเป็นบุญด้วย ใครทำใครก็ได้ครับ ใครกุศลจิตเกิดก็เป็นบุญของคนนั้นครับ

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า การที่ให้บุตรบวชชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อบุตรบวชแล้ว บิดามารดาจะได้บุญ หากไม่มีความเข้าใจหรือกุศลจิตไม่เกิดก็ไม่ใช่บุญครับ ดังเช่น มารดาของพระสารีบุตรที่ท่านมีความเห็นผิด เมื่อพระสารีบุตรบวช และลูกๆ ของท่านอีกหลายคนบวช มารดาของพระสารีบุตรก็โกรธไม่พอใจ อย่างนี้เรียกว่าได้บุญหรือไม่ ขณะที่โกรธ ซึ่งการตอบแทนพระคุณของบิดาและมารดาที่ประเสริฐสุดคือให้ท่านเข้าใจพระธรรม ดังเช่นพระสารีบุตรได้กลับมาบ้านเกิด เมื่อคราวจะปรินิพพานก็ได้สดงธรรมให้ท่านบรรลุธรรมครับ ในสมัยครั้งพุทธกาล

จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ที่มีอัธยาศัยในการบวช (ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต) นั้น เพราะท่านได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจเห็นโทษภัยของกิเลส พร้อมทั้งเห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่าการที่ จะอยู่ครองเรือนแล้วจะขัดเกลากิเลสของตนเองให้หมดจดได้นั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากว่าการอยู่ครองเรือนคับแคบ เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมมากมาย ท่านจึง สละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่เพศบรรพชิต ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสสูงสุด คือ เพื่อความเป็นพระอรหันต์

แต่สำหรับในยุคปัจจุบันในสังคมไทย ยากที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยมากมักจะบวชตามประเพณี ๗ วันบ้าง ๑๕ วัน บ้าง เป็นต้น และก็มักจะได้ยินคำว่า บวชเพื่อทดแทนพระคุณของมารดาบิดา ถ้าหากจะมีคำถามย้อนถามว่า ดำรงเพศคฤหัสถ์ทดแทนพระคุณของท่านทั้งสองไม่ได้หรือ (คำตอบคือ ได้ และ สามารถกระทำได้อย่างครบถ้วนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้าใจพระธรรม) ถ้าผู้ศึกษาทราบว่า บุญคืออะไร ได้บุญคืออะไร ท่านก็จะตอบปัญหาได้ต้วยตนเอง เพราะบุญคือกุศลจิต ที่เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีทาน เป็นต้น ถ้างานบวชลูกเลี้ยงแขกด้วยการ ฆ่าไก่ ฆ่าหมู ฆ่าวัว เลี้ยงสุรา หมอลำเป็นต้น แล้วกุศลจิตอยู่ที่ไหน เมื่อลูกบวชแล้วประพฤติตามพระธรรมวินัยหรือไม่ หรือเข้าไปย่ำยีสิกขาบท ทำลายพระศาสนา บุญอยู่ที่ไหน

... ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในข้ออรรถข้อธรรมที่ คุณ khampan.a , คุณ paderm ,และคุณ prachern.s ที่ช่วยไขความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยเศียรเกล้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Sensory
วันที่ 30 มี.ค. 2554

ขออนุโมทนาคุณโชติธัมโมค่ะ

ดิฉันเคยได้ยินว่า ควรบวชด้วยศรัทธาจริงๆ แต่ทว่าในสังคมทั่วไป แม้แต่คำว่าศรัทธายังเข้าใจผิดๆ เอาคำบาลีไปปนกับภาษาไทยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wirat.k
วันที่ 31 มี.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 2 เม.ย. 2554
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lovedhamma
วันที่ 24 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนา คุณโชติธัมโม เป็นอย่างยิ่งนะครับกับหัวข้อนี้ เพราะความคิดเริ่มต้นเลยที่ผมคิดคือ "เอ๊ะ! บัญญัติของการบวชมีตั้ง 227 ข้อ" แล้วคนที่บวชๆ กันน่ะ เค้าปฏิบัติกันอย่างไรเหรอ? ปฏิบัติกันครบถ้วนมั้ย? ถ้าปฏิบัติตามไม่ครบ แล้วมันจะเป็นผลยังไง/จะบาปมั้ย? และที่สำคัญ..."ถ้าจะใช้ชีวิตอย่างคฤหัสถ์แล้วดี จริงๆ ให้ได้"...จะต้องทำอย่างไรดี? ผมได้อ่านแล้ว รู้สึกอิ่มใจและขออนุโมทนาจริงๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ