อภิธรรมในชีวิต [42] เวทนา ความรู้สึก

 
พุทธรักษา
วันที่  2 เม.ย. 2554
หมายเลข  18129
อ่าน  1,447

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวทนา-ความรู้สึก

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สัลลลัตถสูตร

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสกะพระภิกษุทั้งหลาย ว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลายปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับแล้วย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวก ผู้สดับแล้วย่อมเสวยทุกขเวทนาบ้าง สุขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ดูกร ภิกษุทั้งหลายในชน ๒ จำพวก นั้นอะไร เป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับ กับ ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลายปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้วย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงายเขาย่อมเสวย เวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และ เวทนาทางใจ

อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้นปฏิฆานุสัย-เพราะทุกขเวทนานั้นย่อมตามเขา-ผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เขา-อันผู้ถูกทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุขข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับย่อมไม่รู้ อุบาย เครื่องสลัดออกจากทุกเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลิน กามสุขอยู่ราคานุสัย เพราะสุขเวทนานั้น ย่อมนอนเนื่อง ... "

นี่ไม่ใช่ชีวิตจริงๆ หรือ เมื่อเกิดทุกขเวทนา ก็ (รู้สึก) โทมนัสเมื่อเกิดสุขเวทนา ก็ (รู้สึก) โสมนัส เรามักคิดว่า สุขเวทนาเป็นความสุขที่แท้จริงเราไม่เห็นตามความเป็นจริง ว่า ชีวิตเป็นทุกข์เราไม่อยากเห็นความเจ็บป่วย ความชรา ความตาย ความโศกเศร้า ความสิ้นหวังและ ความไม่ยั่งยืนของ "สังขารธรรม" ทั้งหลาย เราหวังจะมีความสุขในชีวิตและ เมื่อมีความทุกข์ เราก็คิดว่า สุขเวทนา จะทำให้ความทุกข์หมดไปเราจึง "ยึดมั่น" ใน สุขเวทนา

พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท ว่าเวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหาและ ทุกขเวทนา ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา ด้วยเพราะว่า เรา "ต้องการ" ที่จะพ้นจากทุกขเวทนา

ข้อความในพระสูตร มีต่อไปว่า "เขาย่อมเสวย สุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนาเป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส-เสวยทุกขเวทนานั้นและ ย่อมเสวย อทุกขมสุขเวทนาเป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลายปุถุชน-ผู้ไม่ได้สดับ นี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสเรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วย ทุกข์ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลายฝ่ายอริยสาวก ผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอก คร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงายเธอ ย่อมเสวยเวทนา ทางกาย อย่างเดียวไม่ได้เสวยเวทนา ทางใจ ฯ

ถ้าเธอเสวยสุขเวทนาย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยสุขเวทนา นั้นถ้าเสวยทุกขเวทนาย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยทุกขเวทนา นั้นถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนา นั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลายอริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว นี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส และ อุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์"

เวทนา เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเวทนา ไม่เที่ยงไม่ควรยึดถือเวทนา ว่า เป็นตัวตน.

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค หาลิททกานิสูตรมีข้อความว่าเกี่ยวกับ เวทนา ว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ อยู่ที่เรือนสกุล ใกล้กับสังปวัตตบรรพต ในอวันตีชนบทครั้งนั้นแลหาลิททกานิคฤหบดี เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจายนะ ว่า "พระผู้เป็นเจ้า ผู้เจริญพระผู้มีพระภาคฯ ได้ตรัสไว้ดังนี้ ว่า ความต่างกันแห่งเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัย ความต่างกันแห่งผัสสะ ดังนี้.

พระผู้เป็นเจ้า ผู้เจริญ ความต่างกันแห่งผัสสะ ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัย ความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัย ความต่างกันแห่งผัสสะ อย่างไรหนอแล"

"ดูกร คฤหบดีภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เห็นรูป ด้วยจักษุ แล้วย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้ น่าพอใจสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณ และ ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา

อนึ่ง ภิกษุเห็นรูป ด้วยจักษุ อย่างนั้นแล้วย่อมรู้ชัด ว่า รูปอย่างนี้ ไม่น่าพอใจทุกขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณ และ ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุ อย่างนั้นแล้วย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้ เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาอทุกขมสุขเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขวิญญาณ และ ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา

ดูกร คฤหบดีอีกประการหนึ่ง ภิกษุ ฟังเสียง ด้วยหู แล้วสูดกลิ่น ด้วยจมูก แล้วถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย แล้วรู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจ แล้วย่อมรู้ชัดว่า ธรรมารมณ์อย่างนี้ เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาฯ

ดูกร คฤหบดีความต่างกันแห่งผัสสะ ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัย ความต่างกันแห่งธาตุความต่างกันแห่งเวทนา ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัย ความต่างกันแห่งผัสสะด้วยประการอย่างนี้ แลฯ"

ถ้า "สติ" เกิดขึ้น ระลึก รู้- สภาพธรรม ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ก็จะ รู้ลักษณะที่ต่างกัน ของ นามธรรม และ รูปธรรม รู้ลักษณะของจิต และ ลักษณะของเวทนา ประเภทต่างๆ รู้ ว่า สภาพ "ธรรม" ทั้งหลายเป็น "ธรรม" ที่มี ปัจจัยปรุงแต่ง และ "ธรรม" ทั้งหลาย ... ไม่ใช่ตัวตน


หนังสือ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" [Abhidhamma in Daily Life] โดย นีน่า วันกอร์คอม แปลโดย อ. ดวงเดือน บารมีธรรม จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เปิดอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ...

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chaiyut
วันที่ 2 เม.ย. 2554

"เรามักคิดว่า สุขเวทนาเป็นความสุขที่แท้จริง (แต่) เวทนา เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเวทนา ไม่เที่ยงไม่ควรยึดถือเวทนา ว่า เป็นตัวตน"

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ