วันสงกรานต์กับพระพุทธศาสนา
สงกรานต์กับความเข้าใจในพระพุทธศาสนา
ในสมัยพุทธกาลได้มีประเพณีซึ่งเป็นการละเล่นที่เป็นงานมหรสพของผู้คนในสมัยนั้นโดยการใช้น้ำเช่นกัน ซึ่งย่อมเป็นไปได้ที่จะสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันในงานประเพณีสงกรานต์ในปัจจุบัน เพราะทำประจำในเดือน ๔ เช่นกัน ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า
[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ -หน้า 31
ก็สมัยนั้น มหาชนพากันเล่นมหรสพในอุตตรผัคคุณีนักขัตฤกษ์ปลายเดือน ๔ ทุกๆ ปี กระทำพิธีสรงน้ำที่ท่าใกล้แม่น้ำคยา, ด้วยเหตุนั้น ชนทั้งหลายพากันเรียกมหรสพนั้นว่า คยาผัคคุณี ดังนี้.
ในการละเล่นที่ใช้น้ำในสมัยพุทธกาลที่เรียกว่า คยาผัคคุณี มีการใช้น้ำเป็นหลัก ด้วยความเชื่อของบุคคลสมัยนั้นว่า น้ำคือสิ่งที่ชำระล้างบาปอกุศลธรรมที่ได้ทำไว้ได้ แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมให้มหาชนมีความเข้าใจถูกว่า น้ำไม่สามารถชำระล้างกิเลสได้ แต่ปัญญา กุศลธรรมประการต่างๆ เท่านั้น ที่จะชำระล้างกิเลสที่สะสมมาจนหมดสิ้นได้
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 463
บทว่า สทา ผคฺคุ ได้แก่แม้งานนักษัตรประจำเดือน ๔ ที่มีเป็นประจำ. ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ในเดือน ๔ ผู้ใดอาบน้ำในวันข้างขึ้นเดือน ๔ ผู้นั้นย่อมชำระบาปที่ตนกระทำตลอดปีได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงคัดค้านทิฏฐิของพราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า สำหรับผู้บริสุทธิ์แล้วเดือน ๔ มีอยู่ทุกเมื่อ สำหรับผู้หมดกิเลสแล้ว นักษัตรประจำเดือน ๔ มีประจำ ห้วงน้ำนอกนี้ จักชำระล้างได้อย่างไร ดังนี้.
อ่านเพิ่มเติม