ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณพงษ์ชัย อัมมตานนท์ ๒๙-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  8 เม.ย. 2554
หมายเลข  18161
อ่าน  2,374

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อราวปลายปีที่แล้ว ขณะที่ข้าพเจ้านั่งรอเวลาการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ พี่แก้วตา เอนกพุุฒิ ได้เข้ามาสนทนาด้วย และ กล่าวเชิญข้าพเจ้าและครอบครัวให้ไปร่วมสนทนาธรรมที่เขาใหญ่ ในปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งขณะนั้นข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า เวลายังอีกนาน ไม่แน่ว่าเมื่อถึงเวลานั้น ข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสไปหรือไม่ แต่ข้าพเจ้าก็ตอบรับคำเชิญของพี่แก้วตาด้วยความซาบซึ้งยิ่ง ในความเมตตาของท่าน ทั้งได้ทราบว่า การจัดสนทนาธรรมคราวนี้ มีจุดประสงค์หลักคือ อยากให้ท่านอาจารย์ได้พักผ่อนในสถานที่ๆ สบายๆ และ ประการสำคัญ ท่านต้องการเชิญสหายธรรมจากบ้านธัมมะเชียงใหม่ ให้ได้มีโอกาส มาสนทนาธรรมอย่างใกล้ชิดกับท่านอาจารย์

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจำกัดจำนวนของสหายธรรม เพื่อให้พอเหมาะกับสถานที่ๆ จัดไว้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึง ความละเอียด ประณีต ในการให้ของพี่แก้วตาเป็นอย่างยิ่ง ในเบื้องแรกนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอนำเสนอข้อความที่พี่แก้วตา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดสนทนาธรรมครั้งนี้ ดังนี้

พี่แก้วตา กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพยิ่ง ก่อนอื่น แก้วขอกราบเท้าอนุโมทนาในความเมตตาของท่านอาจารย์ ที่มีต่อทุกท่าน ที่ใคร่ฟังธรรมในทุกๆ สถานที่และทุกครั้ง กราบเท้าคุณลุงนิภัทรที่เคารพ กราบเท้าคุณย่า (สงวน สุจริตกุล) คุณย่าที่เป็นที่รักและเคารพยิ่งของทุกๆ ท่าน กราบเท้าพี่จี๊ด พี่ที่มีแต่ความเมตตา แล้วก็อ่อนโยนต่อทุกๆ ท่านเสมอมา กราบท่านวิทยากรทุกๆ ท่าน และ สวัสดีสหายธรรมทุกๆ ท่านค่ะ

...สืบเนื่องมาจาก เมื่อปี ๒๕๕๓ วันที่ ๑๒-๑๔ มกราคม แก้วได้มีโอกาสไปเชียงใหม่แล้วก็ทุกๆ ท่านที่นั่น เข้าใจว่าเป็นวันเกิด (ครบ ๗ รอบ) ของท่านอาจารย์ครั้งนั้นกลับมาจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯด้วยความปีติมาก แล้วก็ได้เห็น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของชาวเชียงใหม่ ที่บ้านธัมมะ พอถึงปลายปีที่แล้ว ชาวเชียงใหม่ก็ได้มาสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯกันอีก แก้วก็ได้เห็นความตั้งใจ แล้วก็ใคร่สนทนาธรรมมาก เลยมีความคิดกับคุณสุกัญญาว่าอยากจะหาสถานที่สนทนาธรรม อันที่หนึ่ง อยากจะได้สถานที่ดีๆ บรรยากาศดีๆ แล้วก็ไม่ไกลมาก ต้องการความสะดวกสบายให้ท่านอาจารย์ได้พักผ่อนหลังสนทนาธรรม อันที่สอง ก็คือ อยากจะขอกราบเรียนเชิญ ชาวเชียงใหม่ ได้มาสนทนาธรรมที่นี่ แล้วก็ได้ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ พอขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว และ วันนี้ก็มาถึง

ในการสนทนาธรรมคราวนี้ ถ้าหากไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง ๓ ท่านนะคะ ก็คงจะไม่สำเร็จ ท่านแรก ก็คือ อาจารย์อรรณพ ซึ่งเมตตามาก เพราะว่าต้องอดไปสนทนาธรรมที่อยุธยา เพื่อที่จะมาดูสถานที่ก่อนแล้วก็ ท่านที่สอง ก็คือคุณอ้อม (สวิณี แสนทอง) ที่ช่วยเหลือทุกเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องรถ กับรายการอาหาร ทุกเรื่อง

ท่านที่สาม ก็คือคุณสุกัญญา (เพื่อนชอบ) ที่มีเพื่อนสามี (คุณวิศิษฐ์) เป็นเจ้าของบ้านนี้คือ คุณพงษ์ชัย อัมมตานนท์ หรือคุณเต่า ที่ให้ความสะดวกทุกอย่างเลย สำหรับการสนทนาธรรมในคราวนี้ และคุณสุกัญญาก็ยังดูแลเรื่องห้องพัก ที่โรงแรมทุกๆ เรื่องด้วย

...ได้ฟังท่านอาจารย์ แสดงเสมอมาว่า ศึกษาธรรมะ เพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมะ และ เพื่อละความไม่รู้ และสิ่งที่แก้วประทับใจที่สุด ที่ฟังมาก็คือ จุดประสงค์ในชีวิต ไม่ควรจะมีอย่างอื่น นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะขออนุญาตเป็นตัวแทน กราบเท้าท่านอาจารย์ค่ะ

.........

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓๖ - หน้าที่ ๘๒๔

ปาตุภาวสูตร (ว่าด้วยความปรากฏขึ้นที่หาได้ยาก ๖ ประการ)

[๓๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งเหตุ ๖ ประการ เป็นของหาได้ยากในโลก เหตุ ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ความปรากฏขึ้นแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ๑ความเกิดขึ้นในมัชฌิมประเทศ (ที่มีพระอริยเจ้า) ๑ ความเป็นผู้มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ๑ความไม่เป็นใบ้บ้าน้ำลาย ๑ ความพอใจในกุศลธรรม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งเหตุ ๖ ประการนี้แลเป็นของหาได้ยากในโลก. จบ ปาตุภาวสูตรที่ ๑

กราบท่านอาจารย์ และ ขออนุโมทนาในกุศลทุกประการของพี่แก้วตา และ ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดสนทนาธรรมครั้งนี้ด้วยครับ อนึ่ง ข้าพเจ้าได้ทราบจากอาจารย์อรรณพว่า ในช่วงเดือนเมษายน นี้ เป็นช่วงวันเกิดของพี่แก้วตา และ พี่อรวรรณ เพื่อนๆ สหายธรรม จึงได้จัดรายการเซอร์ไพรส์เล็กๆ หลังจบการสนทนาธรรมในวันที่สอง แก่ท่านทั้งสองด้วยครับ

อันดับต่อไป ข้าพเจ้าใคร่ขอนำข้อความบางตอน ที่ได้มีการสนทนากันในช่วงเช้า ของวันสุดท้าย ก่อนเดินทางกลับ มาให้ทุกท่านได้พิจารณา ข้อความและภาพ อาจยาว และมากไปบ้าง แม้ว่าข้าพเจ้าจะพยายามอย่างมากที่จะนำเสนอให้กระชับแล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นการสนทนาถึงสามวัน แต่จะขอนำเสนอให้อยู่ในกระทู้เดียวนะครับ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

คุณคำปั่น ครับ ก็กลับเข้ามาสนทนาธรรมะในช่วงที่ ๒ ของการสนทนาธรรมะที่บ้านคุณพงษ์ชัย อัมมตานนท์ วันสุดท้ายนะครับ วันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งหนึ่งนะครับ ที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมร่วมกัน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ของสภาพธรรมะ มากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงแรกนี้ ก็ขอเรียนเชิญพี่กุลวิไล ครับ

คุณกุลวิไล ก็สืบเนื่องมาจากคำถามของคุณพรทิพย์นะคะ ธรรมะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเข้าใจได้ยาก มีท่านที่ฝากมาเรียนถามท่านอาจารย์ว่าเร่งรีบ หรือ ไม่เร่งรีบ ก็เป็นธรรมะ กราบเรียนท่านอาจารย์ ค่ะ

ท่านอาจารย์ ตรงกับที่เคยได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ อะไรที่ฟังแล้วเข้าใจแล้ว ลืมไม่ได้ค่ะ ทิ้งไม่ได้ค่ะ เพราะว่า เมื่อกี้นี้ก็คงจะทราบว่า แม้ขณะนี้ใครจะคิดอย่างไร บังคับบัญชาไม่ได้เลยค่ะ ตามการสะสมของแต่ละคน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีปัญหาแล้วมีการฟังความคิดเห็นของแต่ละคน ก็จะรู้ได้ว่า แต่ละคนคิดตามที่ได้สะสมมา

เพราะฉะนั้น ความคิดจึงหลากหลาย แม้ว่าจะได้ฟังความเห็นของคนส่วนรวมพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จะทำ หรือ ไม่ทำ ก็ไม่รู้ จนกว่าจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเข้าใจได้ว่า ที่ทุกอย่างเป็นธรรมะ ต้องไม่เว้นเลย เพราะฉะนั้น เราอาจจะปรึกษาหารือกันได้ ไม่ใช่ไม่ได้เลย แต่ให้รู้ว่า แม้แต่การคิดของแต่ละคน ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น จะเร่งรีบหรือไม่เร่งรีบ ขณะนั้นคือมีปัจจัยที่คิดแล้วว่า จะเร่งรีบหรือไม่เร่งรีบ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ สิ่งที่เกิดแล้ว เป็นเครื่องบ่งถึง เกิดแล้ว เพราะเหตุปัจจัย การศึกษาธรรมะ เพื่อเข้าใจธรรมะ ก็ไม่ลืมนะคะ เพราะฉะนั้น เมื่อทุกอย่างเป็นธรรมะ ขณะนั้น ไม่ว่าขณะไหน ก็คือสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เป็นธรรมะ นี่คือประโยชน์ของการศึกษาธรรมะ

คุณอรวรรณ ท่านอาจารย์คะ ก็สืบเนื่องจากคำถามของคุณพรทิพย์ ก่อนพัก ก็สงสัยว่า ยกตัวอย่างว่า บางคนถ้าต้องเลือก เช่นต้องทำงานสองที่ ก็มีโอกาสฟังธรรมะน้อยลง แต่ถ้าทำงานที่เดียว ก็สามารถมีเงิน ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ก็เกิดไปเลือกทำงานสองที่ อย่างนี้ดูเหมือนว่า เลือกที่จะมีอาชีพ แล้วก็ให้ได้เงินมามากกว่าที่จะเลือกโอกาสที่จะฟังพระธรรม อันนี้ คล้ายๆ ว่าต้องเลือกแบบนี้น่ะค่ะ ท่านอาจารย์คะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ทั้งหมดเป็นธรรมะหรือเปล่าคะ?
คุณอรวรรณ เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขณะที่ว่าเลือก เป็นธรรมะหรือเปล่า?
คุณอรวรรณ เลือกก็เป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เลือกอย่างที่ ๑ เป็นธรรมะหรือเปล่า?
คุณอรวรรณ เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่เลือกอย่างที่ ๑ เลือกอย่างที่ ๒ เป็นธรรมะหรือเปล่า?
คุณอรวรรณ เป็นค่ะ



ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง เป็นธรรมะ ลืมไม่ได้เลยค่ะ ศึกษาธรรมะเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมะ ไม่มีเว้นว่าง
คุณอรวรรณ ท่านอาจารย์คะ ทีนี้ ในการสะสมมาที่จะเลือกว่า ทำงานสองแห่ง แล้วแน่นอนว่าต้องมีเวลาฟังธรรมะน้อยลง
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เลือกแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย
คุณอรวรรณ ก็หมายความว่า...
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมะ ทั้งหมดค่ะ ฟังเพื่่อเข้าใจธรรมะ ลืมไม่ได้ เริ่มลืม แล้วคิดว่าต้องเลือก ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แม้ขณะนั้น ก็ไม่รู้ว่า เกิดแล้วตามการสะสม ไม่มีใครไปเลือกเลย สะสมมาอย่างไร แม้จะคิด จะทำ จะขยับตัว หรือจะทำอะไรทั้งหมด ก็มีเหตุปัจจัย ที่เกิดแล้ว ตามการสะสม

คุณอรวรรณ ท่านอาจารย์คะ เป็นธรรมะก็จริง แต่บางครั้งเหมือนกับว่า ขอสนทนานิดนึงว่า อย่างนั่งรถกับอาจารย์อรรณพเนี่ย ก็จะบอกว่า พี่ดีนะ ไม่ต้องยุ่งเรื่องทำมาหากิน ก็มีเวลาฟังธรรมะเยอะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทราบไหม? พูดอย่างนั้น เพราะอะไร? แม้แต่คิด แต่ละหนึ่งขณะ ไม่พ้นจากธรรมะเลย ศึกษาธรรมะ เพื่อเข้าใจธรรมะ เมื่อไหร่รู้ได้อย่างนี้ นั่นคือ ได้ประโยชน์จาการที่ศึกษาธรรมะ เพื่อเข้าใจธรรมะ เพราะ เข้าใจธรรมะ ขณะนั้นได้
คุณอรวรรณ ท่านอาจารย์คะ ยังไม่จบ อาจารย์อรรณพก็บอกว่า ผมน่ะ อยากเป็นอย่างนั้นบ้างจัง
ท่านอาจารย์ นี่ก็ธรรมะค่ะ
คุณอรวรรณ (หัวเราะ) ซึ่งตรงนั้น เหมือนกับว่า การที่เป็นอย่างนี้ ยังต้องทำงานกับไม่ทำงาน หรือว่า ทำงานมากกว่าปรกติ ทุกอย่างเป็นธรรมะหมดเลย
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทุกขณะ ที่แม้แต่ "คิด" แต่ละคำ เป็นธรรมะหรือเปล่า?
คุณอรวรรณ เป็นธรรมะ แต่ว่าก็...
ท่านอาจารย์ ค่ะ ฟังมาว่าเป็นธรรมะ แต่กำลังเป็นจริงๆ ยังต้องคิดว่า......แล้วก็...แล้วก็...ก็ต้องคิด แล้วก็เป็นธรรมะอีก



คุณพรทิพย์ ท่านอาจารย์คะ อย่างนั้น ทุกขณะหรือคะ เป็นธรรมะหมดเลย แม้แต่จะเอื้อมมือ หรือว่าจะกระพริบตา ทุกอย่างเป็นธรรมะหมดเลย
ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าเป็นหรืือเปล่าคะ?
คุณพรทิพย์ ก็เป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ ก็ศึกษาเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่หรือคะ?
คุณหมอทวีป ก็มันเป็นอนัตตา ก็ต้องเป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ ธรรมะก็เป็นอนัตตา ทุกอย่างที่มีจริงๆ เป็นอนัตตาทั้งนั้นค่ะ



คุณกุลวิไล ขอเรียนถามท่านอาจารย์ ให้คนที่มาใหม่ อย่าลืมนะคะ จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมะ สำคัญมาก เพื่อเข้าใจธรรมะ ท่านอาจารย์คะ มีท่านที่มาใหม่ มาฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์ ก็ครั้งนี้เอง ที่มาที่นี่ จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การเข้าใจว่าเป็นธรรมะ คือทั้งหมดเป็นธรรมะ มีประโยชน์อย่างไร? กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ รู้กับไม่รู้ อันไหนเป็นประโยชน์คะ?
คุณกุลวิไล "รู้" คือ "ปัญญา" มีประโยชน์กว่าค่ะ ที่จริงท่านผู้ร่วมสนทนาสามารถมาร่วมสนทนาได้นะคะ พอดีดิฉันก็ได้ไปคุยด้วย ท่านก็ดูเหมือน...ยากมาก...การที่จะรู้ว่า ทั้งหมดเป็นธรรมะ และถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาก็เป็นสิ่งที่ยากมาก ที่จะรู้ถึงความเป็นธรรมะ ค่ะท่านอาจารย์



ท่านอาจารย์ ยาก ก็รู้ถูกต้องนี่คะ ธรรมะไม่ง่าย เริ่มมีความเข้าใจถูก เมื่อธรรมะเป็นสิ่งที่ยากแน่นอน ไม่มีใครบอกเลยสักคำเดียว ว่าธรรมะง่าย ถ้าง่าย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะรู้ความจริง ของทุกสิ่งที่เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก แต่จริงหรือเปล่า? สิ่งที่ยากแต่ไม่จริง กับสิ่งที่ยาก แล้วจริง อันไหนที่ควรจะศึกษา? ยากแล้วจริง แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ไหม? เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า มีปัจจัยพอที่จะเห็นประโยชน์ว่านี่เป็นสิ่งที่จริง แม้ยาก ก็จริง เพราะฉะนั้น ควรรู้สิ่งที่จริง ไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่ไม่จริง


ท่านผู้ใหม่ ค่ะ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ



คุณคำปั่น ครับ เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว จึงมีโอกาสได้ฟัง จากตัวอย่างของท่านที่มาใหม่ ๓ ท่าน ก็ได้รับฟังจากพี่สุกัญญาว่า ชวนครั้งเดียวก็มาที่นี่เลย ปรกติแล้ว การชวนมาฟังธรรมะนี่ ชวนค่อนข้างยาก แต่ว่าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ จึงมีโอกาสได้มาฟัง ได้มาสนทนา ซึ่งท่านก็มีตัวอย่างในอรรถกถาว่า การชวนมาฟังธรรมะ ชวนมาสนทนาธรรมะ ยาก ไม่มาด้วยการชวนเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าชวนไปอย่างอื่น ชวนไปเที่ยว ไปดูการฟ้อนรำ ก็จะรับการชวน ด้วยการชวน เพียงครั้งเดียว แต่ว่าอันนี้ก็กระทำในสิ่งที่ยาก เพราะว่าชวนเพียงครั้งเดียวก็มาเลย มาแล้วก็มีโอกาสได้สะสมปัญญาเพิ่มขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรม

ทีนี้ จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์เพิ่มเติม ในเรื่องของการเร่งรีบ กับไม่เร่งรีบครับท่านอาจารย์ครับ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นคำที่พูดกัน สนทนากัน ถ้าหากว่า พูดถึงการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นเรื่องเร่งรีบไม่ได้ครับ ท่านอาจารย์ครับ เพราะว่าจะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จากการค่อยๆ สะสม ค่อยๆ อบรมไปในชีวิตประจำวัน กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ



ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่คุณพรทิพย์ถาม คงหมายความว่า ไม่ค่อยจะได้ฟังธรรมะ ไม่ค่อยจะได้อบรม ควรจะมากกว่านั้น หรือเปล่า? ในความเห็นของคุณพรทิพย์ ที่ใช้คำว่า "เร่งรีบ"




คุณพรทิพย์ คือ เหมือนจะไม่เดือดร้อน ว่ามีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม น่าจะสนใจมากกว่านี้ คือเหมือนกับเอ๊ะ! ทำไมไม่เดือดร้อน อะไรอย่างนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ทุกคนไม่เดือดร้อน ก็เลยไม่ต้องฟัง ใช่ไม๊คะ?
คุณพรทิพย์ ค่ะ ประมาณนั้น เหมือนกับบุคคลที่ไม่ได้รู้จักธรรมะ ที่จะสนใจ ที่จะรู้ว่า พระธรรม มีอะไรบ้าง?
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วเวลาเดือดร้อน สนใจฟังหรือเปล่า?
คุณพรทิพย์ ถ้าเดือดร้อน คงต้องไขว่คว้าหาพระธรรมน่ะค่ะ
ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือคะ?


คุณคำปั่น ครับ แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ นะครับ ตามการสะสม จะเห็นได้นะครับว่า ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมนั้น เมื่อเทียบแล้ว กับผู้ที่ไม่ได้ฟัง เทียบกันไม่ได้เลย เพราะว่ามีส่วนน้อยจริงๆ ที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ เห็นประโยขน์ของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ว่าสิ่งใดที่ควรมี ควรสะสม เพราะว่าทรัพย์สมบัติหรือว่าสิ่งของต่างๆ ไม่สามารถที่จะติดตามตัวเองไปได้เลย แต่ว่าสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งก็คือ ความเข้าใจพระธรรม ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง สำหรับทุกชีวิต ถ้าหากว่าเกิดมาแล้วนะครับ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้สะสมปัญญา ก็จะตายไปพร้อมกับความไม่รู้ เมื่อมีความไม่รู้ ความไม่รู้ ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นๆ นะครับ




ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าเดือดร้อน ที่คุณพรทิพย์ใช้ เพราะว่า ตามปรกติธรรมดา ทุกคนก็มีชีวิตอยู่ ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม? อยู่ไปวันๆ ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน เพราะฉะนั้น ที่คุณพรทิพย์กล่าวว่า เวลาเดือดร้อน ก็จะสนใจธรรมะ ก็ไม่แน่ เพราะว่าคนที่เดือดร้อนมาก ก็ไม่ได้คิดถึงธรรมะ ไม่ได้สนใจธรรมะด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อน แต่เป็นเรื่องศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ว่า สิ่งที่เป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์

เพราะว่า จริงๆ แล้ว พอได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประโยชน์กับใครหรือเปล่า? เห็นไม๊คะ? ได้ยินแล้ว จะกล่าวว่าไม่เดือดร้อน ก็ไม่เดือดร้อน จะได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ได้ยิน ก็ไม่เดือดร้อน อะไรๆ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่ามีชีวิตอยู่ ตามความพอใจที่จะอยู่อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่า พอได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย น่าอัศจรรย์ไหม? ใครจะชื่อนี้ได้? ใครจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้?


เพราะฉะนั้น ศรัทธาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? เพียงได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไม่ใช่ประเด็นของความเดือดร้อน ไม่เดือดร้อน แต่เป็นเรื่องของการที่มีความศรัทธา ในคำที่ "พระอรหันต์" "พระ" มาจากคำว่า "วร" คือ ประเสริฐ "อรหันต์" คือ ผู้ที่ไกลจากกิเลส หมายความว่าไม่มีกิเลสใดๆ เข้าไปใกล้ได้เลย แม้เพียงเข้าใกล้ ก็เข้าใกล้ไม่ได้ เพราะว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส ไม่มีกิเลส พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า "สัมมา" คือ ชอบ ถูกต้อง ตามความเป็นจริง "พุทธ" คือ ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


ไม่ใช่เพียงแต่ "พระ" ไม่ใช่เพียงแต่ "อรหันต์" แต่..."พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" พอได้ยินชื่อนี้เนี่ย สะดุดหูบ้างไม๊คะ? สะดุดใจบ้างไม๊? ต้องเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุด จึงจะมีผู้ที่ขนานนาม หรือว่า กล่าวด้วยความเคารพอย่างยิ่ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการะ กราบไหว้แต่ก็ไม่รู้จักว่าเป็นใคร เพียงได้ยินชื่อนะคะ แล้วก็กราบไหว้ กับการที่ เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ยค่ะ จะเป็นประโยชน์กับใคร? หรือเปล่า? เริ่มคิด ใช่ไหม? เป็นประโยชน์กับเราหรือเปล่า? จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจ ที่จะรู้จัก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเปล่า? เพราะว่า ในยุคนี้สมัยนี้เนี่ยค่ะ ไม่สามารถที่จะเห็นพระรูปกาย ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่สามารถที่จะเห็นพระคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ มิฉะนั้น จะไม่ชื่อว่า " พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า "


เพราะฉะนั้น เพียงได้ยินคำนี้ สะดุดหู สะดุดใจหรือเปล่า? ว่าจะเป็นประโยชน์ไหม? ในการที่ได้ยิน แล้วก็เป็นผู้ที่เหนือบุคคลใดทั้งสากลจักรวาล ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้โลกเดียว เทวดา พรหม ก็กราบไหว้ มาเฝ้านมัสการทูลถามปัญหา ก็แสดงให้เห็นว่า ประโยชน์ต้องมีแน่ ไม่ใช่เฉพาะแต่มนุษย์ แม้เทพและพรหม ผู้ที่เห็นประโยชน์เนี่ยค่ะ ก็มีศรัทธาที่จะได้รับประโยขน์ จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หนทางเดียวที่จะได้รับประโยชน์ จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ฟังธรรมะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง...


....เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่คิดยาว คิดไกล คิดละเอียด ไม่ได้คิดเฉพาะวันนี้หรือชาตินี้ ก็คือว่า ทุกคนก็ต้องตาย ต้องจากโลกนี้ไป แล้วก็ไม่คิดแม้แต่เพียงว่า เมื่อวานนี้หมดแล้ว แต่มีวันนี้ วันนี้ก็หมดไป หมดไป เพราะฉะนั้นแม้ความตาย ถ้าไม่รู้ว่าอะไรเกิด อะไรตาย ก็จะไม่รู้ว่าตายแล้วก็เกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนเมื่อวานนี้กับวันนี้ แต่ที่ยังไม่ได้ใช้คำว่าตาย อย่างที่เข้าใจกัน คือ สมมติมรณะ สมมติว่าตาย แต่ไม่ได้สิ้นสุด เพราะตายจากโลกนี้ ก็เกิดอีกทันที แล้วแต่ว่า กรรมหนึ่ง จะทำให้เกิดที่ไหน? ซึ่งเลือกไม่ได้ เหมือนชาตินี้ ทุกคนมาจากไหน ก็ไม่มีใครรู้ได้เลย แต่กรรมก็ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วกรรมที่ทำให้เกิดชาตินี้ หรือ ทุกชาติก็ตาม ก็ประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลาย ที่สามารถที่จะให้ผลได้ ในชาตินั้



เพราะฉะนั้น แม้ว่าทุกคนอยากจะมีแต่ความสุข ก็เลือกไม่ได้ ถึงเวลาที่กุศลกรรมให้ผล นำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่มีใครนำมาให้ได้เลย ไม่มีใครทำอะไรได้ นอกจากธรรมะซึ่งเป็นเหตุ นำมาซึ่งธรรมะซึ่งเป็นผลของเหตุนั้น เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ไม่มีโทษใดๆ เลยทั้งสิ้น ได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยฟัง และสิ่งซึ่งฟัง ก็มีปรากฏให้รู้ความจริง ให้เข้าใจความจริงนั้นยิ่งขึ้น จนสามารถที่จะรู้ว่า ผู้ที่รู้ กับผู้ที่ไม่รู้ ผู้ที่ฟังพระธรรม กับคิดเอาเองเนี่ย ต่างกันมาก เพราะว่า ไม่มีใคร จะคิดเองได้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็จะเร่งรีบ หรือไม่เร่งรีบ บังคับได้ไหม?

คุณพรทิพย์ ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วแต่กำลังของศรัทธา การที่จะเห็นประโยชน์ ก็ทำให้รู้ว่า อะไรมีค่าที่สุด ในการเกิดเป็นมนุษย์




คุณสุกัญญา กราบท่านอาจารย์ค่ะ จริงๆ เมื่อวานที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เวลาทำงาน เมื่อเจอปัญหาแล้วอยากจะเข้าใจธรรมะ ก็คงไม่ต่างจากคุณทิพย์เท่าไหร่ แต่ว่า จริงๆ แล้ว คำอธิบายของท่านอาจารย์ ก็ช่วยให้ความกระจ่างบ้าง เล็กน้อยว่าในขณะที่ทำงาน ไม่ว่าจะมีปัญหาสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทุกอย่างเป็นธรรมะทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ค่ะ คุณสุกัญญาแก้ปัญหาได้ จบแล้ว รู้ไหมว่าเป็นธรรมะ?
คุณสุกัญญา คือจริงๆ ถึงจะแก้ได้ หรือไม่ได้ ก็เป็นธรรมะทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ค่ะ รู้ไหม? ว่าเป็นธรรมะ
คุณสุกัญญา รู้ด้วยเรื่องราวค่ะ ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ "ขณะ" ที่กำลังแก้ปัญหา แก้ได้ หรือแก้ไม่ได้ ขณะนั้นจริงๆ รู้ธรรมะ ขณะนั้นหรือเปล่า?
คุณสุกัญญา รู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังแก้ กำลังคิด รู้ไม๊? ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะ
คุณสุกัญญา รู้ว่าเป็นธรรมะ ค่ะท่านอาจารย์


ท่านอาจารย์ ค่ะ นี่คือประโยชน์ ถ้าสามารถที่จะรู้ได้ แก้ไม่ได้ ขณะที่แก้คือ คิด เป็นธรรมะ ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน คือ รู้ธรรมะ ไม่ใช่ไป นานมาแล้ว ได้ยิน ได้ฟัง พอจบไปแล้วก็รู้ว่าเป็นธรรมะ แต่..ขณะที่สภาพธรรมะนั้นกำลังเป็นอย่างนั้น "รู้" ใน "ลักษณะ" ที่ "ต่างๆ กันไป" หรือเปล่า? เช่น คิดเป็นคิด ไม่ใช่เห็น ถ้ารู้ธรรมะ ก็คือ รู้ลักษณะ ที่เป็นจริง มีจริง แต่ละอย่าง ในขณะนั้น
คุณสุกัญญา โกรธเป็นโกรธ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ โกรธเป็นอื่นไม่ได้ แต่รู้ไม๊ว่าโกรธ เป็นธรรมะ ในขณะที่โกรธ กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้่ารู้ขณะไหน ก็รู้ค่ะ ไม่ว่าจะคิด ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ต้องรู้ค่ะ
คุณสุกัญญา ในขณะที่ทำงาน ไม่ได้ฟังธรรมะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น รู้ไม๊ว่าเป็นธรรมะ?
คุณสุกัญญา ขณะที่ทำงาน ไม่ได้ฟังธรรมะ




ท่านอาจารย์ รู้ไหมว่า ขณะนั้น เป็นธรรมะ?
คุณสุกัญญา ก็รู้ว่าเป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ต้องฟังอีกแล้ว รู้หมดแล้ว
คุณสุกัญญา ไม่ใช่ค่ะ ท่านอาจารย์ เพราะว่า ถึงจะรู้อย่างไรก็ตาม แต่เป็นความคิดนึก เรื่องราวที่เป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ คิด ไม่ใช่คุณสุกัญญา คิดแต่ละขณะ ก็เป็นธรรมะ รู้ไหม รู้หรือยัง? ปัญหาอยู่ตรงนี้ ความเป็นผู้ตรง ที่จะเข้าใจธรรมะ ต้องเมื่อ ลักษณะของสภาพธรรมะหนึ่ง สภาพธรรมะใด ปรากฏแล้วมีความเข้าใจ ในขณะนั้น ทันที ในลักษณะนั้น ว่าเป็นธรรมะนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำว่า สติสัมปชัญญะ และ ปัญญา ที่สามารถ "เข้าถึง" ความเป็นธรรมะ ไม่มีใครเลย ไม่มี "เรา" ที่กำลังคิด แต่สามารถที่จะ รู้ลักษณะ ที่เป็นธรรมะ ในขณะนั้น




คุณสุกัญญา กราบท่านอาจารย์ค่ะ ท่านอาจารย์คะ ก็รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง
ท่านอาจารย์ ค่ะ ตอนไม่รู้ ก็ไม่ใช่ ใช่ไหม?
คุณสุกัญญา ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วตอนรู้ รู้อะไรคะ?
คุณสุกัญญา รู้ว่า ขณะนั้น เป็นธรรมะ
ท่านอาจารย์ รู้ว่า ไม่ใช่ "เข้าใจ" ลักษณะ ที่กำลังปรากฏ เหมือนเดี๋ยวนี้เลย แต่ละหนึ่งลักษณะ เป็นธรรมะ
คุณสุกัญญา ไม่ใช่ บุคคล ตัวตน คือ เป็นสภาพธรรมะนั้น ที่ปรากฏจริงๆ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมะแล้ว จะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นธรรมะนั้นๆ
คุณสุกัญญา เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำงานอยู่ แล้วอยากจะฟังธรรมะก็เป็นความอยาก ที่ปรากฏ ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ แล้วรู้ไหม ว่าเป็นธรรมะ?
คุณสุกัญญา ก็รู้ว่าเป็นความอยาก รู้ว่าเป็นธรรมะ แต่...
ท่านอาจารย์ แต่ "ลักษณะที่อยาก" เป็นธรรมะ ไม่ใช่รู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่ เฉพาะลักษณะที่ปรากฏนั้น เข้าใจในขณะนั้น ไม่ต้องเรียกอะไรเลย....เริ่มค่อยๆ ชิน ค่อยๆ เข้าใจ ในความหมายของคำว่า "ธรรมะ"

..........

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 606
๑๐. สติปัฏฐานสูตร

[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในแคว้นกุรุทั้งหลาย (ทรงอาศัย) นิคมหนึ่งของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ. ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
[๑๓๒] พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์เพื่อก้าวล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง. ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ. ๔ ประการเป็นไฉน?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑. ฯลฯ


ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่บ้านคุณพงษ์ชัย อัมมตานนท์ ที่ทุกท่านได้ร่วมกันฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต ที่บุคคลพึงสะสมไว้ ได้สิ้นสุดไปแล้ว หมดไปไม่กลับมาอีก เหลือเพียงการสะสมความรู้ ความเข้าใจธรรมะ ที่สั่งสมไป จนกว่าจะถึงซึ่ง ณ กาละนั้น ที่จักได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม สิ้นสุดการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ได้ ในวันหนึ่ง แม้จะแสนไกล แต่ได้เริ่มแล้ว ในหนทางที่ถูกต้อง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

กราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และท่านวิทยากรทุกท่าน
ขออนุโมทนาในกุศลทุกประการของคุณแก้วตา เอนกพุฒิ คุณสุกัญญา เพื่อนชอบ คุณสวิณี แสนทองและ ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดให้มีการสนทนาธรรมในครั้งนี้ทุกท่าน
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 8 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

เป็น ณ กาลครั้งหนึ่งที่ได้ฟังพระธรรมอันประเสริฐยิ่งขอให้สหายธรรมทุกๆ ท่านมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความไม่ประมาท

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัยและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พรรณี
วันที่ 8 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลเมตตาจิตของท่านอาจารย์

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านที่เกี่ยวข้องทุกๆ ท่าน

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ณ กาลครั้งนี้ อีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pannipa.v
วันที่ 8 เม.ย. 2554

นรชนพึงอยู่ในที่เหมาะ (ปฏิรูปเทสวาสะ) พึงทำอารยชนให้เป็นมิตร (สัปปุริสูปัสสยะ) ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ (อัตตสัมมาปณิธิ) มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน (ปุพเพกตปุญญตา) ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศ เกียรติ และ ความสุข ย่อมพรั่งพรูมาสู่นรชนผู้นั้นจาก...อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต จักกสูตร ที่ ๑

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณแก้วตา คุณสุกัญญา คุณสวิณี และทุกๆ ท่านทีมีส่วนร่วมในการจัดการสนทนาธรรมครั้งนี้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
aditap
วันที่ 8 เม.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น "การฟังธรรม ตามกาล การสนทนาธรรม ตามกาล เป็นมงคลอันประเสริฐ"กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่่แก้วตา พี่สุกัญญา พี่สวิณี พี่วันชัย และทุกๆ ท่านครับ..

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
aiatien
วันที่ 8 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
surasak
วันที่ 8 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ ได้ประโยชน์จากข้อเขียนในการสนทนามากจริงๆ ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pat_jesty
วันที่ 8 เม.ย. 2554
กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
intira2501
วันที่ 10 เม.ย. 2554

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลเมตตาจิตของท่านอาจารย์และกุศลจิตทุกท่าน ชีวิตทุกขณะจิตก็เหลือน้อยทุกวัน การมีโอกาสได้ศึกษาธรรมทำให้รู้ว่าอะไรมีค่าที่สุดในการเกิดเป็นมนุษย์

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Sensory
วันที่ 10 เม.ย. 2554

"ยาก ก็รู้ถูกต้องนี่คะ ธรรมะไม่ง่าย เริ่มมีความเข้าใจถูก เมื่อธรรมะเป็นสิ่งที่ยากแน่นอน ไม่มีใครบอกเลยสักคำเดียว ว่าธรรมะง่าย ถ้าง่ายนะคะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมี

ที่จะรู้ความจริง ของทุกสิ่งที่เป็นธรรมะ"

"เพราะว่าคนที่เดือดร้อนมาก ก็ไม่ได้คิดถึงธรรมะไม่ได้สนใจธรรมะด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนค่ะ แต่เป็นเรื่องศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ว่า สิ่งที่เป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ "

สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
สมศรี
วันที่ 10 เม.ย. 2554
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
h_peijen
วันที่ 12 เม.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
orawan.c
วันที่ 13 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
panasda
วันที่ 13 เม.ย. 2554

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
เมตตา
วันที่ 15 เม.ย. 2554

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม...

ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ...

ความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นซึ่งเกิดจากการได้สนทนาธรรม

การสนทนาธรรมจึงเป็นอุดมมงคลยิ่ง

ขอกราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และท่านวิทยากรทุกท่าน

ขออนุโมทนาในกุศลทุกประการของคุณแก้วตา เอนกพุฒิ คุณสุกัญญา เพื่อนชอบ

คุณสวิณี แสนทอง

และ ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดให้มีการสนทนาธรรมในครั้งนี้ทุกท่าน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ


 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Jans
วันที่ 15 เม.ย. 2554

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และอาจารย์วิทยากรทุกท่าน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณแก้วตา อเนกพุฒิ

คุณสุกัญญา เพื่อนชอบคุณสวิณี แสนทอง และ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสนทนาธรรมในครั้งนี้ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 15 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Khaeota
วันที่ 16 เม.ย. 2554


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 267

(ข้อความบางส่วนจาก) ทุลลภบุคคลว่าด้วยบุคคลผู้หาได้ยากในโลก ๒ จำพวก [๗๗] ๑. ทุลลภบุคคล บุคคลผู้หาได้ยากในโลก ๒ จำพวกเป็นไฉน?

บุพพการีบุคคล ๑. กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑. บุคคล ๒ จำพวกนี้หาได้ยากในโลก. ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
Khaeota
วันที่ 16 เม.ย. 2554


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 267 อรรถกถาบุคคลผู้หาได้ยาก ๒ จำพวก

บทว่า "ทุลฺลภา" ได้แก่ มิใช่บุคคลที่หาได้โดยง่าย. บทว่า "ปุพฺพการี" ได้แก่ ผู้กระทำอุปการะก่อนนั่นเทียว. บทว่า "กตเวที" ได้แก่ ประกาศอุปการคุณที่บุคคลอื่นกระทำแล้ว คือกระทำอุปการคุณให้ปรากฏ ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
Khaeota
วันที่ 16 เม.ย. 2554


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 267อรรถกถาบุคคลผู้หาได้ยาก ๒ จำพวก [ต่อ] เมื่อผู้อื่นยังมิได้กระทำอุปการะเลย ไม่เพ่งเล็งถึงอุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน แล้วกระทำการอุปการะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าบุพพการี เปรียบเหมือนบิดามารดาพวกหนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์พวกหนึ่ง บุพพการีบุคคลนั้น ชื่อว่าหาได้โดยยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหาครอบงำไว้ ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
Khaeota
วันที่ 16 เม.ย. 2554


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 268

อรรถกถาบุคคลผู้หาได้ยาก ๒ จำพวก [ต่อ]
บุคคลใด รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า กตัญญูกตเวที เปรียบเหมือน บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดา และบิดา หรือในอาจารย์ และอุปัชฌาย์ ทั้งหลาย. กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น ชื่อว่า หาได้โดยยากเพราะ ความที่สัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำไว้. อนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
Khaeota
วันที่ 16 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 268อรรถกถาบุคคลผู้หาได้ยาก ๒ จำพวก [ต่อ]อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้เมตตารักใคร่ โดยไม่มีเหตุ ชื่อว่า บุพพการี. บุคคลเมตตารักใคร่ โดยมีเหตุ ชื่อว่า กตัญญูกตเวที.บุคคลผู้กระทำประโยชน์โดยไม่เพ่งเล็งถึงเหตุเป็นต้นอย่างนี้ว่า "ผู้นี้ จักกระทำอุปการะแก่เรา" ชื่อว่า บุพพการี. บุคคลผู้กระทำประโยชน์ โดยเพ่งเล็งถึงสาเหตุเป็นต้น อย่างนี้ว่า "ผู้นี้จักกระทำอุปการะแก่เรา" ชื่อว่า กตัญญูกตเวที.ผู้มืดมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่า บุพพการี. ผู้สว่างมาสว่างไปข้างหน้าชื่อว่า กตัญญูกตเวที.

อนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
Khaeota
วันที่ 16 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นขอกราบเท้าอนุโมทนา ท่านอ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขอกราบเท้าอนุโมทนา อ. นิภัทร พจนปฏิภาณขอกราบอนุโมทนา ท่านวิทยากร ทุกๆ ท่าน ขอกราบเท้าอนุโมทนา คุณย่าสงวน สุจริตกุลขอกราบเท้าอนุโมทนา คุณสุจิตต์ อึ้งภากรณ์ ขอกราบอนุโมทนา คุณวันชัย๒๕๐๔ขอกราบอนุโมทนา เจ้าหน้าที่บันทึกการสนทนาธรรม ทุกๆ ท่านขอกราบอนุโมทนา สหายธรรม ทุกๆ ท่าน

อนุโมทนาในกุศลเจตนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
kinder
วันที่ 4 พ.ค. 2554
กราบอนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ