การไม่เริ่ม ยังประเสริฐกว่า การเริ่มไม่ดี

 
สารธรรม
วันที่  16 เม.ย. 2554
หมายเลข  18213
อ่าน  1,483

(อามิสบูชาด้วยพวงมาลัยซึ่งร้อยไว้อย่างสวยงาม ณ กาลครั้งหนึ่งที่ มศพ.)

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ถอดเสียงจาก ชุดปกิณกธรรม แผ่นที่ ๑๑ ครั้งที่ ๖๑๗

สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕

โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

"การไม่เริ่ม ยังประเสริฐกว่า การเริ่มไม่ดี"

ท่านอาจารย์ เริ่มไม่ดี แล้วพาไปไหนล่ะคะ? พาไปไม่ดีตลอด เพราะเริ่มไม่ดี แต่ถ้าเริ่มดี อย่างปัญญา ก็ไปในแนวทางของปัญญาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวว่า เริ่มไม่ดีก็ได้แล้วตอนหลังก็จะดีเอง ถูกไหม แต่จริงๆ แล้ว ที่จะกลับ (ตัว) ได้ เพราะเคยสะสมความเห็นถูก ที่จะพิจารณารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะได้ทำสิ่งที่ผิดมานาน แต่ว่าเพราะการสะสมความเห็นที่ถูกต้องมา จึงทำให้บุคคลนั้น สามารถพิจารณาเข้าใจได้ ว่าอะไรถูก และ อะไรผิด แล้วก็สามารถที่จะมีกำลังที่จะทิ้งความเห็นผิดได้เพราะว่าความเห็นผิดนี้นะคะ ถ้าคุ้นเคยมาก ก็ทิ้งยาก นอกจากว่าจะมีปัญญาที่สะสมมาจริงๆ ที่สามารถที่จะทิ้งได้

เพราะฉะนั้น จะไปเริ่มทำไมคะ ที่จะผิด เพราะว่าถ้าเริ่มแล้วไม่ได้สะสมความเห็นถูกไว้เพียงพอ ก็สลัดความเห็นผิดนั้นไม่ออก คุณเด่นพงษ์ สละความเห็นผิด ง่าย หรือ ยาก คะ?

คุณเด่นพงษ์ อาจารย์ครับ ถ้าเราเข้าใจ เราฟังในทางที่ถูกนะ ผมคิดว่าผม เห็นผิดมาเยอะ แล้วก็ได้ฟังผิดๆ มาเยอะ แล้วก็รับสิ่งที่ผิดๆ มาเยอะแต่บางอันเนี่ย เราเห็นชัดเลย เราก็ทิ้งได้โดยไม่มีปัญหาเลย ไม่มีปัญหาเลยครับ

ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่เคยสะสมความเห็นถูกมาที่จะพิจารณา คุณเด่นพงษ์พิจารณาไม่ได้เลย ยังเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดนั้น ถูก เพราะฉะนั้น ต้องเห็นการสะสมของปัญญา ความเห็นที่ถูกต้องมานะคะ ที่ทำให้สามารถละความเห็นผิดได้

คุณเด่นพงษ์ หมายความว่า การสะสมที่แล้วๆ มา

ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ทำให้มีการพิจารณาโดยถูกต้องได้ แล้วสามารถที่จะสละความเห็นผิดได้

คุณเด่นพงษ์ ไม่ใช่เพราะผม

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพราะไปเริ่มผิด แล้วก็ตอนหลังก็จะมาเห็นถูกได้

..ขอเชิญคลิกฟัง..

จุดตั้งต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 16 เม.ย. 2554

เห็นด้วยค่ะ เพราะการสะสม "ความเห็นผิด" จะทำให้ความเห็นผิดนั้น "มั่นคง" ยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่แก้ไขยาก และไม่อยากจะแก้ไขค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2554

เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 605

ไม่ยังความเพียรปราศจากปัญญาเพียงตั้งความปรารถนาไว้ให้สำเร็จได้เพราะเริ่มไม่ดี การไม่เริ่มยังประเสริฐกว่าการเริ่มไม่ดี

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 193

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว

เหตุต้องตรงกับผล หากเริ่มด้วยความเข้าใจถูก สะสมความเห็นถูกก็ย่อมนำมาไปสู่ ความเห็นถูกมากขึ้น หากเริ่มด้วยความเห็นผิด ก็ย่อมน้อมไปสู่ความเห็นผิดมากขึ้น การ เริ่มที่ดีคือเริ่มที่ความเห็นถูก การเริ่มไม่ดีคือเริ่มด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้นการไม่เริ่ม ยังประเสริฐกว่าการเริ่มไม่ดี. คือ การไม่เริ่มที่จะฟังหรือเสพคุ้นหรืออบรมความเห็นผิด ดี กว่าการอบรมความเห็นผิด

ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข เพราะเมื่อบุคคลไม่อบรม หนทางที่ผิดก็ย่อมประสบสุข เพราะไม่ต้องเป็นผู้เห็นผิด แต่ศึกษาความเห็นถูกย่อมเป็น ผู้เห็นถูกจึงประสบสุข

ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุข เพราะผู้ที่อบรมความ เห็นถูก ย่อมทำให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น เพราะความเห็นถูกทำให้ประสบความสุขในโลกนี้ โลกหน้า และประสบสุขอันสูงสุดคือพระนิพพานครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 16 เม.ย. 2554

บางคนได้พบธรรมะทีถูกทาง ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ภายหลังก็กลับไปปฏิบัติผิด ไปเห็นผิด นี้ก็แสดงให้เห็นถึงผลของกรรมที่เขาเคยสะสมความเห็นผิดมา และถ้าปฏิบัติ ผิด ไม่ปฏิบัติดีกว่า เพราะสังสารวัฏฏ์ที่นับชาติไม่ได้ที่ยาวอยู่แล้ว ก็จะยิ่งยาวต่อๆ ไปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 16 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ