..ไม่บรรลุเพราะหวังแน่ๆ [๑]
(พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานไว้เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มศพ.)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ถอดเสียงจาก ชุดปกิณกธรรม แผ่นที่ ๑๑ ครั้งที่ ๖๒๗
สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕
โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ไม่บรรลุเพราะหวังแน่ๆ [๑]
คุณลุงนิภัทร อาจารย์ครับ ไม่หวังแต่เราตั้งใจไว้ได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ หวังคือโลภะ มีใครบ้างที่ไม่หวัง แล้วหวังนี้หวังทั่ว ไปหมดเลย
คุณลุงนิภัทร คืออันนี้ รู้สึกว่ามันจะเป็นอุปสรรคจริงๆ ถ้าเกิดคิดว่าหวัง อยากจะอย่างนั้น อย่างนี้ รู้สึกมันจะเป็นอุปสรรคจริงๆ มีวัตถุประสงค์คือตั้งใจไว้ว่า ...เราจะไปเพื่อศึกษาธรรมะ ไปเพื่อเผยแผ่ธรรมะบ้างตามโอกาสตามสมควร คือ ไม่ได้คิดหวังว่า มันจะต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้
ท่านอาจารย์ แต่ความหวังมีหลายระดับ ทุกคน ยังไม่หมด ความหวัง ยังไม่สิ้นหวัง หรือยังหวังต่อไปก็จริง แต่ไม่ได้ประกอบกับความเห็นผิด ถ้ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อันนั้นก็ไม่มีหนทางที่จะเกิดความเห็นถูกในขณะที่กำลังเห็นผิดได้
เพราะฉะนั้น จะหวังยังไงก็ตาม แต่สะสมความเห็นที่ถูกต้องว่า ถึงจะหวังก็ไม่ได้บรรลุเพราะหวัง อันนี้ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง พอหวังเกิดขึ้น ก็ระลึกได้ว่า ไม่ใช่บรรลุเพราะหวังแน่ๆ แต่ต้องเพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังมีจริงๆ เพราะฉะนั้น การฟังที่ถูกต้อง คือ ฟังแล้วเข้าใจ แล้วเมื่อมีความหวังเกิดขึ้น ก็ไม่ปล่อยให้ความหวังนั้น นำไปสู่ความเห็นที่ผิด เพราะเหตุว่าเมื่อหวังแล้วไม่เข้าใจถูกต้อง ...ก็ต้องไปผิด ก็เป็นทางที่ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมะได้
แต่ไม่ใช่ห้ามว่าอย่าหวังนะคะ ธรรมะเป็นอนัตตา นี่ไม่ได้เคยห้ามอะไรใครเลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ (ทรง) ห้าม เพราะ (ทรง) ห้ามไม่ได้
คำว่า "อนัตตา" เป็นความจริงโดยถ่องแท้โดยตลอด เพราะฉะนั้น ก็ต้องไม่มีใครที่จะไปบังคับ ไปชักชวนหรือไปอะไร แต่ทรงแสดงความจริงของธรรมะทั้งหมดให้ผู้ฟังพิจารณา แล้วก็เกิดปัญญาความเห็นถูกต้องของตนเอง
ขอเชิญอ่าน...
พระพุทธรุปองค์นี้มาจากประเทศศรีลังกา แกะสลักมาจากกิ่งโพธิ์ศรีลังกาค่ะ
พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 459
ตติยปัณณสก์
อาสาวรรคที่ ๑
สูตรที่ ๑
[๓๖๓] ๑๑๗. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหวัง ๒ อย่างนี้ละได้ยาก
๒ อย่างเป็นไฉน คือ ความหวังในลาภ ๑ ความหวังในชีวิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหวัง ๒ อย่างนี้แลละได้ยาก.
อรรถกถาสูตรที่ ๑
บทว่า อาสา ได้แก่ ตัณหา ความอยาก
บทว่า ทุปฺปชหา ได้แก่ละได้ยาก คือนำออกได้ยาก.
จะหวัง หรือ ไม่หวัง ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นอกุศลจิตที่คิดหวัง หรือไม่ หวัง หนทางที่จะบรรลุธรรมอยู่ที่ปัญญา ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาเกิดจากการอบรมให้มีขึ้น ไม่ใช่เกิดได้จากความหวัง
ขอเชิญคลิกฟังพิ่มได้ที่...
การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ต้องเจริญเหตุ ไม่ใช่เรื่องหวังผล
จะหวังอย่างไรมากสักเท่าไร สิ่งที่ได้ก็ได้เพียงเท่านี้
ที่ชื่อว่า การหวัง เพราะหวังอารมณ์ทั้งหลาย
ขอเชิญคลิกชมได้ที่...
ค่อยๆ เข้าใจพระธรรม โดยไม่หวัง
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณสารธรรม ด้วยค่ะ...