รูปกับกาย
รูปกับกายแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เข้าใจคำว่ากายก่อนนะครับ กาย หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงแต่คำว่ากาย ไม่ไ่ด้หมายถึง ร่างกายของเราเท่านั้น แต่หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่งก็ได้ ดังนั้นคำว่า กาย คือการประชุม รวมกัน
กาย มี 2 อย่างคือ นามกายและรูปกาย นามกายคือการประชุมกัน รวมกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งก็ได้แก่ขันธ์ 4 มี เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ส่วนรูปกาย ก็คือสภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นรูปธรรม มี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี...เป็นต้น อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยที่เป็นรูปธรรม เป็นรูปกายคือการประชุมของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม
[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 116
กาย ในคำว่า กาโย มี ๒ คือ นามกาย ๑ รูปกาย ๑ นามกายเป็นไฉน? เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย และท่านกล่าวจิตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย รูปกายเป็นไฉน ?
มหาภูตรูป ๔ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ลมอัสสาสปัสสาสะ นิมิต และท่านกล่าวว่ากายสังขารที่เนื่องกัน นี้เป็นรูปกาย.
ส่วนคำว่ารูป กับ กายแตกต่างกันอย่างไร ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว คำว่ากาย หมายถึง การประชุมรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่งและคำว่ากาย ยังหมายถึงที่เกิดของสิ่งไม่สะอาด แต่โดยทั่วไปจะใช้คำว่ารูปกายรวมกัน หมายถึงการประชุมกันของรูปธรรมแต่เมื่อพูดถึงคำว่ารูปและกาย กายบางครั้งจะกว้างกว่าคำว่ารูปครับ กายจะหมายถึงการประชุม บัญญัติว่าเป็นกายนี้ อันเป็นที่ประชุมของอวัยวะะต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นว่าเป็น หัวใจ ปอด ผม ขน....เป็นต้น รวมกันประชุมกัน การประชุมกันของสิ่งต่างๆ จึงเรียกว่า กาย ส่วนรูปนั้น ก็คือสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร มีรูป 28 เป็นต้น ซึ่งจะไมไ่ด้หมายถึงการประชุม เหมือนคำว่ากาย แต่หมายถึง รูปแต่ละอย่างที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยครับ เพราะฉะนั้น ความแตกต่างของรูปและกาย บางนัยคือ กายหมายถึงการประชุม ส่วนรูปหมายถึง สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเท่านั้นครับ
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 475
อรรถกถาภินทนสูตร
บทว่า กาโย ได้แก่รูปกาย. ก็รูปกายนั้น ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่า เป็นที่ประชุมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย มีผม เป็นต้นด้วย และชื่อว่ากาย เพราะมีวิเคราะห์ว่า เป็นอายะ คือ เป็นแหล่งเกิดแห่งของน่าเกลียดน่าชังทั้งหลายอย่างนี้บ้าง.
แต่บางนัยนั้น รูปและกายก็มีอรรถความหมายเดียวกัน คือกายก็คือ รูปธรรมนั่นเอง รูปแต่ละรูปก็คือกาย ดังเช่นในมหาสติปัฏฐานที่มีข้อความว่า ภิกษุพึงพิจารณาเห็นกายในกาย กายในที่นี้ก็คือ รูปธรรมนั่นเองครับ กายแต่ละอย่างก็คือ รูปธรรมแต่ละอย่างครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 243
อรรถกถากิมิลสูตร
คำว่า กายอันหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย คือ เรากล่าวกายอย่างใดอย่างหนึ่งในกายทั้งหลายมีกายคือ ดินเป็นต้น หมายความว่าเรากล่าวถึงกายคือ ลม. อีกอย่างหนึ่ง ส่วนแห่งรูป ๒๕ ชนิด คือ อายตนะ คือ ตา ฯลฯ อาหารที่ทำเป็นคำๆ ชื่อ ว่ารูปกาย. ในส่วนแห่งรูปเหล่านั้นลมหายใจออกและหายใจเข้าย่อมเป็นกายอย่างหนึ่ง เพราะรวมเข้าในอายตนะคือ สิ่งที่จะพึงถูกต้อง.
ในความเป็นจริงแล้ว รูปและกายมักใช้คู่กันคือ รูปกาย อันหมายถึงการประชุมของรูปธรรม และบางนัยก็แสดงว่า กายก็คือรูปแต่ละอย่างนั่นเองครับ ดังนั้นสำคัญที่เมื่อเข้าใจอรรถ ความหมายแล้วย่อมส่องให้เห็นถึง สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าแม้ตัวเราเองก็เป็นเพียง กาย การประชุมของสิ่งใด สิ่งหนึ่งที่เป็นการประชุมของรูปธรรมที่เป็นรูปกาย และการประชุมของนามธรรมที่เป็นนามกาย หาความเป็นสัตว์ บุคคลไ่ม่ไ่ด้เลย นอกจากสภาพธรรมเท่านั้น ประโยชน์คือการเข้าใจความจริงอย่างนี้เพื่อละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ละความยึดถือว่ามีเรา เพราะมีแต่กาย การประชุมของสภาพธรรมเท่านั้นครับ
นิพพานเป็นนามหรือไม่ครับ
นิพพานเป็นนามธรรมครับ แต่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ เป็นโลกุตตรธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ ที่เป็นนามธรรม เพราะไม่ใช่รูป และเป็นสภาพธรรมที่ถูกน้อมไปเป็นอารมณ์ของจิตเจตสิกได้
สิ่งที่มีจริง มี 2 อย่างคือนามธรรมและรูปธรรม พระนิพพานมีจริง แต่ไม่ใช่รูปเป็นนามธรรมตามที่ได้กล่าวไปแล้วครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
ทำไมนิพพานถึงเป็นนามธรรมครับ
นามธรรม
นิพพานปรมัตถ์
นิพพาน ในพระสูตรเป็นนามหรือไม่?
ขออนุโมทนาและอุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นคำถาม และ คำตอบ ที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจพระธรรม อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อได้ฟังได้ศึกษาไปตามลำดับ ก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่าพยัญชนะย่อมส่องถึงอรรถ ให้เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรม แม้คำว่า กาย ก็เช่นเดียวกัน เป็นได้ทั้งรูป และ นามธรรมขึ้นอยู่กับว่าจะมุ่งหมายถึงสภาพธรรมใด
ถ้าพูดถึงการประชุมรวมกันของรูปธรรม ก็เป็นรูปกาย ซึ่งก็เป็นรูปธรรมนั่นเอง ถ้าเป็นการประชุมกัน เกิดขึ้นร่วมกันของนามธรรม กล่าวคือ จิต และ เจตสิก (นามขันธ์ ๔ :เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ) ก็เป็นนามกาย ทั้งหมด เป็นธรรมที่มีจริง ที่หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่ได้เลย เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้นจริงๆ ส่วนประเด็นพระนิพพาน นั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมประการหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นนามธรรมประเภทที่ไม่รู้อารมณ์ การที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพานได้นั้น ต้องเป็นปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิมและทุกๆ ท่านครับ...