ข้อความเตือนสติเรื่องเทวตาสูตร

 
wittawat
วันที่  2 พ.ค. 2554
หมายเลข  18296
อ่าน  4,349

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร..

เทวตาสูตร .. ผลแห่งการต้อนรับบรรพชิต

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

๑. อรรถของภิกษุ คือ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ หมายถึง ผู้ฟังธรรม แม้จำคำ “ผู้เห็นภัย” เพียงคำเดียวสู่ความเข้าใจ ยิ่งขึ้น สามารถดับกิเลสได้

๒. อรรถของสังสารวัฏฏ์ คือ ความเกิดดับ สืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น ได้แก่ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์วิปากวัฏฏ์

สังสารวัฏฏ์โดยนัยของกรรมและวิบาก หมายถึง ความเกิดดับสืบต่อทุกภพชาติไม่ยั่งยืนเป็นบุคคลนี้ตลอดไม่ได้ จากโลกนี้เกิดเป็นสิ่งหนึ่งสู่ที่หนึ่ง โดยไม่รู้ และมีความเป็นไปในขณะนั้นๆ ด้วยกรรม คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้ว

กรรมที่ประเสริฐที่สุด คือ ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง สิ่งสำคัญ และ ประโยชน์ คือ “ไม่ประมาท ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่ฟัง”

๓. ลักษณะที่เป็นไปของสังสารวัฏฏ์

ชีวิตประจำวันรูปปรากฏเพียง ๗ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อเห็น เสียงปรากฏเมื่อได้ยิน กลิ่นปรากฏเมื่อได้กลิ่น รสปรากฏเมื่อลิ้มรส โผฏฐัพพะปรากฏ เมื่อกระทบเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ใจคิดถึงสิ่งที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว รู้รสแล้ว กระทบสัมผัสแล้ว ความละเอียด คือ ทันทีที่สิ่งนั้นปรากฏ ใจคิดสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัว คือ ความเป็นไปของสังสารวัฏฏ์

๔. อรรถของภัย

ภัยทั้งหมด คือ ความไม่เที่ยง ได้แก่ สังขารธรรม เช่น สุข ทุกข์ ปรากฏแล้วดับเกิดเพราะปัจจัยจะบังคับให้เกิดหรือไม่เกิดไม่ได้ แม้ภัยพิบัติเกิด ไม่มีใครทำ แต่เป็น จิต เจตสิก รูปรับผลขณะไหน ต้องเป็นอย่างนั้น แม้เกิดในสวรรค์ ก็ต่างด้วยผลการกระทำ

ภัยของตน คือ ไม่รู้และติดข้องในลักษณะของสภาพธรรม เหมือนลูกศรที่ปักทั้งวัน เว้นเฉพาะเมื่อกุศลเกิด

๕. กาลที่ภัยเกิด นั่งตรงนี้เห็นภัยหรือไม่ เพราะเห็นภัยในสังสารวัฏฏ์จึงฟัง แต่ขณะฟังก็ยังไม่เห็นภัยเพราะลึกซึ้ง

๖. การปรากฏของโทษภัย เพียงมีสิ่งที่ปรากฏยังไม่เป็นโทษ แต่โทษจะปรากฏเมื่อติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ

๗. ภัยจากปฏิสนธิกาล และ ปฐมภวังค์

ปฏิสนธิ ชาติหนึ่งมีขณะเดียว ไม่มีอีก จนกว่าจะจุติจิตสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อหนึ่งขณะเป็นใคร นก คน เปรต ก็ไม่รู้ เมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิต คือ ปฐมภวังค์ เกิดสืบต่อก็ไม่รู้อะไรเลย แต่ความลึกซึ้งของภวังค์ คือ ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีอะไรปรากฏ มีธาตุรู้แต่ไม่รู้เพราะเป็นภวังค์ ต้องเป็นสติสัมปชัญญะจึงรู้ได้ แม้ปฐมภวังค์ก็เป็นภัย แต่ไม่เห็น

๘. ภัยจากทวาริกจิต [1]

หลับไม่มีอะไรปรากฏ ไม่เห็น ได้ยิน ลิ้มรส ได้กลิ่น คิดนึก กำลังสบายไม่มีอะไรปรากฏเดือดร้อน แต่เมื่อถึงกาลจะได้ยินเสียง ต้องปรากฏได้ยินเสียง ห้ามไม่ได้เพียงปรากฏได้ยิน แล้วดับ กลับมาไม่ได้ แต่ความไม่รู้ จำเสียง ชอบเสียง ไม่ชอบเสียง

๙. ภัยโดยนัยของลูกศร

ตรัสถึงลูกศร แต่ยังไม่ใช่ปัญญาที่เห็นลูกศร โลภะเกิด คือ ลูกศรปักใจ ถอนศรปักกายได้ แต่ใครเอาศรปักใจออกได้ แม้มีก็ไม่เห็นโทษภัย จนกว่าปัญญาจะรู้จริงว่า สัจจธรรมเป็นจริงมีค่า ประมาณไม่ได้

อาการที่ศรปักใจ เมื่อโลภะ หรือ โทสะ ปักกลางใจ ต้องแสวงหา เดือดร้อนกระวนกระวาย กระสับกระส่ายด้วยอกุศลนั้นๆ

๑๐. ภัยโดยนัยความหมดไปของรูป // สำคัญในสิ่งที่ว่างเปล่า

จากภวังค์ไม่มีอะไรปรากฏ เกิดรู้สิ่งปรากฏแสนสั้น รู้นิดเดียวแล้วดับไป เป็นภวังคจิตอีกเท่านี้ แล้วรู้สิ่งอื่นต่อไปแล้วดับไป เพราะความไม่รู้สภาพที่เกิดดับสืบต่อ จนกระทั่งปรากฏเสมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยงเป็นเรา ไม่เห็นภัยว่าหมดจริงๆ

โลภะ โทสะ อกุศลทั้งหลาย สำคัญตนในสิ่งที่ว่างเปล่า ซึ่งไม่มีอะไรเหลือทั้งสิ้น ความจริง คือ เมื่อถึงภวังค์แล้ว รูปที่ปรากฏไม่เหลือ ติดข้องในสิ่งที่ไม่มี แล้วเข้าใจว่ามี

๑๑. มูลรากแห่งอกุศลทั้งหลาย

เหตุแห่งอกุศลทั้งหลาย คือ อวิชชา ความไม่รู้เป็นเหตุของความติดข้อง เมื่อไม่ได้สิ่งที่ติดข้อง เป็นเหตุให้เกิดความโกรธ มูลราก คือ โลภะ โทสะ โมหะ ถ้ามีโลภะในกามก็ต้องมีโทสะ แม้ดับความติดในกามได้ ก็ยังไม่สิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะดับโลภะซึ่งไม่เป็นไปในกามได้

๑๒. การสะสมความติดในรส

ทรงแสดงธรรมหลากหลาย บางคนชอบรูป บ้างชอบทั้งรูป และเสียง แต่ที่ทุกคนชอบคือ รส แม้เด็กก็ติดในรส รสนี้ไม่เอา เอารสนั้น กว่าจะโตแล้วจากโลกนี้ไป ความติดในรสเพียงปรากฏแล้ว หมดไปจะมากเพียงไหน

๑๓. ปัจจัยอุปการะปัญญาที่เห็นโทษในอกุศล

ฟังเข้าใจธรรมเพื่อดับอกุศล ปัญญาทำกิจของปัญญา ละสิ่งไม่ดี ทำสิ่งดีขึ้น ถ้าสะสมอกุศลมามาก อกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ฟังธรรมเข้าใจเล็กน้อย การดับกิเลสย่อมเนิ่นช้า เพราะปัญญาที่เจริญกระทั่งเห็นโทษได้ ต้องอาศัยการฟังไม่ลืม จำ พิจารณา เข้าใจขึ้น

๑๔. คุณประโยชน์ของปัญญาขั้นฟัง ทรงจำ ไตร่ตรอง และประพฤติตาม

แม้ฟังเข้าใจและทรงจำไว้เพียงบางส่วน ในธรรมที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา แต่เมื่อ พิจารณาประกอบกัน ผลต้องมาก เพราะสาระจากพระธรรมแต่ละคำเป็นสิ่งมีประโยชน์ ทรงจำไว้ ไตร่ตรองให้เข้าถึงอรรถและประพฤติตาม จะดับกิเลสได้ เพราะฟัง เห็นโทษอกุศล จากคนไม่ดีเริ่ม เป็นคนดี ดีที่สุด คือ หมดกิเลสด้วยปัญญา

๑๕. มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?

ต่างคนต่างตอบ ผู้มีปัญญาเท่านั้น มีชีวิตอยู่เพื่อความรู้ปรากฏ รู้สิ่งที่ปรากฏขณะนี้จริงๆ เพราะไม่รู้ตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม มีปัจจัยเกิดแล้วดับ ผู้มีปัญญาจึงสามารถเข้าถึง มีชีวิตอยู่เพื่อความรู้ปรากฏ มีชีวิตเพื่อเข้าใจธรรม เมื่อเข้าใจแล้ว ความรู้จะปรากฏตามลำดับขั้นของความเข้าใจนั้น

๑๖. ความรู้ปรากฏโดยนัยต่างๆ

ทรงแสดงธรรมโดยลึกซึ้ง เพื่ออนุเคราะห์บุคคลให้เข้าใจถูกต้อง ไม่เพียงแต่จำ หรือ คิดเป็นคำ แต่เพื่อความรู้ปรากฏโดยเป็นธรรม โดยเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไปเช่น จากไม่มี แล้วมี หามีไม่ แล้วไม่กลับมาอีก เป็นภัยทั้งหมด เป็นคำที่ควรจำในหทัยไม่ลืม เพื่อไตร่ตรองเข้าใจขึ้น เพื่อวันหนึ่งจะเห็นภัยจากความไม่เที่ยง เกิดดับจริงๆ

๑๗. เหตุที่จะถึงความไม่หวั่นไหว

เหตุให้ถึงความไม่หวั่นไหว คือ ฟังธรรมเข้าใจขึ้น รู้ความต่างของปัญญาขั้นฟัง เพื่อสติสัมปชัญญะจะเกิด รู้เฉพาะลักษณะหนึ่ง ที่ปรากฏขณะนี้ ขัดเกลาความไม่รู้ จนกว่าความไม่รู้จะดับหมด จึงถึงความไม่หวั่นไหว (ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล)

ความต่างของสติสัมปชัญญะขั้นฟัง และ สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะขั้นฟัง คือ เข้าใจเรื่องราวของธรรม เช่น รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาต่างจากเสียง โดยความเป็นเรื่องราว ตัวตน แต่สติสัมปชัญญะที่ถึงความเป็นสติปัฏฐานได้ ต้องรู้ลักษณะของธรรม ขณะมีธรรม หรือ นิมิตของธรรมเป็นอารมณ์

๑๘. ความหมายของสติปัฏฐาน

ไม่ใช่สติขั้นทาน ศีล จิตสงบ แต่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แม้ไม่ต้องใช้คำ ก็เป็นสติปัฏฐาน แทนที่จะพูดแต่ไม่เข้าใจว่า สติคืออะไร ปัฏฐานคืออะไร

๑๙. ความละเอียดของความไม่ประมาท

ขณะที่คิดถึงความรู้ชั้นสูง เช่น ปัญญาในระดับพระอรหันต์ พระโสดาบัน วิปัสสนาญาณ หรือ ต่ำกว่านั้น คือ สติปัฏฐาน ก็หวัง แต่เหตุที่จะทำให้ถึงการรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏคือไม่ประมาท แม้เพียงกุศลเล็กน้อย หรือเป็นคนดี

ความหมายของคนดี ดีเท่าไรเท่าไรก็ไม่พอ เพราะต้องละชั่ว ทำดีทุกประการให้ถึงพร้อม ชำระจิต ให้บริสุทธิ์จนกว่ากิเลสจะดับหมด คือ คนดี

หนทางสู่ความเป็นคนดี ไม่ต้องถึงกับสร้างกุศลยิ่งใหญ่ไปสวรรค์ ถ้าขณะนี้เห็นผิดถือสภาพธรรมเกิดดับว่า เป็นเราเป็นคนดีหรือไม่ ขณะนี้เป็นธรรม ฟังเรื่องธรรมเข้าใจเล็กน้อย หนทางเดียวให้เข้าใจขึ้น คือ ฟังแล้วเข้าใจต่อไป

๒๐. อรรถของธัมมานุธัมมปฏิปัตติ

ธรรม หมายถึง โลกุตตรธรรม ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน

อนุธรรม หมายถึง ธรรมที่อุปการะสู่การรู้แจ้งพระนิพพาน ได้แก่ กุศลธรรมที่ประกอบด้วย ปัญญา เป็นต้น

ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ คือ ธรรมที่ถึงเฉพาะลักษณะของธรรม ซึ่งนำไปสู่การรู้แจ้งโลกุตตรธรรม หรือถึงการดับกิเลส

๒๑. หนทางนำไปสู่ธัมมานุธัมปฏิปัตติ หมายถึง ปัญญาที่เห็นถูกทั้งหมด

ทานที่ละความติด ให้ทานเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับด้วยเมตตา เข้าใจกุศลจิตขณะนั้น เข้าใจในกรรมและ วิบาก คือ เพราะความยากไร้เป็นผลของกรรม ไม่หวังประโยชน์เพื่อตน คือ การละความ ติดข้อง

ศีลที่ละทุจริตแม้เพียงเล็กน้อย เห็นโทษของทุจริต ทางกาย วาจา แม้เล็กน้อย ต้องวิรัติ ศึกษาละเอียดแม้ทางใจ แม้เล็กน้อยนิดเดียว ก็ต้องวิรัติทุจริตนั้นๆ เพราะวิรัติ[2]เพิ่มขึ้นมีกำลัง นำมาซึ่งสมุจเฉทวิรัติการดับกิเลส จึงเป็นธัมมานุธัมมปฏิปัตติ

๒๒. อรรถของ “เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงสดับธรรม ทรงจำธรรมไว้เพื่อพิจารณา”

ทุกคำ คือ ขณะที่ฟังเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่มีลักษณะของธรรม ก็ไม่มีคำที่พูดถึงธรรมนั้นๆ ตัวธรรมก็มีจริง อรรถก็กล่าวถึงลักษณะของธรรมนั้นก็จริง จุดประสงค์แท้ของการฟัง คือ เพื่อเข้าใจจนประจักษ์แจ้งความจริงของธรรมที่ปรากฏ เพื่อละอกุศลโลภะ อวิชชา

๒๓. เรื่องการบำเพ็ญสมณธรรมของพระนันทะ[3]

อดีตคู่หมั้นของท่านพระนันทะแม้งดงามยิ่ง แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนางอัปสรแล้ว นางงามชนบทนั้นปรากฏเสมือนลิง ท่านหวังประพฤติพรหมจรรย์ ประโยชน์เพื่อได้นางฟ้า แต่เมื่อได้ยินภิกษุซึ่งทราบเรื่องและล้อเลียนท่าน หิริโอตตัปปะก็เกิด บำเพ็ญสมณธรรมเพื่อดับ ความติดในกามคุณ ละความไม่รู้ถึงความเป็นพระอรหันต์

๒๔. ที่มาของศาลาสุธรรมาและสุธรรมาเทวสภา

ศาลาสุธรรมาไม่มีในสวรรค์ มีในสมัยอดีตชาติท้าวสักกะเป็นมฆมานพ ตามชื่อภริยา คือ นาง สุธรรมา ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสร้างช่อฟ้า ในบรรณศาลานี้สุธรรมาเทวสภา ปรากฏอยู่ในสวรรค์ และพรหมโลกทุกชั้น ประโยชน์ใหญ่ คือเป็นสถานที่แสดงธรรมของพรหมบ้าง ท้าวสักกะบ้าง และภิกษุผู้แสดงธรรมในสวรรค์มีท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ส่วนสุธรรมาเทวสภาในดาวดึงส์ เกิดด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมของนางสุธรรมา

๒๕. เหตุแห่งชื่อของท้าวสักกะ

สักกะ คือ ผู้ให้ทานโดยความเคารพ.

วาสวะ คือ ผู้ให้ที่อยู่อาศัยแก่ผู้อื่น.

ปุรินททะ คือ ผู้ให้ทานมาก่อน.

มัฆวาน หรือ ท้าวมัฆวะ แสดงชื่อตามสมัยที่เกิดเป็นมนุษย์ (มฆะ) .

สหัสนัยน์ คือ ผู้คิดข้อความได้โดยเร็ว.

เทวานมินท์ คือ เทวดาที่เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย.

๒๖. วัตตบท ๗ หรือ คุณธรรมถึงความเป็นท้าวสักกะ

หมายถึง คุณธรรมที่กระทำไว้ตลอดชีวิต เพื่อถึงความเป็นท้าวสักกะเลี้ยงดูมารดาบิดา มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล พูดจาไพเราะอ่อนหวาน บรรเทาความส่อเสียด ไม่ยุยงให้คนแตกกัน พูดแต่คำจริง ไม่ตระหนี่ ครอบงำความโกรธ.

ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร

๒๗. อรรถของอุปธิ ๔

อุป คือ เข้าไป

ธาธาตุ หมายถึง ทรงไว้

อุปธิ แปลว่า สภาพซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์

หมายถึง เดี๋ยวนี้ คือ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ เป็นสภาพทรงไว้ซึ่งทุกข์ เป็นอุปธิ ได้แก่

กามูปธิ กามเป็นอุปธิ เพราะเมื่อพอใจในกาม จึงแสวงหา ก็นำมาซึ่งทุกข์

ขันธูปธิ ขันธ์เป็นอุปธิ เพราะจิต เจตสิก รูป เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เช่น เจ็บ ป่วยแก่ ตาย เป็นต้น

กิเลสูปธิ กิเลสเป็นอุปธิ เพราะมีกิเลส จึงทำอกุศลกรรมได้ เมื่อผลเกิดก็นำมาซึ่งทุกข์ คือ ภพภูมิไม่ดี และ ความเดือดร้อน

อภิสังขารูปธิ อภิสังขารเป็นอุปธิ หมายถึง เจตนาที่เกิดร่วมกับกุศลและอกุศลจิตทั้งหลายที่นำไปสู่ทุกข์ คือ วัฏฏทุกข์. โดยสรุปขันธ์ทั้งหมดเป็นอุปธิ.

ส่วน อุปธิวิเวก หมายถึง ธรรมที่สงัดปราศจากอุปธิ คือ ความเกิดดับ หมายถึง พระนิพพาน.

๒๘. อรรถของกำเริบ โดยศัพท์บาลี เพื่อความรอบคอบในพระธรรม

คำว่า กำเริบ เป็นภาษาไทย แปลจาก ๒ ศัพท์ทางบาลี ดังนี้

วิโกปนะ คือ เสียหาย หวั่นไหว ถ้า มี อ ปฏิเสธอยู่หน้า เป็น อวิโกปนะ แปลว่า ไม่เสียหาย ไม่หวั่นไหว ถ้าไปขยาย ศีล ก็ได้ความว่า “ศีลไม่เสียหาย” หมายถึง กุศลศีล (สิ่งดี) ไม่เสียหาย

บุคคลที่ยังหวั่นไหว ได้แก่ ผู้ยังมีกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ย่อมหวั่นไหวข้องเกี่ยวในลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น กุปปะ คือ กำเริบ เช่น “โรคกำเริบ” หมายถึง โรค (สิ่งไม่ดี) กำเริบมา

ถ้าเข้าใจความหมายบาลีและอรรถกถา ภาษาไทยก็ยิ่งชัดขึ้น ประโยชน์ คือ ความรอบคอบ เคารพ ในพระธรรม เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด


[1] จิตที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารและมโนทวาร ได้แก่ วิถีจิตทางปัญจทวาร และ วิถีจิตทางมโนทวาร

[2] ละเว้นไม่ทำทุจริต ไม่ก้าวล่วงในทางทุจริต

[3] พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต นันทสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
aurasa
วันที่ 11 ก.ย. 2554
ขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลเจตนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pamali
วันที่ 16 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pattarat
วันที่ 19 ก.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pamali
วันที่ 22 ก.ย. 2554
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 1 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มกร
วันที่ 15 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ