การถวายข้าว และอาหาร ให้แก่พระพุทธรูป และเทวดา ดีหรือไม่
การถวายข้าว และอาหาร ให้แก่พระพุทธรูป และเทวดา ดีหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ประเด็นเรื่องของการถวายอาหารกับพระพุทธรูปก่อนนะครับ ในสังคมปัจจุบันก็มีการถวายข้าวพระพุทธตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา แต่เราควรเข้าใจว่าทำไมต้องถวาย และถวายทำไมและพระพุทธเจ้าจะได้รับหรือไม่ครับ
ที่มาที่ไปของการถวายข้าวพระพุทธรูปมีที่มาที่ไปดังนี้
ในสมัยพุทธกาล พระนางมหาปชาบดีโคตมี ต้องการถวายผ้ากับพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกกับพระนางว่าขอให้นางถวายแด่สงฆ์เถิด เมื่อนางถวายแด่สงฆ์ก็ชื่อว่าถวายกับเราด้วย พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องสังฆทานว่ามีผลมากและแสดงเรื่องสังฆทานว่าเป็นอย่างไร ประการแรกที่เป็นสังฆทาน คือ ถวายกับสงฆ์สองฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นประธานสงฆ์สองฝ่าย คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว จะถวายสังฆทานกับสงฆ์สองฝ่ายอันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นประธานได้อย่างไร ก็ด้วยการตั้งพระพุทธรูปไว้ แล้วถวายกับพระพุทธรูปและสงฆ์สองฝ่าย นั่นก็เป็นสังฆทานประการที่ ๒ ถามว่าพระพุทธเจ้าจะได้รับอาหารไหมในการถวาย ไม่ได้รับแน่นอนครับ เพราะ พุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะไม่มีการเกิดขึ้นอีกของขันธ์ ๕ จึงไม่มีสภาพธรรมใดเกิดขึ้นบัญญัติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จึงไม่สามารถรับหรือล่วงรู้อะไรได้เลยในการถวายอาหาร แต่ต้องบอกว่าสำหรับผู้มีปัญญา มีความเข้าใจถูก ย่อมตั้งจิตด้วยความเคารพระลึกถึงพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้มีเจตนาให้พระพุทธเจ้าเสวยนะครับ เจตนาเคารพเหมือนพระพุทธองค์เป็นประธานในสงฆ์สองฝ่ายครับ และสมัยนั้น ยังมีสงฆ์สองฝ่ายอยู่จึงถวายสังฆทาน อันมีอาหารด้วยการมีพระพุทธรูปเป็นประธาน ถวายกับพระพุทธรูป ด้วยความเข้าใจถูกว่าไม่ใช่ให้พระพุทธเจ้าเสวย เพราะทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่แสดงถึงความเคารพ ยำเกรงในพระพุทธเจ้า เหมือนพระองค์เป็นประมุขในสงฆ์สองฝ่ายนั่นเอง นี่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของปัญญา ความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นครับ
มาปัจจุบันก็มีการถวายข้าวพระพุทธ ถวายอาหารพระพุทธรูป สมัยนี้ไม่มีสงฆ์สองฝ่ายแล้ว เหลือเพียงภิกษุสงฆ์เท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะถวายแด่สงฆ์สองฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขที่เป็นพระพุทธรูปครับ ดังนั้นประเพณีส่วนหนึ่ง ความเข้าใจที่เป็นสัจจะและปัญญาก็ส่วนหนึ่ง จึงควรปฏิบัติให้ถูก พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ สภาพธรรมที่บัญญัติว่าพระพุทธเจ้า การถวายอาหารก็ไม่มีทางถึงและไม่ได้รับแน่นอนครับ และปัจจุบันก็ไม่ได้มีสงฆ์สองฝ่าย เพื่อที่จะให้มีพระพุทธรูปเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระพุทธองค์เป็นประธานในสงฆ์สองฝ่ายแล้วครับ เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจถูกว่าควรหรือไม่ที่จะเข้าใจว่าให้พระพุทธเจ้าเสวยอาหารที่ถวาย ในเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว และบุคคลสมัยก่อนมีปัญญา ย่อมถวายกับสงฆ์สองฝ่ายมีพระพุทธรูปอันแสดงถึงความเคารพในพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้พระพุทธเจ้าเสวยครับ ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด เพราะเป็นเรื่องของปัญญา ครับ
เชิญ อ่านข้อความในพะไตรปิฎกในเรื่องนี้จะชัดเจนขึ้นครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ถวายอาหารแด่พระพุทธรูปเมื่อมีสงฆ์สองฝ่าย [ทักขิณาวิภังคสูตร]
ส่วนประเด็นการถวายอาหารกับเทวดาที่บ้านท่านจะได้รับไหม
ควรเข้าใจครับว่า ภพภูมิมีมากมายตามกรรมของสัตว์โลกที่ทำมา เทวดาก็เป็นภพภูมิหนึ่งที่เกิดจากผลของกุศลกรรมที่ประณีต มนุษย์ก็ภพภูมิหนึ่งที่เกิดจากผลของกุศลกรรมเช่นกัน ในเมื่อภพภูมิต่างกัน รูปเทวดาก็เป็นรูปที่ประณีต อาหารของเทวดาจึงต้องเหมาะสมกับรูปของเทวดาด้วย อาหารของมนุษย์ที่ทานกันนั้นเป็นอาหารหยาบเมื่อเทียบกับรูปของเทวดา เพราะฉะนั้นโดยปกติทั่วไปแล้ว เทวดาส่วนใหญ่ย่อมบริโภคอาหารทิพย์ ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ครับ เพราะฉะนั้น ท่านไม่ต้องการอาหารตของมนุษย์ สิ่งที่เทวดาต้องการจากมนุษย์ไม่ใช่อาหาร เพราะท่านทานอาหารทิพย์ แต่ท่านต้องการการอุทิศกุศลที่มนษย์ทำกัน มีการฟังธรรม เป็นต้น เมื่อมนุษย์อุทิศให้เทวดาล่วงรู้ ท่านก็อนุโมทนาครับ เพราะฉะนั้นการถวายอาหารเทวดาจึงไม่เหมาะสมครับ ควรทำกุศลแล้วอุทิศให้ท่านจึงจะเหมาะสมครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
.. อุทิศส่วนกุศลให้เทวดา [เรื่องท้าวสักกเทวราช]
เรื่อง อาหารของเทวดาและพรหม
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 440
กรรมที่ให้บังเกิดในนรก. นั่นแล ชื่อว่าอาหารของเหล่าสัตว์นรก ด้วยว่าเหล่าสัตว์นรกนั้น ดำเนินไปได้ในนรกนั้น ก็ด้วยกรรมนั้นนั่นแล. ส่วนอาหารของเหล่าสัตว์เดียรัจฉาน ก็พึงทราบ คือใบหญ้าเป็นต้น. ของเหล่ามนุษย์ ก็คือข้าวสุก ขนมสด เป็นต้น ของทวยเทพ ก็คือ สุทธาโภชน์อาหารทิพย์ เป็นต้น
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 133
ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะนางพราหมณีผู้มารดาของท่านพระพรหมเทวะด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ดูก่อนนางพราหมณี ท่านถือการบูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหมใด มั่นคงเป็นนิตย์ พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกลจากที่นี้
ดูก่อนนางพราหมณี ภักษา (อาหาร) ของพรหมไม่ใช่เช่นนี้ ท่านไม่รู้จักทางของพรหม ทำไมจึงบ่นถึงพรหม.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
การบูชาในศาสนานี้มีสองอย่างคือ อามิสบูชา ปฏิบัติบูชา ควรเห็นประโยชน์ของทั้งสองอย่าง อย่างแท้จริง ถวายข้าวเพราะอะไร ปฏิบัติคืออะไร ถ้าเข้าใจ ความเข้าใจนั้น จะนำไปสู่หนทางที่ถูกต้อง
การเชื่อกรรมและผลของกรรมเป็นปัญญาระดับหนึ่ง การบูชามีผล บูชาด้วยการกราบไหว้ ด้วยความเคารพในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิตค่ะ แต่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการปฏิบัติบูชา เลิศกว่าอามิสบูชาค่ะ
ด้วยเหตุนี้การเจริญกุศลจึงมี ๒ ประเภท คือ การเจริญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา การเจริญกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาค่ะ
การเจริญกุศลเป็นสิ่งที่ดี ในมหากุศลจิต ๘ ดวง ประกอบด้วย ปัญญา ๔ ดวง และไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ถ้าทำความดีที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง จะเป็นกุศลจิตที่มีอานิสงส์มาก
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่าน
ผมเพิ่งเป็นสมาชิก อาจจะแสดงความคิดเห็นช้าไปหน่อย
เรื่องถวายข้าวแก่พระพุทธรูปนั้นมีปฐมเหตุมาจากชาวพุทธในสมัยพุทธกาลเมื่อนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน พระสงฆ์นั้นก็จะมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอยู่ในที่นั้น เป็นภาพที่คุ้นชินในความรู้สึกของชาวพุทธ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็เหลือแต่พระสงฆ์ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเหมือนเมื่อก่อน แต่เพราะความเคยชินกับการจัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าด้วย แม้ไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวพุทธก็ยังปูอาสนะและจัดภัตตาหารสำหรับพระพุทธเจ้าไว้ด้วย โดยฐานะเป็นเครื่องระลึกถึงและเป็นเครื่องบูชา เหมือนกับที่ท่านพระอานนท์ท่านปฏิบัติในพระคันธกุฎีที่พระพุทธเจ้าประทับ เคยหมอบเคยคลานในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่อย่างไร ท่านก็ยังทำอย่างนั้นเสมือนว่าพระพุทธองค์ยังประทับอยู่ที่นั่น
เพราะฉะนั้น การจัดข้าวถวายพระพุทธ จึงจัดในโอกาสที่จัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์เท่านั้น ไม่ใช่จัดอย่างเป็นเครื่องบูชาประจำวัน หรือเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
รายละเอียดในเรื่องนี้มีอีกมาก ท่านที่สนใจใคร่รู้เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โปรดอ่านในหนังสือเรื่อง "บูชาข้าวพระ" ซึ่งขณะนี้ต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์แล้ว (พิมพ์แจกเป็นธรรมทานครับ ทุนน้อยอาจต้องรอนานหน่อย)