ขอเรียนถามว่า 'สติ' กับ 'สติปัฏฐาน' ต่างกันอย่างไรครับ
ขอเรียนถามท่านผู้รู้ครับ
ตอนนี้ผมได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจปรมัตถธรรมมาระยะหนึ่งแล้วครับ แต่ยังมีประเด็นอีกมากที่ยังเข้าใจไม่กระจ่าง
...ขอเริ่มจากข้อแรก 'สติ' กับ 'สติปัฏฐาน' ต่างกันอย่างไร
มีหลายครั้งที่เวลาเห็นของที่น่าพอใจก็เกิดความรู้สึกติดข้องวูบขึ้นมา ในขณะนั้นรู้ทันทีว่าเป็นลักษณะของโลภะ แล้วก็รู้ในขณะต่อมาว่าโลภะนั้นดับไป อย่างนี้เป็นสติปัฏฐานหรือยังครับ หรือ จะต้องรู้อีกว่านอกจากขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว โลภะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เกิดเพราะเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป
...ข้อที่สอง
ผมเข้าใจว่า 'สติ' เป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น จะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ณ ขณะที่เรารู้สึกวูบหนึ่งขึ้นมาว่าสิ่งที่ปรากฎนั้นเป็น 'โลภะ' แสดงว่าขณะนั้นโลภะต้องดับไปแล้ว เพราะ สติ จะเกิดกับโลภมูลจิตไม่ได้ แล้วขณะนั้นที่ 'รู้ลักษณะของโลภะ' ขณะนั้น สติระลึกถึงอะไรอยู่?
ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยไขข้อข้องใจให้เป็นธรรมทานด้วยครับ
กราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย'สติ' กับ 'สติปัฏฐาน' ต่างกันอย่างไร
สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีทุกประเภท
สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภทครับ สติมีหลายระดัตามระดับของกุศลธรรม สติเป็น
สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในทาน (การให้) ในศีล (งดเว้นไม่กระทำบาปทั้งปวง) เป็นไป
ในสมถภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต) และเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา (การ
อบรมเจริญปัญญาเพื่อเห็นแจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง)
สติปัฏฐานคือสติและปัญยาที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ รู้ด้วย
ปัญญาว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา สติปัฏฐานเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเพราะฉะนั้น
เมื่อเป็นกุศลแล้วก็ต้องมีสติด้วยเสมอครับ
สติปัฏฐานมีหลายความหมาย สติปัฏฐาน มี 3 อย่างคือ
1.อารมณ์ของสติเป็นสติปัฏฐาน
2.การที่พระพุทธเจ้าล่วงเลยความยินดี ยินร้ายในพระสาวกเป็นสติปัฏฐาน
3.ตัวสตินั่นเองเป็นสติปัฏฐาน
อารมณ์ของสติเป็นสติปัฏฐาน คือสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นไปในกายคือ รูปธรรม
เวทนา จิตและสภาพธรรมที่มีจริงที่สติปัฏฐานสามารถระลึกได้นั่นเป็นสติปัฏญฐาน
เพราะสามารถเป็นที่ให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ครับ
ส่วน ตัวสตินั่นเองเป็นสติปัฏฐานเพราะหากขาดสติแล้วก็ไม่ใช่สติปัฏฐานเลยเพราะ
ไม่มีสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ในสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นปัฏฐาน
คือที่ตั้ง อะไรเป็นที่ตั้ง ตัวสตินั่นเองเป็นที่ตั้ง เป็นประธานในการระลึกลักษณะของ
สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้
ดังนั้นที่อธิบาย สติปัฏฐาน 3 เพื่อให้เข้าใจว่า ตัวสตินั่นเองก็เป็นสติปัฏฐานครับ
เพราะฉะนั้นจากคำถามที่ว่าสติและสติปัฏฐานต่างกันหรือไม่ เหมือนกันโดยที่สติปัฏ-
ฐานต้องมีสติและสตินั่นเองเป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสติปัฏฐานครับ เป็นประธานใน
การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ดังนั้นเมื่อ
พูดถึงความเหมือนกันของสติและสติปัฏฐาน เหมือนกันโดยนัยที่เป็นสติที่ระลึกลักษณะ
ของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้อันประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่สติขั้นทาน ศีล และระดับ
สมถภาวนาครับ
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 275
คำว่า สติปัฏฐานทั้งหลาย ได้แก่ สติปัฏฐาน ๓ คือ 1.อารมณ์แห่งสติก็มี
2.ความที่พระบรมศาสดาทรงล่วงเลยความยินร้ายและยินดีในพระสาวกทั้งหลาย ผู้
ปฏิบัติ ๓ อย่างก็มี 3.ตัวสติก็มี. .....คำนั้นมีความดังนี้. ชื่อว่า ปัฏฐาน เพราะอรรถ
วิเคราะห์ว่า เป็นที่ตั้งในที่นี้.ถามว่า อะไรตั้ง. ตอบว่า สติ. ที่ตั้งอยู่แห่งสติ ชื่อว่า
สติปัฏฐาน. อีกนัยหนึ่ง ความตั้งเป็นประธาน เหตุนั้นจึงชื่อว่า ปัฏฐาน. ความ
ตั้งแห่งสติ ชื่อว่า สติปัฏฐานเหมือนอย่างการยืนของช้าง การยืนของม้าเป็นต้น.
ส่วนความต่างกันของสติและสติปัฏฐานก็มีเช่นกัน เมือพูดถึงสติเกิดกับกุศลจิตทุก
ประเภทเพราะฉะนั้น มิได้หมายถึงสติทุกอย่างเป็นสติปัฏฐานแต่หมายถึงสติที่ระลึก
ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และที่สำคัญเมื่อกล่าวถึงสติปัฏฐานแล้วจะ
ต้องหมายถึงสติที่เกิดร่วมด้วยกับปัญญาเสมอ ซึ่งอาจต่างกัีบสติขั้นอื่นที่ไม่ประกอบ
ด้วยปัญญาก็ได้ครับ แต่ตัวสติการทำหน้าที่แล้วไม่ต่างกันคือทำหน้าที่ระลึกครับ
ส่วนคำถามที่ว่า
มีหลายครั้งที่เวลาเห็นของที่น่าพอใจก็เกิดความรู้สึกติดข้องวูบขึ้นมา ในขณะนั้นรู้ทันทีว่าเป็นลักษณะของโลภะ แล้วก็รู้ในขณะต่อมาว่าโลภะนั้นดับไป อย่างนี้เป็นสติปัฏฐานหรือยังครับ หรือ จะต้องรู้อีกว่านอกจากขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว โลภะเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เกิดเพราะเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป
-------------------------------------------------------------------------------------
การเห็นถึงตัวลักษณะของโลภะกับการคิดนึกถึงโลภะที่ดับไปแล้วต่างกันครับ ขณะที่
คิดว่าเป็นโลภะขณะนั้น ขณะนั้นไมไ่ด้รู้ตัวลักษณะเพราะสติปัฏฐานจะต้องเป็นไปในการ
รู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้น ไม่ใช่คิดนึกทีหลังครับและขณะนั้นจะต้องรู้ว่าเป็น
ธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาขั้นต้นยังไม่สามารถแยกออกว่าเป็นโลภะหรือไม่ เพราะยังไม่รู้
เลยว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเบื้องต้น ขั้นต้นจึงต้องรู้ตรงลักษณะไม่ใช่คิด
และมีปัญญาด้วยในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราเพราะมีลักษณะให้รู้ครับ เพราะฉะนั้น
จึงเป็นเรื่องของการคิดนึก ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐานครับ
ส่วนคำถามข้อที่สอง
ผมเข้าใจว่า 'สติ' เป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น จะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ณ ขณะที่เรารู้สึกวูบหนึ่งขึ้นมาว่าสิ่งที่ปรากฎนั้นเป็น 'โลภะ' แสดงว่าขณะนั้นโลภะต้องดับไปแล้ว เพราะ สติ จะเกิดกับโลภมูลจิตไม่ได้ แล้วขณะนั้นที่ 'รู้ลักษณะของโลภะ' ขณะนั้น สติระลึกถึงอะไรอยู่?
----------------------------------------------------------------------------------------------
เป็นคำถามที่ดีครับ ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะ โลภะจะไม่
เกิดร่วมกับสติแน่นอนครับ อันนี้เป็นที่เข้าใจกันครับ ดังนั้นในเมื่อโลภะดับไปแล้ว สติ
เกิดต่อจะรู้โลภะได้อย่างไรในเมื่อดับไปแล้ว สติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้ลักษณะของ
สภาพธรรมทีเ่ป็นปัจจุบัน แต่พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าความเป็นปัจจุบันมี
หลายอย่าง ซึ่งในกรณีนี้เป็นปัจจุบันสันตติคือ ปัจจุบันที่สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว
และสติปัฏฐานก็เกิดสืบต่อจากโลภะนั้นนั่นเองที่ดับไป แต่ด้วยความรวดเร็วของสภาพ
ธรรมที่เกิดดับสืบต่อย่อมสามารถรู้โลภะได้ครับ เช่น ขณะนี้เห็นใช่ไหมครับ เห็นเกิดขึ้น
และดับไปตลอดเวลา แต่เพราะความรวดเร็วของจิตทำให้ยังไม่เห็นความดับไปเลย
เพราะการเกิดดับสืบต่อของการเห้นทีเ่กิดดับสืบต่อกัน จึงเหมือนเห็นอยู่ตลอดเวลา
ฉันใด แม้สติปัฏฐานก็สามารถเกิดระลึกรู้ในขณะที่เห็น แต่ไม่ใช่ขณะเห็นแต่ขณะทีเ่ห็น
ดับไป สติปัฏฐานเกิดต่อด้วยความรวดเร็วจึงสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่
เป็นไปในการเห็นหรือโลภะก็ได้ครับ อันเป็นปัจจุบันสันตติครับ
ที่สำคัญ สติปัฏฐานไม่ใช่เป็นเรื่องของการคิดนึก และไม่ใช่เรื่องของการที่จะทำ
แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจ อาศัยการฟังในเรื่องของสภาพธรรมต่อไป เริ่มจากความ
เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา แม้สติก็เป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยจนมั่นคงก็เป็น
สติปัฏฐานเอง แต่เราจะต้องไม่เข้าใจผิดคิดว่าการคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้วว่า
เป็นสติปัฏฐาน เพราะขณะนั้นไมไ่ด้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมครับ เมื่อเข้าใจอย่างนี้
รู้ถึงความเป็นอนัตตา ก็เบาเพราะเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เรา หนทางที่ถูกคือฟังต่อไป
จนค่อยๆ เข้าใจขึ้นครับ ไม่มีหนทางอื่นนอกจากศึกษาพระธรรมและเมื่อมีความสงสัยก็
สอบถามเพื่อความเข้าใจถูก ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงอะไรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่ใครไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนแต่อย่างใด แม้แต่ สติ กับ สติปัฏฐาน ก็เช่นเดียวกันซึ่งควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งหมด เป็นธรรม ในชีวิตประจำวัน ขณะที่กุศลจิตเกิด ย่อมไม่ปราศจากสติ และ สภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น แต่สภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้ เพราะเป็นธรรมคนละประเภทกัน ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเิชิง
ทีนี้ลองพิจารณา "สติปัฏฐาน" เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่พ้นจากสติไปได้ สติย่อมมีอย่างแน่นอน โดยไม่มีตัวตนที่ระลึก หรือไปเจาะจงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติคือ เป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนั้น มีสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึก และ มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมเป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และ มีสติที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึก ด้วย เพราะสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้นั้น ก็เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันนี้เองที่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่รู้ยาก เพราะสะสมอวิชชา ความไม่รู้มาอย่างเินิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ประการที่สำคัญ นั้น ก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐาน ขอให้ฟังให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าพระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม อย่างมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ สัตว์บุคคลตัวตน เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคง จึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด แต่อย่าลืมว่าธรรม เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ครับ. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเิติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน ! ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณครับที่ช่วยไขข้อข้องใจ
เห็นทีผมคงต้องศึกษาอีกมาก อ่านอีกมาก ฟังธรรมอีกมาก
ขอคัดข้อความบางตอนจากการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ
(จากกระทู้ก่อนจะถึง...สติปัฏฐาน) มาให้อ่านเพื่อพิจารณานะคะ
ท่านผู้ฟัง ศึกษาพระธรรม เพื่ออะไร.!เพื่อละ-ความไม่รู้.....หรือ เพื่อที่จะ-ระลึก.?
แทนที่จะ"ระลึก" ....เข้าใจขึ้น ดีไหมคะ.?ในขณะที่กำลังเข้าใจ....ขณะนั้น มีสติเกิดแล้วค่ะ.!
ยิ่งไปพยายามให้สติระลึก ก็เป็นตัวเราที่พยายามที่จะไปทำยิ่งทำเท่าไร....ก็ "เป็นตัวเรา" ที่ทำ.!
..........
ค่อยๆ อบรมสะสมความรู้ความเข้าใจไปเรื่อยๆ นะคะ แม้ด้ามมีดยังสึกได้ ปัญญาที่อบรม
ย่อมถึงความเจริญค่ะ
สติเกิดเป็นเครื่องกั้นอกุศลธรรมทั้งหลาย สติเกิดระลึก เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา สติเกิดประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ส่วนสติปัฏฐานต้อง เป็นเรื่องของปัญญา ที่เกิดระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ฯลฯ
สติปัฐฐานจะต้องทันอารมณ์ปัจจุบัน ที่ผ่านมาแล้วไม่สามารถยกมาเป็นสภาพธรรม
พิจารณาได้ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดขึ้นตลอดเวลา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน
"..ต้องไม่เข้าใจผิด
คิดว่าการคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ว่าเป็นสติปัฏฐาน
เพราะขณะนั้นไม่ไ่ด้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม.."
"..แม้สติปัฏฐานก็สามารถเกิดระลึกรู้ในขณะที่เห็น
แต่ไม่ใช่ขณะเห็น แต่ขณะที่เ่ห็นดับไป สติปัฏฐานเกิดต่อด้วยความรวดเร็ว
จึงสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นไปในการเห็นหรือโลภะก็ได้ครับ
อันเป็นปัจจุบันสันตติครับ.."
"..ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ
ฟังพระธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างมั่นคงว่า
ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ สัตว์บุคคลตัวตน
เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคง จึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด.."
ขอบพระคุณ อ.ผเดิม อ.คำปั่น และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
นโม จตุนฺนํ สติปฏฺฐานานํ
ขอนอบน้อม แด่สติปัฏฐานทั้ง ๔
สวัสดี ครับ, คุณ daris, คุณ paderm และทุกท่าน, ขอร่วมสนทนาด้วยคน ครับ.
สติ คือ สติเจตสิก.
สติปัฏฐาน มีความหมาย 3 อย่าง คือ ข้อปฏิบัติของครูผู้สอน ที่ต้องไม่มีอกุศลในลูกศิษย์ทุกประเภท, สติเจตสิก, และอารมณ์ของสติ.
ในสติปัฏฐานสูตร คำว่า สติปัฏฐาน หมายถึง อารมณ์ของสติ ครับ.
ส่วนที่ ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวถึงบ่อยๆ ถ้าไม่ได้หมายถึงอารมณ์ของสติคำนั้น ไม่ได้หมายถึง สติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร แต่หมายถึง สติเจตสิก ครับ แบบที่มีใช้ในสูตรอื่นๆ , ซึ่งโดยลักขณหาระแล้ว ต้องรวมสัมปชัญญะและกุศลธรรมอื่นๆ ด้วย.
กรณีของท่าน daris นั้น เป็นสติปัฏฐานขั้นแก่กล้าหรือไม่ ให้ลองพิจารณา.-
๑. คนที่มีสติปัฏฐานดี ต้องมีสุตมยญาณที่มีกำลัง ถ้าเป็นเนยยบุคคลต้องทราบว่า .-
- สติปัฏฐาน ในทิฏฐิวิสุทธิ ถ้ามีปัญญา ไม่กำหนดกาล, ถ้าปัญญาน้อย ให้พิจารณา นามธรรมที่เข้าไปพิจารณารูปอีกที จนกว่าจะปรากฎ (จากวิสุทธิมรรค ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส) .
- ในปัจจยปริคคหญาณพิจารณา โดยสันตติปัจจุบัน และขณะปัจจุบัน.
-ในสัมมสนญาณ พิจารณาโดยอัทธาปัจจุบัน สันตติปัจจุบัน และขณะปัจจุบัน.
-ในอุทยัพพยญาณเป็นต้นไป พิจารณาโดย สันตติปัจจุบัน และขณะปัจจุบัน.
-ตามมติของพระอรรถกถาและพระฏีกาจารย์ เน้นพิจารณาขณะปัจจุบัน ไม่เน้นที่อัทธาและสันตติดังในสัทธัมมัปปกาสินีว่า การสัมมสนะอัทธาปัจจุบัน และสันตติปัจจุบัน นั้น กล่าวแบบอ้อม, ส่วนพิจารณาขณะปัจจุบันนั้น กล่าวโดยตรง, ในวิสุทธิมรรคมหาฏีกา โดยพระธัมมปาละอรรถกถาจารย์ ว่า ในอุทยัพพยญาณนั้น แรกๆ ก็เห็นโดยปัจจุบันสันตติ แต่เมื่อพิจารณาไป จะเห็นปัจจุบันขณะ.
๒. คนที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมรู้ด้วยตัวเอง เพราะมีสุตมยญาณมาดีพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องถามผู้อื่น ครับ.
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ครับ.
ขอกราบขอบพระคุณทุกท่นอีกครั้งครับที่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก จะพยายามนำไปศึกษาทำความเข้าใจต่อไปครับ
ขออนุโมทนาครับคนที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมรู้ด้วยตัวเอง เพราะมีสุตมยญาณมาดีพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องถามผู้อื่น ครับ.
ผมเห็นด้วย กับคุณ BudCop ครับ ถ้าเมื่อไหร่ยังคิดว่า นี่ใช่สติปัฏฐานหรือยัง แสดงว่า ยังไม่ใช่ ไม่ว่าเราจะพยายามตีความแค่ไหน สำหรับ คนที่ยังไม่รู้จัก ก็ยังจะสงสัยอยู่ร่ำไป จนกระทั่ง ประจักษ์นั่นแหละ ถึงจะหายสงสัย ไม่เช่นนั้น พระพุทธเจ้า ท่านจะไม่ตรัสหรอกว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่ผู้รู้ ก็รู้ได้เฉพาะตน
แต่ก็ต้องอดทนนะครับ คุณ daris และระวัง อย่าเผลอไปจดจ้อง หรือการไปดักรู้ล่ะ เพราะนั่นจะกลายเป็น โลภะ ซึ่งยังไม่ใช่สติ
สติปัฏฐาน ง่ายๆ คือฐานของ สตินั่นแหละ แต่ฐานที่ว่าก็ไม่หนีไปจาก กายใจของเรา หรอก พระพุทธเจ้าท่าน สอนเอาไหว้หลาย ฐานตาม จริต ตามการ สั่งสมแต่ละคน ฐานไหนที่เกิดบ่อย สังเกตง่ายก็ใช้เป็นอารมณ์ ของสติได้ เช่น ลมหายใจ ทุกท่านทีมีชีวิตก็ต้องหายใจ แต่แทนที่จะหายใจทิ้ง ก็ต้องหายใจอย่าง มีสติ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น วิปัสสนาไม่ใช่เพื่อ ต้องการมีสติ บ่อยๆ หรอก สิ่งสำคัญที่สุดคือ ปัญญาที่สามารถปล่อยวาง ตัวเราได้ สติก็เป็นเครื่องมือไว้เรียนรู้ หรือ บางท่านอาจเปรียบเทียบว่า เสมือนเรือ ใช้ข้ามฝั่ง ไปสู่พระนิพพาน พอถึงฝั่ง แล้วท่านคงจะไม่คิด จะแบกเรือ ขึ้นฝั่งไปด้วย ฉันใดจุดเริ่มต้นก็ต้องอาศัย สติปัฏฐาน เพื่อเรียนรู้ ว่าทุกอารมณ์ ที่ผ่านเข้ามานั้นน่ะ ไม่ใช่เรา เมื่อ สติท่านเกิด บ่อย แต่ละอารมณ์ก็จะดับ เหมือนกับ การตัดความต่อเนื่อง ของสิ่งต่างที่ผ่านมา ทางทวารต่างๆ ตรงนี้แหละที่เรียกว่า อุทยัพพยญาณ เมื่อตัดความต่อเนื่องได้บ่อย ก็จะหลงอารมณ์ หรืออาการเผลอสั้น ลง ตามลำดับของสติปัญญา เช่น โสดา จะเผลอนานกว่า สกทา ถ้าปัญญาแก่รอบขึ้นอีก สามารถละความติข้อง ในอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทาง ปัญจทวารได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเนื่องด้วย กามารมณ์ ก็เป็น พระอนาคา ก็ไม่มีเหตุต้องเกิดใน กามภพอีก จนกระทั่ง เป้นพระอรหันต์ โน่นแหละ
ขอกล่าวแค่นี้นะครับ เป้นแค่ความเห็น ส่วนตัวนะครับ อนุโมทนาครับ