หลักการปฏิบัติ กุศลกรรม 10

 
know
วันที่  6 พ.ค. 2554
หมายเลข  18319
อ่าน  62,943

หลักการปฏิบัติ กุศลกรรม ๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศลกรรมบถ หมายถึง ทางแห่งการกระทำที่เป็นกุศล หรือ การกระทำที่เป็นกุศลทางทวารต่างๆ ได้แก่ ทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ เมื่อจำแนกแล้วมี ๑๐ ประการ ดังนี้

ทางกาย ๓ ได้แก่

การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑

การงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑

การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑

ทางวาจา ๔ ได้แก่

การงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑

การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ ๑

การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑

การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑

ทางใจ ๓ ได้แก่

การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น ๑

การไม่พยาบาทปองร้าย ๑

สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) ๑

กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั้น เป็นความดีทั้งหมด จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียดลึกชึ้ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง เพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องเตือนเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ขณะที่มีความประพฤติที่เรียบร้อยดีงาม วิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามเป็นต้น, ตั้งจิตไว้ชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น นั้น เป็นการประพฤติธรรมในชีวิตประจำวัน ประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นความประพฤติที่เป็นไปเพื่อระงับซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อีกประเด็นหนึ่งที่ถาม คือ ให้นิยามในการทำบุญควรทำอย่างไร

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศลเป็นบุญ (ซึ่งก็สามารถกล่าวโดยโวหารของชาวโลกได้ว่า ผู้นั้น ผู้นี้กระทำบุญ) ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ก็ไม่ใช่บุญ

ดังนั้น ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส ก็จะไม่ละเลยโอกาสในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าจะกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว กุศลกรรมบถ กับ บุญ ก็มีอรรถอย่างเดียวกัน

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

กุศลกรรมบถ 10 กับบุญกริยาวัตถุ 10 ต่างกันอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ค. 2554

การกระทำบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีมากถึง ๑๐ ประการ ด้วยกัน ดังนี้

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และ การอบรมให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ

ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญกุศล เรื่องของการกระทำบุญ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่ดีงาม ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การมีเมตตา มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนหวังดีต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่หวังร้าย พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ทุกเมื่อ ตลอดจนถึงความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นการประพฤติธรรม เป็นการประพฤติที่เป็นไปเป็นเพื่อชำระจิตของตนให้สะอาดจากอกุศล ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ know และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jesse
วันที่ 6 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 7 พ.ค. 2554

"ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส ก็จะไม่ละเลยโอกาสในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ "

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 7 พ.ค. 2554

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 7 พ.ค. 2554

บุญเป็นความดี เป็นกุศล แต่ กุศลมีสองอย่างคือ เป็นไปในวัฎฎะ และ ไม่เป็นไปในวัฎฎะเป็นไปในวัฎฎะ มีเราทำ แต่ไม่เป็นไปในวัฎฎะ มีความเข้าใจว่าไม่มีเราทำ เป็นไปตามปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
know
วันที่ 9 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 11 พ.ค. 2554

ขณะที่ประเสริฐ คือ ขณะที่ได้ทำความดีและเข้าใจธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 12 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 23 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pepa
วันที่ 29 พ.ย. 2558

พอเข้าแล้วค่ะกราบขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Phakhwan
วันที่ 14 มี.ค. 2560

เข้าใจในธรรมมากขึ้น ขออนุโมทนาบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เฉลิมพร
วันที่ 11 มิ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ