กุศลหรืออกุศลเกิด...เป็นไปตามอุปนิสัย
ผู้ที่ฟังพระธรรมแล้ว ใช่ว่าจะมีหิริ โอตตัปปะ งดเว้นจากทุจริตได้ แต่ที่จริงแล้ว
ต้องเป็นไปตามอุปนิสัยที่สะสมมาเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น เพราะเหตุว่าได้สะสม
อกุศลมามากในอดีต เป็นเหตุให้ในชีวิตประจำวันอกุศลจึงเกิดมากกว่ากุศล เห็น..
ได้ยิน...ขณะนี้อกุศลก็เกิดแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะหาวิธี ที่จะไม่ให้อกุศลเกิดได้
เพราะอกุศลเกิดแล้วตามการสะสม ต้องเป็นผู้ตรง มิเช่นนั้นก็จะมีเราที่จะไปจัดการ
แต่ความเข้าใจธรรมที่จะเข้าใจว่า กุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น ก็เป็นเพียงธรรมะ
ไม่ใช่เรา ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่า ธรรมะเป็นธรรมะ เกิดเพราะเหตุ
ปัจจัย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีทางดับกิเลสได้เลย
....ขออนุโมทนาค่ะ..
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น กุศล เป็นธรรม อกุศล ก็เป็นธรรม แต่ธรรมทั้งสองนี้ มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพราะกุศล ไม่มีโทษ ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน ส่วน อกุศล เป็นธรรมฝ่ายดำ มีโทษ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีความเข้าใจบ้าง ว่ากุศลเป็นธรรมที่ดีงาม ควรเจริญให้ขึ้นในชีวิตประจำวัน ส่วน อกุศล เป็นธรรมที่มีโทษไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น แต่แม้กระนั้น อกุศลจิต ก็เกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวันนานๆ ถึงจะมีกุศล เกิด แทรกสลับกับอกุศล เท่านั้นจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่ประมาท เพลิดเพลินไป ไหลไปด้วยอำนาจของอกุศล โดยไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม ไม่เห็นคุณค่าของกุศลธรรมเลย ถ้าประมาทมัวเมาอย่างนี้ ย่อมไม่ดีแน่ มีแต่จะพอกพูนอกุศลให้หนาแน่นขึ้น จนยากที่จะแก้ไขได้ เมื่อเป็นรู้ว่าอกุศลมีมากธรรมที่จะเป็นไปเพื่อละคลายอกุศล มีเพียงกุศลธรรมเท่านั้น ผู้ที่สะสมมาดี เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม ก็ย่อมจะเป็นผู้ถอยกลับจากอกุศล แล้วเพิ่มพูนกุศล ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของธรรม คือ จิต และ เจตสิก ฝ่ายดี เลย มีข้อความตอนหนึ่งที่ควรพิจารณา (คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหาร-วนเขตต์) คือ "ในกาละ (เวลา) นี้ ถ้าสามารถที่จะลดคลายลงบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นการดี คือ สั่งสมการละคลาย สั่งสมการไม่ติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขณะนั้น เพื่อขณะอื่นที่ละคลายไม่ได้ ก็ยังจะมีกำลังของการที่เคยได้ละคลายมาบ้าง แม้เพียง นิดๆ หน่อยๆ ค่อยๆ สั่งสมทางฝ่ายกุศลไป เพื่อที่ว่าเวลาที่ทางฝ่ายอกุศลมีกำลังมาก อย่างน้อยก็จะผ่านเหตุการณ์นั้นไป เพราะเหตุว่าเคยสั่งสมเหตุปัจจัยที่จะทำให้กุศล คือการละคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะทำให้ไม่ประพฤติทุจริตกรรม และก็ยังสามารถที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า "ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรม เจริญขึ้นจนถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้โดยเด็ดขาด) จะเป็นผู้ที่ประมาทอกุศลไม่ได้เลย" ...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่เมตตา และ ทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การศึกษาธรรมที่ถูกต้องคือเริ่มจากความเข้าใจในความเป็นธรรม ในความเป็นอนัตตา
เข้าใจขั้นการฟังว่า ไม่มีสิ่งใดอยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาไม่ไ่ด้ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา
ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัย การเห็นจะเกิดขึ้น ต้องอาศัย ตา อาศัยสี
และแสงสว่างรวมทั้งจิตที่รำพึงถึง การเห็นจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครหรือบุคคลใดจะ
ทำให้เห็นหรือสภาพธรรมใดเกิดขึ้นได้ด้วยความเป็นตัวตนเพราะต้องอาศัยเหตุปัจจัย
คือสภาพธรรมอื่นๆ ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพ
ธรรมแต่ละอย่างครับ อกุศลก็มีหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเพราะมีความไม่รู้ อวิชชาที่สะสมมา
เนิ่นนาน เมื่อมีความไม่รู้ อกุศลประการต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ เมื่อได้เห็น ได้ยิน รูปและ
เสียงต่างๆ ย่อมมีเหตุให้จิตเป็นอกุศลเพราะยังมีเชื้อของอกุศลคือความไม่รู้และกิเลส
ประการต่างๆ ที่สะสมมามากครับ ในทำนองเดียวกัน กุศลธรรมจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัย
เหตุปัจจัย คือการสะสมกุศลมาในกาลก่อน ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นใน
ปัจจุบันได้ เช่น เมื่อไหร่ที่กุศลขั้นใดเกิดคือการให้ทาน เป็นต้น ย่อมพิจารณาได้ทันที
ว่าเพราะเมื่อก่อนเคยสะสมการให้มาก่อน ปัจจุบันจึงมีการให้เกิดขึ้น ในทางอกุศล
หากมีความโกรธเกิดขึ้นก็เพราะเคยโกรธมาก่อน ปัจจุบันจึงมีความโกรธเกิดขึ้น เพราะ
ธรรมคือจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม เมื่อเกิดจิตประเภทใดคือกุศลบ้าง อกุศลบ้าง สภาพ
ธรรมเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นและดับไป แต่สะสมไว้ สะสมที่จะเป็นอุปนิสัย ที่มีกำลังอัน
เป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมนั้นอีก ทำให้แต่ละคนมีอุปนิสัยต่างๆ กัน เหตุที่มีการสะสม
อุปนิสัยมาต่างๆ กัน เพราะมีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลต่างๆ กัน
ครับ เพราะฉะนั้นจะเห็นถึงความวิจิตรของจิตที่เป็นสภาพธรรมที่สะสม สะสมทั้งที่เป็น
กุศลหรืออกุศลที่เกิดขึ้น จนทำให้มีอุปนิสัยต่างๆ กัน และเมื่อสภาพธรรมใดเกิดไม่ว่าจะ
เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเพราะเคยเกิดสภาพธรรมเหล่านี้ใน
อดีต จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมเหล่านี้ในปัจจุบัน ธรรมทั้งหลายจึงเกิดขึ้น
เพราะเหตุปัจจัย คือเกิดเพราะอาศัยสภาพธรรมในกาลก่อนเป็นปัจจัยให้เกิดสภาพ
ธรรมในปัจจุบัน สะสมเป็นอุปนิสัย อุปนิสัยปัจจัยนั่นเองครับ
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 172ชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ
โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑
โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.
กุศลหรืออกุศลที่เกิดขึ้นจึงแสดงให้เห็นถึงการสะสมอุปนิสัยมาที่ต่างๆ กันของสัตว์
โลก หากไม่มีจิตไม่มีสภาพธรรมก็จะไม่มีการสะสมอุปนิสัยเลย ที่สำคัญกุศลหรือ
อกุศลก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ในเมื่อเป็นสภาพธรรม เป็นอนัตตาแล้วจึงบังคับบัญชา
ไม่ได้ที่จะให้เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แต่เมื่อเข้าใจ
ถึงว่าเมื่อสภาพธรรมเกิดขึ้นจะต้องอาศัยเหตุ ก็เป็นผู้เห็นประโยชน์อบรมเหตุอันเป็น
ไปเพื่อเห็นโทษของอกุศลและเพื่อความเจริญขึ้นของกุศล นั่นคืออบรมปัญญาหรือ
วิชชา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าวิชชาหรือปัญญาเป็นหัวหน้าของกุศลธรรม เมื่อมี
ปัญญา กุศลธรรมประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นเพราะมีเหตุคือปัญญา ความเห็นถูก ย่อมทำ
ให้คิดถูก วาจาถูก การกระทำถูก ระลึกถูก จะเห็นได้ว่ากุศลธรรมประการต่างๆ ย่อม
คล้อยตามไปเมื่อมีความเห็นถูกคือสัมมาทิฏฐิเพราะฉะนั้น อบรมเหตุคือการฟังพระธรรม
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ธรรมจะทำหน้าที่เองคือขัดเกลากิเลส
และความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ เพราะความเจริญขึ้นของปัญญานั่น
เองครับ ธรรมทั้งหลายจึงเป็นไปตามเหตุปัจจัย สำคัญที่อบรมเหตุและธรรมจะทำ
หน้าที่เอง เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็เบา ไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะรู้ว่าเป็นธรรม
และเป็นธรรมดา หากเดือดร้อนก็ลืมไปว่าเป็นธรรม หนทางการอบรมปัญญาจึงเริ่มจาก
ความเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา กิเลสต้องละเป็นลำดับขั้นครับ
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 2 อวิชชาสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม
เกิดร่วมกับความละอายบาป (หิริ) ความสะดุ้งกลัวบาป (โอตัปปะ) ความเห็นชอบ
ย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็น
ชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจา
ชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่
ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มี
ระลึกชอบ.
-----------------------------------------------------------------------------
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 182
[๑๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็น
เหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล
เป็นผู้มีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้น
แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง.
------------------------------------------------------------------------------
" จะจับโจร แต่ไม่รู้จักโจร "
เป็นวลีหนึ่ง ที่ฝังไว้ ในหทัย
กราบท่านอาจารย์
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่เมตตาและทุกๆ ท่านครับ
ในพระไตรปิฏกก็มีแสดงไว้ กุศลและอกุศลได้สะสมไว้แล้วในอดีต ในปัจจุบันก็ทำอีก
เช่น พระอานนท์เคยสละ ชีวิตช่วยพระพุทธเจ้า ตอนที่พระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคีรี
แม้ในอดีตพระอานนท์ก็เคยสละชีวิตช่วยพระพุทธเจ้า เมื่อตอนที่เกิดเป็นหงส์ ฯลฯ ค่ะ
"..ค่อยๆ สั่งสมทางฝ่ายกุศลไป
เพื่อที่ว่าเวลาที่ทางฝ่ายอกุศลมีกำลังมาก
อย่างน้อยก็จะผ่านเหตุการณ์นั้นไป
เพราะเหตุว่าเคยสั่งสมเหตุปัจจัยที่จะทำให้กุศล
คือการละคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ทำให้ไม่ประพฤติทุจริตกรรม.."
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
เรียนถามคุณเมตตาว่า ผู้ที่หันไปทำกุศลในรูปแบบต่างๆ ขอไม่เอ่ยชื่อสถานที่นะคะ
โดยเขาเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าแต่หลังจากที่ดิฉันได้ฟังพระธรรมและพอเข้าใจ
บ้าง ดิฉันคิดว่าเขาเดินทางผิดแล้ว อย่างนี้จะเรียกว่าเขาไปทำกุศลหรืออกุศลคะเพราะ
เขาก็เป็นคนชอบทำบุญทำทานอยู่ แต่ขาดการฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจมาก่อน ถือว่า
ดิฉันเขียนถามเพื่อระบายความรู้สึกนะคะ เพราะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันแต่ก็อยู่
ห่างกันและมีเรื่องอื่นต้องบาดหมางใจกันไปแล้ว ขอบคุณค่ะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 49
เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๒
๑. มหาจุนทเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระมหาจุนเถระ
[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ
การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา
บุคคลจะรู้ประโยชนก็เพราะปัญญา
ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้
ฯลฯ
เรียนคุณพรรณี (ความคิดเห็นที่ ๑๒)
ผู้ที่กระทำบุญกระทำกุศลนั้นมีทั้งกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วย
ปัญญา กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ยังเป็นเหตุให้ได้รับกุศลวิบาก แต่ผลของกุศล
นั้นไม่เป็นเหตุให้ออกจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้ นอกจากกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
เท่านั้น ในกาละที่ยังไม่มีการอุบัติขึ้นแห่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำ
สอนยังไม่มี แสงเงินแสงทองยังไม่ปรากฏ กุศลใดๆ ก็ไม่สามารถออกจากวัฏฏะทุกข์
สำหรับผู้ที่มีศรัทธากระทำกุศลแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเช่น สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม
สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติโดยมีความเห็นผิดเข้าใจผิดจากพระธรรมคำสอน กุศลนั้น
เล็กน้อยมากที่ให้สถานที่ แต่ผลที่เป็นเหตุให้ผู้คนประพฤติปฏิบัติผิดนั้นมีผลเป็นทุกข์
โทษหนักมาก
เพราะฉะนั้น กุศลใดๆ ก็ไม่ประเสริฐเท่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาคือ
ความเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนี้ เพื่อค่อยๆ ละความไม่รู้ ละความ
ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา และการอบรมเจริญกุศลทุกประการด้วยความเห็นถูกเข้า
ใจถูกจึงจะเป็นหนทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้จริงค่ะ
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...
ผู้ไม่ไตร่ตรองธรรมด้วยปัญญา [อลคัททูปมสูตร]
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 45
ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ
ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะ
เหมือนกัน แต่คนพาล ย่อมนอนหวาดอยู่
เพราะความที่ตนเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์
อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว
เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่า
ทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้
คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความ-
หลงในภพน้อยภพใหญ่ เพราะไม่มีปัญญา
เครื่องให้ถึงที่สุด
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...