ปัจจุบันยังมีการถวายอาหารตามทักขิณาวิภังคสูตรหรือไม่ อย่างไร

 
oj.simon
วันที่  14 พ.ค. 2554
หมายเลข  18356
อ่าน  2,625

ผมขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยตอบให้ทราบด้วยครับว่า

1. เนื่องจากสมัยนี้ปรากฏว่าไม่มีสงฆ์ฝ่ายภิกษุณีแล้ว ดังนั้น ปัจจุบันยังมีการถวายอาหารแด่พระพุทธรูปเมื่อมีสงฆ์สองฝ่าย [ทักขิณาวิภังคสูตร] อยู่หรือไม่ครับ หากยังพอมีหนทางในการสร้างบุญนี้อยู่ ควรถวายให้ถูกต้องอย่างไรครับ

2. การถวายอาหารข้างต้นนี้เหมือนการถวายสังฆทานหรือไม่ อย่างไรครับ

3. การถวายสังฆทานที่ถูกต้องเป็นอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

1. เนื่องจากสมัยนี้ปรากฏว่าไม่มีสงฆ์ฝ่ายภิกษุณีแล้ว ดังนั้น ปัจจุบันยังมีการถวาย อาหารแด่พระพุทธรูปเมื่อมีสงฆ์สองฝ่าย [ทักขิณาวิภังคสูตร] อยู่ หรือไม่ครับ หากยัง พอมีหนทางในการสร้างบุญนี้อยู่ ควรถวายให้ถูกต้อง

ปัจจุบันไม่มีภิกษุณีแล้วครับ เพราะฉะนั้นการถวายสังฆทานในแบบแรกคือถวายแด่ สงฆ์สองฝ่ายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จะไม่สามารถถวายสังฆทานในกรณีนี้ได้ครับ แต่ขออนุญาตเรียนเรื่องการถวายสังฆทานตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่ามีหลาย ประการดังนี้ครับ

[๗๑๒] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ

1. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์

2. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

3. ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓.

4. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์

5. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์

6. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์

7. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ ทาน เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗.

ดังนั้นการถวายสังฆทานอันถึงแด่สงฆ์นั้นในข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 ไม่ สามารถทำได้เพราะเหตุว่าไม่มีภิกษุณีแล้วครับ ข้อ 2 ที่ถวายกับพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานแล้วคือตั้งพระพุทธรูปไว้ แล้วจึงถวาย อาหารก่อนเพื่อพระพุทธเจ้าเป็นประมุขกับสงฆ์สองฝ่าย แต่ในเมื่อไม่มีพระภิกษุณีแล้ว ไม่มีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเอาอาหารไปถวายพระพุทธรูปให้พระพุทธเจ้า เป็นประธานเพราะไม่มีสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแล้วครับ

หากยังพอมีหนทางในการสร้างบุญนี้อยู่ ควรถวายให้ถูกต้อง?

จากที่เรียนในเรื่องการถวายแด่สงฆ์ อันเป็นสังฆทานมี 7 ประการนั้น ซึ่งบางประการ ไม่สามารถทำได้อีกเพราะไม่มีพระภิกษุณีแล้ว แต่ก็ยังมีบางประการที่สามารถถวายแด่ สงฆ์ได้ เช่น ถวายกับหมู่พระภิกษุสงฆ์ หรือเผดียงสงฆ์คือขอพระภิกษุ 1 รูปหรือจำนวน เท่านี้ จากสงฆ์ที่สมมติขึ้นเป็นตัวแทนสงฆ์ให้มารับอาหาร ปัจจัยต่างๆ ครับ นั่นก็เป็นการ ถวายแด่สงฆ์ได้ครับ

ที่สำคัญการถวายสังฆทานเป็นเรื่องของปัญญาและเป็นเรื่องละ บุญไม่ใช่มีเพียงการ ถวายสังฆทานเท่านั้น แต่หากเพราะว่าเราต้องการบุญมาก จึงถวายสังฆทานนั่นก็ไม่ถูก ต้องเพราะไม่ใช่เรื่องของการละอันเป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนาเลย และที่สำคัญหากขาดความเข้าใจก็ไม่มีทางเป็นสังฆทานได้เลย ซึ่งจะขอกล่าวในเรื่อง เป็นสังฆทานอย่างไรในความเห็นต่อไปครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ทักษิณาทาน สังฆทาน [ทักษิณาวิภังคสูตร]

อย่างไรจึงชื่อว่าถึง สังฆทาน [ทักษิณาวิภังคสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ค. 2554

2. การถวายอาหารข้างต้นนี้เหมือนการถวายสังฆทานหรือไม่ อย่างไรครับ

การถวายอาหารโดยมีพระภิกษุและพระภิกษุณีมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข หรือใน 7 ประการที่กล่าวมาจะเป็นสังฆทานหรือไม่สำคัญที่จิตของผู้ถวาย หากเป็นการถวายด้วย จิตนอบน้อมมุ่งตรงแด่งสงฆ์ แม้ภิกษุนั้นจะไม่ใช่พระอริยะบุคคล แต่สามารถทำจิตให้ เหมือนถวายแด่งพระอริยะ ผู้เป็นสังฆรัตนะ ขณะนั้นจึงเป็นสังฆทาน เพราะมุ่งถวายแด่ สงฆ์ที่เป็นปรมัต ไม่ใช่ภิกษุบุคคลครับ

ดังนั้นจะเป็นสังฆทานหรือไม่สำคัญที่จิตเป็น สำคัญครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ค. 2554

3. การถวายสังฆทานที่ถูกต้องเป็นอย่างไรครับ

การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากปัญญาความเข้าใจพระธรรม การถวายสืิิ่งใด ที่เป็นปัจจัย 4 มีจีวร อาหาร ยารักษาโรค เสนาสนะ เหล่านี้อันเป็นของที่เหมาะสมกับ พระภิกษุ การถวายนั้นด้วยจิตที่มุ่งตรงแด่สงฆ์คือมุ่งถวายแด่สงฆ์ ซึ่งการจะน้อมระลึก อย่างนั้นได้ พระุพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้เพราะเป็นเรื่องของ ปัญญา การถวายสังฆทานจึงสำคัญที่จิตของผู้ถวาย เพราะในอรรถกถาก็แสดงว่า แม้ผู้ใดขอพระภิกษุมาและได้สามเณร แต่เกิดจิตไม่ยินดี แม้ถวายอยู่ก็ไม่เป็นสังฆทาน และแม้ผู้ใดจะได้พระเถระมาและยินดีว่าเราได้พระเถระผู้ใหญ่ แล้วถวายทาน นั่นก็มไม่ เป็นสังฆทานเพราะใจ ไม่ได้มุ่งน้อมถวายแด่สงฆ์แต่เพ่งไปที่ภิกษุบุคคล เพราะฉะนั้น การถวายสังฆทานจึงสำคัญที่จิตเป็นสำคัญครับ ด้วยปัญญาความเข้าใจถูกต้องนั่น เองจึงจะเป็นสังฆทานได้ครับ

ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญมากขึ้นย่อมเห็นโทษของอกุศลและเห็น ประโยชน์ของกุศลทุกๆ ประการและเป็นผู้เจริญกุศลทุกๆ ประการเท่าที่ทำได้ อันเป็น การขัดเกลากิเลสเพราะขณะที่กุศลเกิดขณะนั้นอกุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเป็น ผู้ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอันเป็นสนิทที่เกิด ขึ้นในใจครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 14 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาิวิภังคสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทานที่ถึงแล้ว (หรือถวายแล้ว) ในสงฆ์ ๗ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

๒. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

๓. ให้ทานในพระภิกษุสงฆ์

๔. ให้ทานในพระภิกษุณีสงฆ์

๕. นิมนต์สงฆ์ว่า "ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า" แล้วให้ทาน

๖. นิมนต์สงฆ์ว่า "ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า" แล้วให้ทาน

๗. นิมนต์สงฆ์ว่า "ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า"แล้วให้ทาน

เมื่อพิจารณาจากพระสูตรตามที่ได้สรุปมา ปัจจุบันไม่มีพระภิกษุณีแล้ว ดังนั้น ในปัจจุบัน ผู้มีจิตศรัทธาที่จะถวายสังฆทาน (ทานที่เป็นไปเพื่อสงฆ์) ก็สามารถกระทำ ได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๓ ให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำกัดจำนวน ไม่เจาะจง และ ประเภทที่ ๖ ได้แก่ ให้ทานแก่พระภิกษุที่นิมนต์มาจากสงฆ์ จะเป็นกี่รูปก็ได้ ซึ่งได้รับอนุมัติจากสงฆ์

ควรที่จะได้พิจารณาว่า สังฆทาน เป็นการถวายไทยธรรมมุ่งตรงต่อสงฆ์ (มุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์) โดยไม่มีการเจาะจง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงอาหารอย่างเดียวเท่านั้นยังหมายรวมถึงปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิตประการอื่นๆ ด้วย เช่น จีวร ยารักษาโรค เป็นต้น ทั้งหมดมุ่งตรงต่อสงฆ์ จุดประสงค์ของการถวายสังฆทาน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ขัดเกลาความตระหนี่และอกุศลธรรมประการอื่นๆ ถ้าเป็นความต้องการที่จะได้ผลมากจากการถวายสังฆทาน นั่นไม่ใช่สังฆทาน เพราะการถวายสังฆทาน เป็นการให้ทานมุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์ แสดงถึงจิตใจที่อ่อนโยนประกอบด้วยความนอบน้อมเคารพยำเกรง ต่อสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ถวายสังฆทาน

แต่ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้เจริญกุศลประการต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ตามกำลังความสามารถของตน ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาไปตามลำดับ ถ้าเริ่มเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับแล้ว การเจริญกุศลทั้งหลายในชีิวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน (การให้ สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น อันเป็นการสละซึ่งความตระหนี่) ในเรื่องของศีล (งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ และประพฤติในสิ่งทีดีงาม) ในเรื่องของภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) ย่อมเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนทั้งสิ้น ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
icenakub
วันที่ 14 พ.ค. 2554

สาธุ สาธุ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
oj.simon
วันที่ 15 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาความเห็นที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งผมถือว่าเป็นผู้มีพระคุณในทางธรรมของผม

ขออนุญาตเรียนถามต่ออย่างนี้ครับ ผมมีความเห็นเหมือนกับความเห็นที่ 1 ตรง ความว่า "ที่สำคัญการถวายสังฆทานเป็นเรื่องของปัญญาและเป็นเรื่องละ ส่วนความ ว่า" หากเพราะว่าเราต้องการบุญมาก จึงถวายสังฆทานนั่นก็ไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่เรื่อง ของการละอันเป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนาเลย "

ผมก็เห็นด้วยแต่ขอ สอบถามเพิ่มเติมดังนี้ครับ ตามกระทู้ของผมๆ ต้องการหาวิธีทำบุญแล้วได้ผลมากอย่าง ที่ว่ามาจริงๆ ครับ เพราะผมมั่นใจว่าตราบใดที่เราเข้ายังไม่ถึงกระแสพระนิพพานก็ยังต้อง เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารต่อไป ด้วยเหตุนี้อย่างน้อยเมื่อเราได้มาพบพระพุทธศาสนาพบ วิธีสร้างบุญที่มีผลมากได้จริงกับเพื่อไม่ให้วิธีที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้สูญเปล่า กอปรกับเมื่อผมมีวาสนาได้มาพบวิธีสร้างบุญที่มีผลมากนี้ ผมจะไม่ยอมเพิกเฉยโดยจะ ลงมือสร้างกุศลกรรมนั้นๆ แม้มิได้ทำสม่ำเสมอ แต่ก็พยายามทำให้ถูกต้องและมากเข้า ไว้ จักได้ไม่แห้งแล้งจนเกินไปเพราะยังพอมีเสบียงติดตัวไว้ใช้ในการเวียนว่ายอยู่บ้าง ครับ เมื่อใดที่เข้าถึงแล้วผมจะกลับมาพิจารณาละเลิกทั้งบาปและบุญต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
oj.simon
วันที่ 15 พ.ค. 2554

ต่อข้อซักถามในความเห็นที่ 4 ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่าปัจจุบันเรายังสามารถถวาย สังฆทานได้ 2 วิธี คือ

1.ด้วยการให้ทานในพระภิกษุสงฆ์

2.ด้วยการขอมติสงฆ์ขอ ได้โปรดจัดภิกษุตามจำนวนที่นิมนต์ขึ้นเป็นสงฆ์แก่เจ้าภาพ

ซึ่งทั้ง 2 วิธีจะครบถ้วน ด้วยการถวายทาน นอกจากนี้การถวายสังฆทานเป็นเพียงหนึ่งในสามวิธีที่จะได้บุญ ซึ่งหากจะกล่าวให้สมบูรณ์แล้วบุญก็คือการบำเพ็ญทาน ศิล และภาวนา

มีข้อซักถาม ในประเด็นนี้คือผมเข้าใจโดยได้ยินมาว่าการทำทานแม้จะเป็นการทำสังฆทาน 100 ครั้ง บุญก็ยังไม่เท่ากับการรักษาศิลห้า 1 ครั้ง การรักษาศิลห้า 100 ครั้งบุญก็ยังไม่เท่าการ บำเพ็ญภาวนาสมาธิ 1 ครั้ง ข้อความนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

การจะได้ผลหรืออานิสงส์มากก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการครับ ปัจจัยประการหนึ่ง ที่จะทำให้ผล อานิสงส์ของบุญมากคือจิตของผู้ถวายหรือทำบุญเองครับ ซึ่งในความเ ป็นจริง สัตว์ บุคคลไม่มี มีแต่จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ผลของบุญจะมาก จิตที่เป็นกุศล กรรมในขณะนั้นจะต้องเป็นจิตที่บริสุทธิ์คือประกอบด้วยกุศลเป็นชวนจิตหลายๆ ขณะ และประกอบด้วยปัญญา แต่เมื่อมีโลภะ ความต้องการแทรกขึ้น อานิสงส์ผลของบุญก็ น้อยลงไปครับ อันนี้ผมกล่าวตามความเป็นจริงในเรื่องของเหตุผลว่าบุญจะมีอานิสงส์ มาก เช่น การถวายทาน คือ จิตของผู้ถวาย ไทยธรรมที่ได้มาโดยชอบธรรม และวัตถุที่ใ ห้ผู้รับ ดังนั้นสำคัญที่จิตของผู้ถวายด้วยครับว่าจะมีอานิสงส์มากหรือไม่มาก รวมทั้งจะเ ป็นสังฆ?านหรือไม่ก็สำคัญที่จิตของผู้ถวายเช่นกันครับ ผมเห็นด้วยครับว่าเราควรเ จริญกุศลทุกๆ ประการ เพราะว่าเรายังต้องเดินทางอีกยาวไกลในสังสารวัฏฏ์ แต่ควรรู้เ หตุผลและจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการเจริญกุศลคืออะไร และอานิสงส์มากก็อยู่ที่จิตของ ผู้ถวายครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ขอเรียนอธิบายเป็นลำดับดังนี้ครับ

กุศลมี 3 ระดับคือทาน ศีล ภาวนา (การอบรม ปัญญาและความสงบ) หรือเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ กุศลขั้นทานซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงแสดงว่ามีทั้งที่เป็นกุศลที่เป็นปาฏิบุคคลลิกทานคือให้ทานเจาะจง กับสังฆทานที่ เป็นทานถวายแด่สงฆ์ ทานที่ถวายเฉพาะเจาะจงมีผลน้อยกว่าทานที่เป็นสังฆทาน ทานที่ถวายเฉพาะเจาะจง เช่น ให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน ให้ทานกับผู้ทุศีล ให้ทานกับ ผู้มีศีล ให้ทานกับพระโสดาบัน ... ให้ทานกับพระอรหันต์..ให้ทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้ทานกับพระพุทธเจ้านี่คือให้ทานเฉพาะเจาะจงครับ แต่การให้โดยเป็นสังฆทานมีผล มากกว่าการถวายเฉพาะเจาะจงครับ เพราะมุ่งถวายแด่งสงฆ์

ส่วนข้อความที่กล่าวถึงร้อยครั้งจะกล่าวถึง การให้กับผู้เป็นพระโสดาบันร้อยท่าน ก็ ไม่เท่ากับถวายกับพระสกทาคามีท่านเดียว การถวายกับพระสกทาคามีร้อยท่านก็ไม่เท่า กับถวายกับพระอนาคามีท่านเดียวครับ ... การถวายกับพระปัจจเจกพุทธเจ้าร้อยองค์ก็ไม่ เท่ากับถวายกับพระพุทธเจ้าองค์เดียวครับ และอีกนัยหนึ่งในทักขิณาวิภังคสูตร แสดง เรื่องของร้อยเท่าคืออานิสงส์ร้อยเท่าไว้ครับว่า การให้ทานกับสัตว์เดรัจฉานมีอานิสงส์ ร้อยเท่า การให้ทานกับผู้ทุศีลมีอานิสงส์พันเท่า การให้ทานกับผู้ปฏฺบัติเพื่อถึงพระ โสดาบันมีอานิสงส์หาประมาณไมไ่ด้จะกล่าวไปใยถึงการให้พระโสดาบัน แต่การให้ เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ก็มีผลน้อยกว่าการให้ที่เป็นสังฆทานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2554

ได้ยินมาว่าการทำทานแม้จะเป็นการทำสังฆทาน 100 ครั้งบุญก็ยังไม่เท่ากับการ รักษาศิลห้า 1 ครั้ง การรักษาศิลห้า 100 ครั้งบุญก็ยังไม่เท่าการบำเพ็ญภาวนาสมาธิ 1 ครั้ง ข้อความนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ


แต่ไม่มีข้อความโดยตรงที่แสดงถึงว่าให้ทานถวายสังฆทาน 100 ครั้งก็ยังไม่เท่ากับ การรักษาศีล 1 ครั้ง แต่ก็พอเข้าใจได้และเป็นอย่างนั้นครับคือ ในพระไตรปิฎกพระ พุทธเจ้าแสดงว่า การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศมีผลมากกว่าทาน ที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้าง วิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ การถึงศีล 5 มีผลมากกว่าการถึงพระรัตนตรัยเป็น สรณะการเจริญเมตตาแม้เพียงเล็กน้อยมีผลมากกว่าการรักษาศีล 5 การเจริญอนิจจ สัญญาหรือการอบรมภาวนา อันเป็นการอบรมปัญญา แม้เพียงชั่วขณะสั้นๆ ลัดนิ้วมือ เดียวมีผลมากกว่าการเจริญเมตตาครับ ซึ่งจากที่คุณกล่าวมาก็ตรงกันในที่ว่า กุศลขั้น ทานมีผลอานิสงส์น้อยกว่า การถวายวิหารแด่งสงฆ์ เหตุเพราะการถวายวิหารมอบแด่ สงฆ์จริงๆ แต่การถวายวิหารแด่งสงฆ์มีผลน้อยกว่าการถึงสรณะเพราะการถึงสรณะ เปรียบเหมือนการสละชีวิตกับพระรัตนตรัย ส่วนการรักษาศีล 5 มีผลมากกว่าทั้งการถึง สรณะและการถวายสังฆทานเพราะ ศีล 5 เป็นมหาทานให้ความปลอดภัยกับสัตว์ทั้ง หลาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินครับ ที่สำคัญเป็นศีล 5 ของบุคคลที่เข้าถึงสรณะแล้วครับ

การเจริญเมตตาจิตมีผลมากกว่าศีล 5 เพราะเป็นการกำจัดข้าศึกคือนิวรณืทำหใ้จิตสงบ แต่ศีลเป็นเพียง รักษากายและวาจาเท่านั้นครับ แต่การเจริญฌานทำให้จิตสงบจาก กิเลสชั่วขณะครับ ขณะนั้นจึงมีผลมากกว่าการรักษาศีล 5 ครับ ส่วนการเจริญภาวนาที่ เป็นวิปัสสนา เช่น การเจริญอนิจสัญญา พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่ามีผลมากกว่าการ เจริญฌาน การเจริญมเมตตา การเจริญภาวนา วิปัสสนามีผลมากกว่าการรักษาศีล มากกว่าการถึงสรณะและมากกว่ากุศลขั้นอื่นๆ ทุกอย่างเหตุผลเพราะการเจริญปัญญา เจริญภาวนาเป็นการกำจัดข้าศึกคือกิเลสที่สะสมมา เมื่อปัญยาเกิดขึ้นกุศลก็มีมากและ เป็นการสละกิเลสและละกิเลสได้อย่างแท้จริงแต่กุศลอื่นๆ ไม่สามารถดับกิเลสได้ครับ อย่างมากเพียงข่มกิเลสไว้เท่านั้นครับ กุศลขั้นภาวนาที่เป็นวิปัสสนาจึงมีผลมากกว่า กุศลขั้นอื่นๆ ทุกระดับครับ

ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 788

คือวิหารทาน บิณฑบาต สิกขา (ศีล 5) การเจริญ เมตตา ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของท่านผู้พิจารณา โดยความสิ้นไป (การภาวนา) .

ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสไว้ในสมัยจะปรินิพพานว่า การ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นการบูชาสูงสุด. บทที่เหลือในบททั้งปวงมีเนื้อความง่าย ทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.

เชิญคลิกอ่านที่นี่อันเกี่ยวกับเรื่องการเจริญกุศลแต่ละขั้นอันมีอานิสงส์ต่างๆ กันไป รวมทั้งที่คุณถามว่าการอบรมภาวนามีผลมากกว่าการรักษาศีลด้วยครับ

เชิญคลิกอ่านครับ ...

เวลามสูตร

อรรถกถา เวลามสูตร

การเจริญกุศล จึงไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการแต่ด้วยความเข้าใจที่ถุก ต้อง อันเกิดจากการศึกษาพระธรรม โดยการเห็นโทษของกิเลสและเห็นคุณของกุศล ผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการพร้อมๆ กับการฟังพระธรรม อบรม ปัญญาอันให้ถึงการดับกิเลสครับ ขออนุโมทนาผู้ถามที่เห็นประโยชน์ของกุศลและต้อง การความจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
oj.simon
วันที่ 15 พ.ค. 2554

สาธุ สาธุ สาธุ! อ่านความเห็นที่ 2 ถึงที่ 4 และความเห็นที่ 8 ถึงที่ 10 แล้วปิติครับ

เพราะทำให้เข้าใจธรรมะได้ลึกซึ้งขึ้น ทั้งยังเป็นกำลังใจที่ได้ทราบว่าเดิมผมก็พอมีความ เห็นที่ถูกต้องอยู่บ้าง ดังนั้น ผมขอตัดสินใจคงความเห็นเดิมของผมเอาไว้แล้วจะขอ ทบทวนความเห็นของทุกท่านที่ได้กล่าวมาแล้วนี้อยู่เน่ืองๆ เพ่ือนำมาเป็นกำลังใจพร้อม ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผมต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 15 พ.ค. 2554
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 16 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปันครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ