อรรถกถา ธรรมจริยสูตร [สุตตนิบาต]

 
khampan.a
วันที่  21 พ.ค. 2554
หมายเลข  18389
อ่าน  1,757

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๔๗ -หน้า ๒๑๘ - ๒๒๖ การประพฤติธรรมมีกายสุจริตเป็นต้น ชื่อว่า ธมฺมจริย ในพระคาถานั้น. มรรคพรหมจรรย์ ชื่อว่า พฺรหฺมจริย. บาทพระคาถาว่า เอตทาหุ วสุตฺตม ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวถึงการประพฤติสุจริตทั้งที่เป็นโลกีย์และโลกุตระแม้ทั้งสองนี้ว่า เป็นสมบัติ สูงสุด เพราะยังสัตว์ให้ประสบความสุขในสวรรค์และนิพพาน อธิบายว่า รัตนะอันอุดมคือรัตนะที่ไม่ทั่วไปแก่ชนทั้งหลายมีพระราชาเป็นต้น เพราะเป็นรัตนะที่สามารถติดตามชนทั้งหลายผู้สั่งสมบุญไว้ ชื่อว่า วสุตตมะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้น ทรงแสดงว่าการปฏิบัติชอบเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของคฤหัสถ์และบรรพชิตได้ ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ บัดนี้เมื่อจะทรงติเตียนพระภิกษุชื่อกปิละหรือภิกษุผู้เช่นนั้นเหล่าอื่น ด้วยการแสดงความไม่มีสาระในบรรพชา ที่เว้นจากการปฏิบัติจึงตรัสว่า ปพฺพชิโตปิ เจ โหติ เป็นต้น. ในคำว่า ปพฺพชิโตปิ เจ โหติ นี้ มีการพรรณนาเนื้อความดังต่อไปนี้ :- ก็ผู้ใดผู้หนึ่งสละเพศคฤหัสถ์ ถ้าแม้บวชด้วยการบวชไม่มีเรือนจากเรือน มีเนื้อความตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในตอนต้น ด้วยการเข้าถึงเหตุสักว่าการปลงผมและการนุ่งผ้าย้อมฝาดเป็นต้น ถ้าหากว่าเป็นคนปากกล้า คือว่าเป็น ผู้พูดคำหยาบ ยินดีในการเบียดเบียน เพราะพอใจในการเบียดเบียนอันมีประการต่างๆ เป็นผู้ประดุจเนื้อร้าย เพราะเป็นผู้เช่นกับเนื้อร้าย เพราะไม่มีหิริ โอตตัปปะ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ค. 2554

บาทคาถาว่า ชีวิต ตสฺส ปาปิโย ความว่า ชีวิตของบุคคลนั้น คือ

ผู้เห็นปานนั้น เป็นบาปยิ่ง คือ เลวยิ่ง.

ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะทำธุลีมีประการต่างๆ มีราคะเป็นต้นของตนให้เจริญขึ้น ด้วยการปฏิบัติผิดนี้. ก็ชีวิตของบุคคลนั้นจะเป็นชีวิตที่ชั่ว ด้วยเหตุนี้อย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ แต่โดยที่แท้บุคคลเห็นปานนี้ นี้ ได้แก่ภิกษุที่ยินดีในการทะเลาะ เพราะเป็นคนมีปากจัด ถูกโมหะธรรมรึงรัดแล้ว เพราะถึงความงมงายในการที่จะรู้แจ้งซึ่งอรรถแห่งสุภาษิต ย่อมไม่ทราบแม้ซึ่งคำที่ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักกล่าวแล้ว โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านกปิละผู้มีอายุ ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้ จงยึดถือเรื่องนั้นโดยปริยายนี้ ไม่รู้จักพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ ไม่รู้จักพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ แม้ตนจะกล่าวอยู่โดยประการต่างๆ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ชีวิตของภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นชีวิตชั่ว (เพราะว่า) ในครั้งนั้น ภิกษุเห็นปานนี้นั้น เพราะเหตุที่ตนพอใจในการเบียดเบียน เมื่อเบียดเบียนอยู่ซึ่งตนที่อบรมแล้ว คือว่า เบียดเบียนอยู่ซึ่งภิกษุขีณาสพผู้มีตนอันอบรมแล้ว มีพระโสธนเถระเป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า"ท่านทั้งหลายซึ่งบวชเมื่อแก่เฒ่า ย่อมไม่รู้พระวินัย ไม่รู้พระสูตร ไม่รู้พระอภิธรรม" ดังนี้. บาทคาถาว่า อวิชฺชาย ปุรกฺขโต ความว่า ผู้ถูกอวิชชามีการปกปิดการเห็นโทษเป็นต้น ในการเบียดเบียนตนที่อบรมแล้ว กระทำไว้ในเบื้องหน้า จึงไม่รู้จักสังกิเลส โดยการพิฆาตจิตในปัจจุบันอันเป็นไปแล้วโดยการเบียดเบียนตนที่อบรมแล้ว ของบรรพชิตที่เหลือทั้งหลาย และไม่รู้จักทางที่จะไปสู่นรก โดยกระทำตนให้เข้าถึงนรกต่อไป ก็เมื่อไม่รู้ก็เข้าถึงวินิบาต อันต่างด้วยอบายทั้ง ๔ โดยทางนั้น และในวินิบาตนั้น เข้าสู่ครรภ์จากครรภ์สู่ที่มืดจากที่มืด คือ อยู่ในครรภ์มารดาในหมู่สัตว์หนึ่งๆ สิ้นร้อยครั้งบ้างพันครั้งบ้าง และจากความมืดคืออสุรกายสู่ความมืด แม้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ไม่อาจขจัดได้ ภิกษุเช่นนั้นนั่นแล ละไปแล้ว คือไปจากโลกนี้สู่ปรโลกแล้ว ก็เข้าถึงทุกข์มีประการต่างๆ ดุจปลาชื่อว่ากปิละนี้. ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เหมือนหลุมคูถ พึงเป็นหลุมหมักหมมอยู่นานปี เต็มเปี่ยมด้วย

คูถนั้น (คือว่า) เปรียบเหมือนหลุมคูถในวัจจกุฎี หมักหมมอยู่นานปี คือสิ้นปีเป็นอเนก พึงเต็มบริบูรณ์อยู่ด้วยคูถถึงขอบปากเป็นเวลาหลายปี หลุมคูถนั้นแม้อันบุคคลล้างอยู่ด้วยน้ำตั้งร้อยหม้อ ตั้งพันหม้อ ก็ล้างให้สะอาดได้ยากเพราะขจัดกลิ่นเหม็นและสีน่าเกลียดให้ปราศจากไปได้ยาก ฉันใด บุคคลเห็น ปานนี้ใด พึงเป็นผู้มีการงานเศร้าหมอง สิ้นกาลนานเหมือนหลุมคูถ เป็น บุคคลที่เต็มไปด้วยบาป เพราะเพียบพร้อมไปด้วยคูถคือบาป ก็บุคคลเห็นปานนี้นั้น ผู้มีการงานอันเศร้าหมอง เป็นผู้ชำระให้สะอาดได้โดยยาก แม้จะเสวยวิบากแห่งกิเลส (เพียงดังนั้น) นั้น สิ้นกาสนาน ก็หาบริสุทธิ์ได้ไม่ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภิกษุเช่นนั้นนั่นแล ละไปแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์สิ้นกาลนาน แม้ประมาณมิได้โดยการนับปี.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ค. 2554

อีกอย่างหนึ่ง ในคาถานี้มีสัมพันธ์ดังต่อไปนี้. ในบาทพระคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้เช่นนั้นแลละไปแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์ ดังนี้ จะพึงมีคำถามสอดเข้ามาว่า ก็ภิกษุนี้ ท่านทั้งหลายสามารถจะกระทำโดยประการที่ละไปแล้วจะไม่เข้าถึงทุกข์ได้หรือไม่ ตอบว่า ไม่สามารถ ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะภิกษุนี้เปรียบเหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี ก็พึงเป็นหลุมที่เต็มด้วยคูถ ดังนี้. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงไว้ก่อนทีเดียวว่า ภิกษุทั้งหลายท่านทั้งหลายจงรู้จักบุคคลเห็นปานนั้นผู้อาศัยเรือน คือว่า พึงทราบบุคคลเห็นปานนั้นผู้อาศัยกามคุณทั้ง ๕ ผู้ชื่อว่ามีความปรารถนาลามก เพราะประกอบด้วยความปรารถนาลามก อันเป็นไปโดยอาการคือการปรารถนาคุณที่ไม่มีจริงผู้ชื่อว่ามีความดำริชั่ว เพราะประกอบด้วยความดำริทั้งหลาย มีกามวิตกเป็นต้นผู้ชื่อว่ามีความประพฤติชั่ว เพราะประกอบด้วยความประพฤติชั่ว มีการประพฤติ ล่วงศีลอันเป็นไปทางกายเป็นต้น และอันต่างด้วยประเภทมีการให้ไม้ไผ่เป็นต้น (เพื่อประจบชาวบ้าน) ผู้ชื่อว่า การโคจรอันชั่ว เพราะการท่องเที่ยวไปในที่ไม่ดี ในที่ไม่สมควร มีสำนักหญิงแพศยาเป็นต้น, ท่านทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้สามัคคีกัน เว้นบุคคลนั้นเสีย และอย่าถึงความขวนขวายน้อย ด้วยเหตุสักว่าการเว้นภิกษุนั้นเท่านั้น แต่โดยแท้แล ท่านทั้งหลายจงกำจัดบุคคลนั้น ผู้เป็นเพียงดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อออกเสีย คือว่าจงคร่าบุคคลผู้เป็นเพียงดังหยากเยื่อนั้นโดยไม่ต้องไยดีประดุจหยากเยื่อ และจงคร่าบุคคลผู้เป็นดังแกลบ ประดุจราชบุรุษคร่าคนจัณฑาลซึ่งเป็นโรคเรื้อนมีแผลแตกไหลออก ผู้เข้าไปในท่ามกลางแห่งกษัตริย์เป็นต้น คือว่าท่านทั้งหลายจงจับบุคคลนั้นที่มือหรือที่ศีรษะแล้วคร่าออกไป เหมือนอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะจับปาปบุคคลนั้นที่แขนดึงออกไปจากซุ้มประตูภายนอกแล้วใส่ลูกดาล (กุญแจ) เสีย แม้ฉันใด ท่านทั้งหลายก็จงคร่าบุคคลนั้นเสียฉันนั้น. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า ชื่อว่าสังฆารามเขาสร้างไว้สำหรับผู้มีศีลทั้งหลาย ไม่ได้สร้างไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่ทุศีล. ต่อแต่นั้นไป ท่านทั้งหลายจงขับบุคคลลีบผู้ไม่ใช่สมณะซึ่งถือตัวว่าเป็นสมณะออกไปเสีย เหมือนอย่างว่า ข้าวลีบทั้งหลายแม้ปราศจากข้าวสารในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนข้าวเปลือก เพราะมีแกลบอยู่ข้างนอก ฉันใด ปาปภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้เว้นจากคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนกับภิกษุ ด้วยบริขารมีผ้ากาสาวะเป็นต้นในภายนอก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ปลาปา (คนลีบ) ท่านทั้งหลาย จงคร่าบุคคลลีบเหล่านั้นเสีย คือจงโปรยไป ได้แก่จงกำจัดบุคคลลีบเหล่านั้น เสีย ซึ่งไม่ใช่สมณะโดยปรมัตถ์ แต่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ ในภาวะสักว่าเพศครั้นกำจัดผู้มีความปรารถนาลามก ผู้มีอาจาระและโคจรอันลามกได้แล้วอย่างนี้เธอทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้ว มีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วมด้วยบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปฺปยฺวโห ความว่า จงสำเร็จ มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายว่า จงกระทำ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ค. 2554

บทว่า ปฏิสฺสตา ได้แก่ มีความเคารพ มีความยำเกรงกันและกัน.บาทคาถาว่า ตโต สมคฺคา นิปกา ทุกฺขสฺสนฺต กริสฺสถ ความว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ สำเร็จอยู่ซึ่งการอยู่ร่วมกับผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย เป็นผู้พร้อมเพรียงกันโดยความเป็นผู้มีทิฏฐิและศีลเสมอกัน เป็นผู้มีปัญญารักษาคน ด้วยปัญญาที่ถึงความแก่รอบโดยลำดับ ท่านทั้งหลาย ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ มีทุกข์ในวัฏฏะเป็นต้นนี้ได้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงให้เทศนาจบลงด้วยลงคือพระอรหัตทีเดียวแล. ในที่สุดแห่งพระเทศนา บุตรชาวประมงจำนวน ๕๐๐ เหล่านั้น ถึงความสังเวช เมือปรารถนาจะทำที่สุดทุกข์ ได้บรรพชาในสำนักของผู้มีพระภาคเจ้า ต่อกาลไม่นานเลย ก็ทำที่สุดทุกข์ได้ ได้เป็นผู้มีการบริโภคเป็นอันเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการบริโภคธรรมคืออาเนญชวิหารสมาบัติ. ก็อาเนญชวิหารสมบัตินั้น ชื่อว่า เป็นสมาบัติที่มีการบริโภคเป็นอันเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นอย่างนี้. ก็สมาบัตินั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่ง ยโสชสูตร ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในอุทาน นั้นแหละ ดังนี้แล. จบอรรถกถาธรรมจริยสูตร [หรือ กปิลสูตร]

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ