ผู้มีความปรารถนาน้อย อัปปิจฉกถา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 83
บทว่า ทฺวตฺตึสาย ติรจฺฉานกถาย คือ ไม่ประกอบด้วยดิรัจฉาน-
กถา ๓๒ ประการของสัตว์ผู้พ้นจากสวรรค์. บทว่า ทส กถาวตฺถูนิ
กถาวัตถุ ๑๐ ประการ คือเหตุอันเป็นวัตถุแห่งกถาอาศัยวิวัฏฏะ (นิพพาน)
๑๐ ประการมีความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยเป็นต้น. บทว่า อปฺปิจฺโฉ
มีความปรารถนาน้อย ในบทว่า อปฺปิจฺฉกถํ นี้ ได้แก่ เว้นความปรารถนา
ไม่มีความปรารถนา ไม่มีความอยาก. อันที่จริงพยัญชนะ ในบทว่า อปฺ-
ปิจฺโฉ นี้ ดูเหมือนจะยังมีพยัญชนะเหลืออยู่. แต่อรรถไม่มีอะไรเหลืออยู่
เลย. เพราะพระขีณาสพไม่มีความปรารถนาแม้แต่น้อย. อีกอย่างหนึ่ง
ในความปรารถนานี้พึงทราบประเภทดังนี้ คือความปรารถนาลาภคนอื่น
เพื่อตน ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ ความปรารถนาน้อย.
ในประเภทความปรารถนาเหล่านั้นพึงทราบดังนี้ ความปรารถนาลาภ
ของผู้อื่นเพราะไม่อิ่มในลาภของตน ชื่อว่าปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน.
ผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตนนั้น แม้ขนมสุกในภาชนะ
หนึ่งที่เขาใส่บาตรของตน ก็ปรากฏเหมือนยังไม่สุกดีและเหมือนเล็กน้อย.
วันรุ่งขึ้นเขาใส่บาตรของผู้อื่น ก็ปรากฏเหมือนสุกดีแล้วและเหมือนมาก.
ความสรรเสริญในคุณอันไม่มี และความไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่ามี
ความปรารถนาลามก. ความปรารถนาลามกนั้นมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า คน
บางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธาปรารถนาว่า ขอให้ชนรู้จักเราว่าเป็นผู้มี
ศรัทธา. บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลาภนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความ
หลอกลวง. ความสรรเสริญคุณอันมีอยู่ และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณใน
การรับ ชื่อว่ามีความปรารถนาใหญ่. แม้ความปรารถนาใหญ่นั้น ก็มา
แล้วโดยนัยนี้ว่า คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ชน
จงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศีล
ดังนี้ บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาใหญ่นั้นเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยท่อนผ้า,
แม้มารดาผู้ให้กำเนิดก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งความคิดของเขาได้. สมดังที่
ท่านกล่าวไว้ว่า
กองไฟ มหาสมุทร และบุคคลผู้มีความปรารถนา
ใหญ่ ชนทั้งหลายให้ปัจจัยจนเต็มเกวียน แม้ทั้งสาม
ประเภทนั้นก็หาอิ่มไม่.
ส่วนความเป็นผู้ปิดบังคุณอันมีอยู่ และรู้จักประมาณในการรับ ชื่อ
ว่า มีความปรารถนาน้อย. บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาน้อยนั้น
เพราะประสงค์จะปกปิดคุณแม้ที่มีอยู่ในตน ถึงมีศรัทธา ก็ไม่ปรารถนาว่า
ขอชนจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา ถึงมีศีล เป็นผู้สงัด เป็นพหูสูต เป็นผู้
ปรารภความเพียร เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เป็นผู้มีปัญญาเป็นพระขีณาสพ
ก็ไม่ปรารถนาว่าชนจงรู้จักเราว่า เป็นพระขีณาสพ เหมือนพระมัชฌัน-
ติกเถระฉะนั้น. ก็แลภิกษุผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ ย่อมยังลาภ
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้ถาวร ยังจิตของทายกให้ยินดี.
มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสแล้วในวัตรของภิกษุนั้นย่อมถวายมาก โดยอาการ
ที่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย จึงรับแต่น้อย.
ยังมีความปรารถนาน้อยอื่นอีก ๔ อย่าง คือ ปรารถนาน้อยใน
ปัจจัย ปรารถนาน้อยในธุดงค์ ปรารถนาน้อยในปริยัติ ปรารถนาน้อยใน
อธิคม (ความสำเร็จ, การบรรลุ) . ใน ๔ อย่างนั้น ความปรารถนาน้อย
ในปัจจัย ๔ ชื่อว่า ปรารถนาน้อยในปัจจัย. ภิกษุใดรู้กำลังของทายก
รู้กำลังของไทยธรรม รู้กำลังของตน ผิว่า ไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์
จะให้น้อยย่อมรับแต่น้อยด้วยกำลังของทายก. ไทยธรรมมีน้อย ทายก
ประสงค์จะให้มาก ย่อมรับแต่น้อยด้วยกำลังของไทยธรรม. แม้ไทยธรรม
ก็มีมาก แม้ทายกก็ประสงค์จะให้มาก รู้กำลังของตนย่อมรับพอประมาณ
เท่านั้น. ไม่ประสงค์จะให้รู้ว่าการสมาทานธุดงค์มีอยู่ในตน ภิกษุนั้น
ชื่อว่า เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในธุดงค์. ส่วนภิกษุใดไม่ประสงค์จะ
ให้รู้ว่าตนเป็นพหูสุต ภิกษุนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในปริยัติ.
ส่วนภิกษุใดได้เป็นพระโสดาบันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ปรารถนา
จะให้รู้ว่าตนเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีความปรารถนา
น้อยในอธิคม. ส่วนพระขีณาสพละความปรารถนาลาภคนอื่นเพื่อตน
ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้มีความ
ปรารถนาน้อย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยความปรารถนาน้อยด้วยความ
บริสุทธิ์ คือไม่โลภอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความปรารถนาโดยประการทั้งปวง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงโทษในธรรมเหล่านั้นว่า
ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือความปรารถนาลาภคนอื่น เพื่อตน
ความปรารถนาลามก ความปรารถนาใหญ่ ควรละเสีย ทรงแสดงว่า
ควรประ-พฤติสมาทานความเป็นผู้ปรารถนาน้อยเห็นปานนี้ ชื่อว่าตรัส
อปฺปิจฺฉกถา ความปรารถนาน้อย.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ความเป็นผู้ปรารถนาน้อย เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นกุศลธรรม จะเป็นอกุศลธรรม
ได้เลย ดังนั้นความเป้นผ็ปรารถนาน้อย
ความมักน้อย ภาษาบาลี คือ อัปปิจโฉ ในอรรถกถาอังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า
ผู้ไม่มีความปรารถนา คือ ไม่มีความโลภ (โลภะ) ซึ่งความไม่มีความโลภก็ย่อมีวัตถุที่จะ
ไม่โลภ มีปัจจัยต่างๆ คือไม่โลภในปัจจัยต่างๆ หรือ คุณธรรมต่างๆ คือไม่โลภคือไม่
แสดงตนว่ามีคุณธรรมต่างๆ ซึ่งขณะนั้นไม่มีความต้องการให้คนอื่นรู้ว่ามีคุณธรรมอะไร
บ้าง จึงชื่อว่าความเป้นผู้ปรารถนาน้อย แต่ขณะนั้นไม่มีโลภะครับ ไม่เป็นอกุศล ซึ่ง
ในเรื่องของความปรารถนา มี 4 ประการดังนี้
1.ผู้ปรารถนาลามก
2.ผู้ปรารถนายิ่งๆ ขึ้น
3.ผู้ปรารถนาน้อยหรือมักน้อย
4.ผู้มักมาก
ผู้ปรารถนาลามกคือผู้ที่พยายามในสิ่งที่ตัวเองไม่มีคุณธรรมนั้น เข่นเป็นผู้ไม่สำรวม
ก็แสดงอาการว่าเป็นผุ้สำรวม เพื่อให้คนอื่นยกย่องหรือสรรเสริญเพื่อลาภ สักการะ
ไม่มีคุณธรรมคือศรัทธาก็ทำเป็นผู้มีศรัทธา ไม่มีคุณธรรมก็แสดงอาการภายนอกว่า
เป็นผุ้มีคุณธรรม เป็นต้น หลอกลวงเพื่อได้มาซึ่งสักการะ ลาภและปัจจัยต่างๆ จึงชื่อ
ว่าเป็นผู้มีความปรารถนาลามก
ผู้ปรารถนายิ่งๆ ขึ้น คือผู้ที่ไม่รุ้จักพอ ไม่อิ่ม ให้เท่าไหร่ไม่พอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วย
เชื้อ มีไม้และวัตถุที่ไหม้ไฟ มหาสมุทรก็ไม่อิ่มด้วยน้ำ แม้คนที่มีความปรารถนายิ่งๆ ขึ้น
ก็ไม่พอในสิ่งต่างๆ ที่ได้มาและก็ย่อมเดือดร้อนกับความไม่พอครับ
ผู้มักมาก คือผู้ที่ตัวเองมีคุณธรรมแต่อยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมีคุณธรรม เพื่อให้ได้
มาซึ่งลาภ สักการะ ปัจจัย เช่น ตัวเองมีศีลก็มีความปรารถนาแสดงอาการให้ผู้อื่นรู้ว่า
ตัวเองมีศีล เป็นต้น หรือการไม่รู้จักพอดีในการับ นั่นก็ชือ่ว่าเป็นผุ้มักมาก ซึ่งต่างกับผู้มี
ความปรารถนาลามกคือตัวเองไม่มีคุณธรรมนั้นแต่แสดง หลอกลวงว่ามีคุณธรรมนั้น แต่
ถ้าเป็นผู้มักมากคือตัวเองมีคุณธรรมนั้นและก็อยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองมีคุณธรรมนั้นครับ---------------------------------------------------------------------------
จะเห็นได้ว่า 3 ข้อที่กล่าวมาเป็นเรื่องของโลภะ ความปรารถนา ความต้องการทั้งสิ้น
ซึ่งไม่ใช่ความเป็นผู้มักน้อยหรือปรารถนาน้อยครับ
ผู้ปรารถนาน้อยหรือมักน้อย คือผู้ไม่มีความปรารถนา ไม่โลภะที่ต้องการให้คนอื่นรู้ว่า
ตนเองมีคุณธรรมอะไร โดยไม่ใช่การหลอกลวงซ้อนว่าแสดงเหมือนเป็นผู้มักน้อยเพื่อให้
ผู้อื่นสำคัญว่าเป็นผู้มักน้อย แต่จิตขณะนั้นเป็นผู้ไม่มีความต้องการจริงๆ ในขณะนั้น และ
รู้จักประมาณในการับด้วยใจจริง นี่ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปรารถนาน้อย มักน้อยครับ
ซึ่งความักน้อย มี 4 ประการคือ
1.มักน้อยในปัจจัย
2.มักน้อยในธุดงค์
3.มักน้อยในปริยัติ
4.มักน้อยในอธิคม
มักน้อยในปัจจัย คือ เป็นผู้รู้จักพอในการรับ ไม่มีความปรารถนาเพิ่มในสิ่งที่ตนเอง
ก็มีอยู่แล้ว คือต้องดูทั้งคนให้ และตัวเองและศรัทธาของผู้ให้ครับ ถ้าผู้ให้มีของมาก
แต่มีศรัทธาน้อยก็รับน้อย ถ้าผู้ให้มีของน้อยแต่มีศรัทธาในการให้มากก็รับน้อย แต่ถ้าผู้
ให้มีของมากและมีศรัทธามากก็ต้องรับพอดีครับ นี่คือความมักน้อย ความไม่โลภใน
ปัจจัยนั่นเองครับ
มักน้อยในธุดงค์ คือ ตัวเองเป็นผู้สมาทานรักษาธุดงค์ก็ไม่มีความปรารถนา ต้อง
การให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองรักษาธุดงค์ครับ
มักน้อยในปริยัติ คือตัวเองเป็นผู้ฟังมากและเข้าใจมากแต่ก็ไม่ปรารถนาให้ใครรู้ว่า
ตัวเองเป็นพหูสูต ฟังมาก เข้าใจมากครับ
มักน้อยในอธิคม หมายถึง ตัวเองบรรลุธรรม แล้วก็ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้ว่าบรรลุ
ธรรมครับ
การศึกษาพระธรรม จึงเป็นเรื่องของการน้อมประพฤติปฏิบัติด้วยความจริงใจทั้งทางกาย
วาจาและใจเป็นสำคัญครับ การขัดเกลากิเลสก็เริ่มจากปัญญาที่เจริญขึ้นอันเนื่องมา
จากการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เห็นโทษของกิเลส ค่อยๆ ขัดเกลากิเลส พระธรรม
จึงเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความจริงใจและเป็นผู้ตรงว่าศึกษาพรธรรมเพื่อประโยชน์คือ
การขัดเกลากิเลสของตนเอง อันเป็นไปเพื่อความมักน้อย เป็นไปเพื่อความไม่มีโลภะ ที
ละเล็กละน้อยครับนี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมครับ
ความเป็นผู้มักน้อยจึงเป็นคุณธรรมที่ควรอบรมเพราะเป็นธรรมเครื่องขัดเกลาแต่จะมี
ได้เพราะอาศัยการฟังพระธรรม เห็นประโยชน์ว่าถ้าลดความโลภลง เพราะมีปัญญา
ประโยชน์ก็ย่อมเกิดกับคนรอบข้าง ที่สำคัญที่สุดประโยชน์ใหญ่คือขัดเกลากิเลสของ
ตนเองครับ พระธรรมเท่านั้นที่จะเกื้อกูล ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น จากการที่เป็นผู้มากไปด้วยโลภะ มากไปด้วยความติดข้องต้องการ ซึ่งก็มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าสะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นก็อาจจะกระทำทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน กระำทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้ เพราะโลภะมีกำลัง แต่เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ซึ่งอุปการะเกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถละโลภะได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็สามารถค่อยๆ ขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยความเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลเห็นคุณประโยชน์ของกุศล ธรรม เป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น แม้แต่ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมากไปด้วยความรู้ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่มีความประสงค์ที่จะให้คนอื่นรู้ว่า ตนเองมีคุณอย่างไร มีความรู้อย่างไร แต่จะมีความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจพระธรรมอย่างที่ตนเองเข้าใจ
สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรทำ แต่ควรกระทำในสิ่งที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ, ความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ทำให้รู้ว่าอะไร ควรทำ อะไร ไม่ควรทำ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็นไปเพื่อความเป็นผู้หมดโลภะ ไม่ใช่เพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่ใช่เพื่อความเป็นผู้โลภมากในสิ่งต่างๆ ถ้าเริ่มขัดเกลากิเลสตั้งแต่ในขณะนี้ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะสามารถดำเนินไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ ,คุณผเดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่น, คุณเผดิม และ ทุกท่าน ครับ...
ปรารถนามากไม่ดีอย่างไร..ข้อความจากพระไตรปิก ถ้าสิ่งที่ ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประสบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมเกิดความกระหายใคร่จะดื่มน้ำฉะนั้น ขออนุโมทนาคะ
".. ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถละโลภะได้อย่างเด็ดขาด
แต่ก็สามารถค่อยๆ ขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในชีวิตประจำวัน
ด้วยความเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล
...
ความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามพระธรรมเท่านั้น
ที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี
ทำให้รู้ว่าอะไร ควรทำ อะไร ไม่ควรทำ.."
ขอบพระคุณ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ คุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ