สันโดษ สันตุฏฐิกถา

 
pirmsombat
วันที่  23 พ.ค. 2554
หมายเลข  18398
อ่าน  6,095

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เราจักแสดงอรรถที่ต่างกันในบทเป็นต้นว่า สนฺตุฏฺฐิกถํ กล่าวถึงสันโดษ. แต่พึงทราบการประกอบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. บทว่า สนฺตุฏฺฐิกถํ คือกถาอิงความยินดีปัจจัยตามมีตามได้. ก็สันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง.

๑๒ อย่างนั้นอย่างไร. คือสันโดษในจีวรมี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ๑ ยถาพลสันโดษ ๑ ยถาสารุปปสันโดษ ๑. แม้ในบิณฑบาตเป็นต้นก็เหมือนกัน. จะพรรณนาถึงประเภทของสันโดษนั้นต่อไป.

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 86

ภิกษุในศาสนานี้ได้จีวรดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ภิกษุนั้นใช้สอยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาอย่างอื่น แม้ได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยินดีตามได้ในจีวรของภิกษุนั้น (ยถาลาภสันโดษ) . อนึ่ง ภิกษุใดปกติมีกำลังน้อย หรือถูกอาพาธและชราครอบงำ ห่มจีวรหนักย่อมลำบาก ภิกษุนั้นแลกเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุที่ชอบกัน แล้วใช้สอยจีวรผืนที่เบาเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามกำลังในจีวรของภิกษุนั้น (ยถาพลสันโดษ) . ภิกษุรูปอื่นได้ปัจจัยประณีต ภิกษุนั้นได้จีวรมีค่ามาก มีจีวรผ้าไหมเป็นต้นผืนใดผืนหนึ่ง หรือจีวรหลายผืนแล้วถวายว่า ผืนนี้สมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน ผืนนี้สมควรแก่ท่านผู้เป็นพหูสูต ผืนนี้สมควรแก่ภิกษุอาพาธ ผืนนี้สมควรแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย ดังนี้ แล้วเลือกจีวรเก่าๆ ของภิกษุเหล่านั้น หรือจีวรที่เปื้อนจากกองหยากเยื่อเป็นต้น เอาจีวรเหล่านั้นใช้เป็นสังฆาฏิ ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามความสมควรในจีวรของภิกษุนั้น (ยถาสารุปปสันโดษ) .

ส่วนภิกษุในศาสนานี้ได้บิณฑบาตเศร้าหมองก็ตาม ประณีตก็ตามภิกษุนั้นยังชีวิตให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาอย่างอื่น แม้ได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยินดีตามได้ในบิณฑบาตของภิกษุนั้น. อนึ่ง

ภิกษุใดได้บิณฑบาตอันแสลงหรือผิดสำแดงของตน ฉันบิณฑบาตนั้นแล้วไม่สบาย ภิกษุนั้นถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วฉันโภชนะเป็นที่สบายจากมือของภิกษุนั้น แล้วบำเพ็ญสมณธรรม ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามกำลังในบิณฑบาตของภิกษุนั้น. ภิกษุรูปอื่นได้บิณฑบาต อันประณีตมาก ภิกษุนั้นถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย ผู้อาพาธ เหมือนถวายจีวรนั้น หรือเที่ยวบิณฑบาต แล้วฉันอาหารสำรวมที่เหลือของภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามสมควรในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

อนึ่ง ภิกษุในศาสนานี้ได้เสนาสนะที่ชอบใจก็ตาม ไม่ชอบใจก็ตาม ภิกษุนั้นไม่เกิดโสมนัส ไม่เกิดขุ่นข้องด้วยเสนาสนะนั้น ย่อมยินดีตามได้ แม้โดยที่สุดเครื่องลาดทำด้วยหญ้า. นี้ชื่อว่า ยินดีตามได้ในเสนาสนะของภิกษุนั้น. อนึ่งภิกษุใดได้เสนาสนะอันทำลายสุขภาพก็ตาม ทำให้เจ็บป่วยก็ตาม เมื่ออยู่ในเสนาสนะใดไม่สบาย ภิกษุนั้นให้เสนาสนะนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้อยู่ในเสนาสนะอันเป็นที่สบายในสำนักของภิกษุนั้น ก็เป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามกำลังในเสนาสนะของภิกษุนั้น ภิกษุรูปอื่นมีบุญมาก ได้เสนาสนะอันประณีตมาก มีถ้ำ มณฑป และเรือนยอดเป็นต้น ภิกษุนั้นถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน เป็นพหูสูต มีลาภน้อย ผู้อาพาธ เหมือนถวายจีวรเหล่านั้นแล้ว แม้จะอยู่ในที่ไหนๆ ก็ย่อมเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามสมควรในเสนาสนะของภิกษุนั้น. แม้ภิกษุใด สำเหนียกอยู่ว่า ชื่อว่าเสนาสนะดีเกินไป เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เมื่อภิกษุนั่ง ณ เสนาสนะนั้นย่อมถูกความหลับครอบงำ ย่อมก้าวลงสู่ความง่วงเหงาหาวนอน ความวิตกลามกย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ตื่นอยู่อีกแล้วไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้มาถึงแล้ว ภิกษุนั้นปฏิเสธเสนาสนะนั้นแล้ว แม้อยู่ในกลางแจ้งและโคนต้นไม้เป็นต้น ก็เป็นผู้สันโดษ. แม้นี้ก็ชื่อว่า ยินดีตามสมควรในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

อนึ่ง ภิกษุได้เภสัชเศร้าหมองก็ตาม ภิกษุนั้นได้เภสัชใดยินดีด้วยเภสัชนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาอย่างอื่น แม้ได้ก็ไม่รับ. นี้ชื่อว่า ยินดีตามได้ในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น. อนึ่ง ภิกษุใดต้องการน้ำมันแต่ได้น้ำอ้อย ภิกษุนั้นถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วรับน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาอย่างอื่น แม้เอาน้ำมันและน้ำอ้อยเหล่านั้นทำเภสัช ก็เป็นผู้สันโดษเหมือนกัน. นี้ชื่อว่า ยินดีตามกำลังในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น. ภิกษุรูปอื่นมีบุญมากได้เภสัชอันประณีต มีน้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ภิกษุนั้นถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้เป็นพหูสูต ผู้มีลาภน้อย ผู้อาพาธเหมือนถวายจีวรนั้นแล้ว แม้ยังชีวิตของภิกษุเหล่านั้นรูปใดๆ ที่มาแล้วๆ ให้เป็นไป ก็เป็นผู้สันโดษเหมือนกัน. อนึ่งภิกษุใดอันภิกษุตั้งของหวาน ๔ อย่างไว้ในภาชนะเดียวกันแล้วกล่าวว่า พระคุณเจ้าจงรับสมอดองด้วย น้ำมูตรในภายในภาชนะหนึ่งที่พระคุณเจ้าปรารถนาเถิด หากโรคของภิกษุนั้นสงบด้วยขนานใดขนานหนึ่งในยาเหล่านั้น ห้ามของหวาน ๔ ว่า ชื่อว่า สมอดองด้วยน้ำมูตร อันพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญ แล้วเอาสมอดองด้วยน้ำมูตรทำเภสัช ย่อมเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งทีเดียว. นี้ชื่อว่า ยินดีตามสมควรในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น. บรรดาสันโดษแต่ละ ๓ อย่าง ในปัจจัยทั้งหลาย เฉพาะอย่างเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร) เป็นเลิศ. พระอรหันต์เป็นผู้สันโดษด้วยสันโดษแม้ ๓ อย่างเหล่านั้นในปัจจัยอย่างหนึ่งๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สันโดษ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เป็นอกุศลเลย เป็นมงคลและเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสอันจะทำให้ถึงพระนิพพานครับ

ความสันโดษ คือความเป็นผู้ยินดีในของๆ ตนทีได้มา แต่ขณะที่เป็นความสันโดษ ขณะนั้นไม่ใช่ความยินดีที่เป็นโลภะ แต่ขณะนั้นเมื่อผู้อื่นจะให้อะไรก็ไม่รับเพราะมีความสันโดษคือเห็นว่าของๆ ตนเพียงพอแล้วจึงไม่รับในสิ่งได้มา ใขณะนั้นไม่มีโลภะเป็นความสันโดษในขณะนั้น

ความสันโดษ จึงเป็นความยินดีในของๆ ตนที่มีอยู่ ผู้ที่ยินดีในของๆ ตน ย่อมจะไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่จะได้หรือไม่ได้ เพราะไม่มีความปรารถนาต้องการในสิ่งภายนอก ไม่มีความคาดหวังในสิ่งที่จะได้รับ เพียงแต่ใช้สิ่งที่มีในปัจจุบันที่มีของตนครับ ดังพระพุทธที่ว่า

ผู้ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เป็นอดีต ไม่บ่นถึงสิ่งที่เป็นอนาคต ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งเป็นปัจจุบัน ท่านเรียกว่า ผู้สันโดษ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ค. 2554

ความสันโดษ มี 12 ประการ คือ

ความสันโดษตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ) ความสันโดษตามกำลังของตน (ยถาพลสันโดษ) ความสันโดษตามความเหมาะสม (ยถาสารุปปสันโดษ) ในปัจจัย 4 คือใน จีวิร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย (ยา) จึงเป็น สันโดษ 12 ประการ ครับ

ยกตัวอย่างเช่น หากได้จีวร หรือเสื้อผ้ามาจะดีหรือไม่ดีและก็ใช้จีวรหรือเสื้อผ้านั้นอยู่ เมื่อมีผู้ให้ก็ไม่มีความปรารถนาต้องการที่จะรับในจีวรหรือเสื้อผ้านั้นเพราะเห็นว่าตัวเองมีใช้แล้ว เพียงพอแล้วและก็ใช้ของที่ตนมีนั้ยแหละ ไม่รับผ้านั้นชื่อว่าเป้นผู้สันโดษตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ)

แต่เมื่อได้จีวรหรือเสื้อผ้าซึ่งไม่เหมาะกับตน เช่น จีวรหนักไป เป็นต้นก็แลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ดังนั้นการแลกเปลี่ยนก็เป็นความสันโดษเช่นกันครับ เป็นความสันโดษตามกำลังของตน (ยถาพลสันโดษ)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ค. 2554

ส่วนภิกษุหรือบุคคลใดที่ได้จีวรหรือผ้าที่ประณีตก็คิดว่าควรให้ผู้อื่นมีอาจารย์ มารดาบิดา เป็นต้นแล้วให้บุคคลเหล่านั้น ส่วนตัวเองก็ใช้ของๆ ที่ตัวเองใช้อยู่ก็ชื่อว่าสันโดษเช่นกัน เป็นความสันโดษตามความเหมาะสม (ยถาสารุปปสันโดษ)

ความสันโดษจึงเป็นคุณธรรมที่ควรอบรมเพราเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ยินดีในของๆ ตนและเมือ่ได้ของมาก็แบ่งให้ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์กับผู้อื่นก็ชื่อว่าสันโดษครับ

การอาศัยฟังพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็ย่อมเห็นประโยชน์ในการขัดเกลากิเลส แม้ความสันโดษก็จะเจริญขึ้น ซึ่งความสันโดษเป็นมงคล นำมาซึ่งความเจริญและเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 23 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเิจ้าพระองค์ันั้น

สันโดษ เป็นมงคลประการหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ เป็นคุณธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะเป็นเหตุละบาปธรรมอันมีการปรารถนาเกินประมาณหรือมักมากเป็นเหตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสันโดษเป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมในชีวิตประจำวันค่อยๆ ขัดเกลาความติดข้อง

สันโดษ มี ๓ ความหมาย คือ ยินดีในของของตน ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ และ ยินดีโดยชอบธรรม ไม่แสวงหาในทางที่ไม่ชอบ บุคคลผู้ที่มีความสันโดษจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นผู้อยู่อย่างสบาย ไม่มีความเดือดร้อนใจเนื่องจากยินดีในสิ่งที่ตนมีที่ตนได้ ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ไม่สันโดษ ไม่รู้จักพอ เต็มไปด้วยความต้องการ เมื่อไม่ได้ก็เดือดร้อนใจ ไม่พอใจ แต่ถ้าได้แล้ว ก็ติดข้องมากยิ่งขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ, คุณผเดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pirmsombat
วันที่ 23 พ.ค. 2554

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่น คุณเผดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สมศรี
วันที่ 26 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 22 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ