พิจารณาปัจจเวกทั้ง 4

 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่  1 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18467
อ่าน  46,931

ขอเรียนถามท่านผู้รู้ เกี่ยวกับวิธีการพิจารณาปัจจเวกทั้ง 4 อย่างคือ จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และเภสัช จึงขอทราบวิธีการและรายละเอียดของการพิจารณด้วยครับ

ขอขอบคุณและอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ปัจจเวก คือการพิจารณา พิจารณาด้วยปัญญา วิธีการพิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4 อย่างคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชหรือเรียกว่า ปัจจเวกขณสุทธิ คือ การบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาก่อนที่จะใช้สอย ปัจจัย 4 หรือ เรียกว่า ปัจจัยสันนิสสิตศีล อันเป็นศีลที่พระภิกษุ ที่พิจารณาปัจจัยที่ได้มาก่อนจึงใช้สอย เหตุผลที่ทรงแสดงการพิจารณาสิ่งที่ได้มาก่อนแล้วค่อยบริโภคใช้สอยเพื่อไม่ให้กิเลส อาสวะท้งหลายเกิดในการใช้สอย ปัจจัยที่ได้มา อันเป็นการปิดกั้นกิเลส อาสวะทั้งหลายที่จะเกิดในปัจจุบัน ที่จะเกิดเพราะสิ่งที่ได้มา พระพุทธองค์ทรงแสดงศีล คือปัจจัยสันนิสสิตศีล เพื่อพิจารณาด้วยปัญญา ย่อมบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาด้วยปัญญาเป็นปัจจเวกขณสุทธิ ซึ่งปัจจัยก็มี 4 มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัช ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญญาในการพิจารณา ปัจจัย 4 ที่ได้มาแล้วใช้สอย พิจารณาด้วยปัญญา ดังนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

1. จีวร พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงใช้จีวร เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ

พิจารณาด้วยปัญญา ไม่ใช่ใช้จีวรเพื่อประดับตกแต่ง เพียงแต่เพื่ออนุเคราะห์ร่างกายนี้ ให้เป็นไปได้เพื่อเจริญอบรมปัญญาครับ จึงใช้จีวรโดยอุบายตามที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาดังนี้ กิเลสที่จะเกิดเพราะอาศัยจีวร เป็นต้นก็ไม่เกิดครับ

2.บิณฑบาต อาหารที่ได้มา พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงฉันบิณฑบาต ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความดำรงกายนี้เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปสะดวก ความไม่มีโทษ ความผาสุกจักมีแก่เรา

ดังนั้นเมื่อได้อาหารก็พิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้ เช่น ฉันอาหารเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น เพื่อที่จะได้เมื่อหิวก็แค่หายหิว (บัดบำเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่กำเริบ) รวมทั้งร่างกายก็ต้องการอาหาร จึงบริโภคด้วยการพิจารณาด้วยปัญญาว่าแค่ดำรงชีวิตให้เป็นไปเพื่อที่จะได้อนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือ ได้มีโอกาสอบรมปัญญาต่อไป เพราะการมีชีวิตอยู่ ก็ต้องอาศัยการบริโภคอาหาร เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้กิเลสก็ไม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอาหาร เพราะโดยมากก็ทานกัน อิ่มแล้วก็ไม่พอ ยังอร่อยอยู่ กิเลสก็กำเริบเพราะอาศัยอาหาร เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

3.เสนาสนะ ที่นั่ง ที่นอน พิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย แล้วจึงเสพ ใช้สอยเสนาสนะ เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เสือกคลาน เพื่อความบรรเทาอันตรายอันเกิดแต่ฤดู เพื่อความยินดีในความหลีกเร้น

ดังนั้นเมื่อใช้สอยเสนาสนะก็ใช้สอยด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา ไม่ใช่ใช้สอยที่นั่ง ที่นอน หรือที่อยู่เพื่อความยินดี เพิ่มโลภะ เช่น ประดับตกแต่ง เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาตามที่กล่าว ก็ย่อมบริสุทธิ์และกิเลสที่จะเกิดขึ้นเพราะอาศัยการใช้สอยเสนาสนะก็ไม่เกิดขึ้นครับ

4. คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพื่อบำบัดทุกขเวทนา อันเกิดเพราะธาตุกำเริบ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเพื่อความลำบากเป็นอย่างยิ่งเป็นกำหนดเท่านั้น

การใช้ยาก็เพื่อรักษาโรคเพื่อที่จะได้ ดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่จะอบรมปัญญาต่อไป ด้วยการพิจารณาอย่างนี้จึงเป็นอันบริสุทธิ์เพราะอาศัยการพิจารณาด้วยปัญญาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

จากที่กล่าวมาจึงเป็นการพิจารณาด้วยปัญญา เมื่อได้ปัจจัย 4 แล้วจะใช้สอยก็ให้พิจารณาด้วยปัญญาเพื่อป้องกัน กิเลสที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันครับ ที่สำคัญที่สุดคือในเรื่องศีล ที่เป็นเรื่องการพิจารณาปัจจัย 4 ที่กล่าวมานั้น ไมไ่ด้มีเพียงแค่นี้ ศีล มี 4 ประการคือ ปาติโมกข์สังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทฐิศีล ปัจจยสันนิสิตศีล (ศีลเพระาอาศัยการพิจารณา) ซึ่งปัจเวกขณ 4 อย่างก็คือปัจจยสันนิสิตศีล ตามที่กล่าวมาในความเห็นข้างต้น แต่การจะบรรลุธรรมขาดปัญญาไมไ่ด้เลย ดังนั้น ศีลทีเ่ป็นไปในการอบรมปัญญาประการหนึ่ง คือ อินทรียสังวรศีล คือการอบรมปัญญาที่เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ นั่นก็คือการเจริญสติปัฏฐาน 4 ระลีกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจครับ ดังนั้นจึงอบรมปัญญาและศีลประการต่างๆ ก็ย่อมทำให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ครับ
สำหรับคฤหัสถ์ก็สามารถอบรมปัญญาที่เป็นอินทรียสงวรศีล คือ การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงทีเ่ป็นสติปัฏฐานได้ แต่ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อนครับ ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 1 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัจจัย (เครื่องอาศัย) ของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่ จีวรเครื่องนุ่งหุ่ม อาหารบิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรค [ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง] ซึ่งเพียงพอต่อการที่จะสามารถยังชีวิตให้ดำเินินต่อไปได้ ตามครรลองของความเป็นบรรพชิตที่มุ่งขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ และประการที่สำคัญ การพิจารณา ไม่ใช่เป็นการท่องคำภาษาบาลี โดยที่ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลยว่าคำนั้นๆ หมายถึงอะไร เพราะแท้ที่จริงแล้ว เป็นปัญญาที่เห็นประโยชน์ของการใช้สอยปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่เพื่อความติดข้องต้องการ ไม่ใช่เพื่อความเป็นผู้เพลิดเพลินประมาทมัวเมา แต่เพื่ออาศัยปัจจัยเหล่านั้นแล้ว สามารถให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองจนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด
ดังข้อความตอนหนึ่งจาก [เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ (อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตร หน้า ๓๓๘) ที่ว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ภิกษุบริโภคใช้สอยปัจจัยเหล่านี้แล้ว จักมีร่างกายแข็งแรงอยู่เป็นสุข ดังนี้ แล้วจึงอนุญาตการใช้สอยปัจจัย โดยที่แท้พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ภิกษุ อาศัยปัจจัยเหล่านี้แล้ว บำเพ็ญสมณธรรม จักพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ได้ ดังนี้แล้ว จึงทรงอนุญาตการใช้สอยปัจจัยไว้" ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ขอขอบพระคุณ อ.Paderm และ อ.คำปัน มากๆ ครับ ที่ให้ข้อมูลความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปครับ / อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Phonthep
วันที่ 18 ก.ย. 2558

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ประสาน
วันที่ 25 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Gei
วันที่ 12 เม.ย. 2564

อนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ