เหตุ-ปัจจัย คืออะไรกันแน่

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  2 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18475
อ่าน  12,117

"เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็เกิด เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็ไม่เกิด" จากข้อความนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจว่า ถ้าเป็นเช่นว่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องอบรมเจริญ สติ เพราะถึงจะอบรมไปสักเท่าไร ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย สติก็ไม่เกิดอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ก็ปล่อยให้ "เหตุปัจจัย" เป็นตัวอบรมเจริญสติไปเอง จะไม่ดีกว่าและถูกต้องกว่าดอกหรือ มนุษย์จะต้องทำอะไรให้เหนื่อยยากทำไมในเมื่อ "เหตุปัจจัย" เป็นตัวทำให้เกิด อะไรๆ อยู่แล้ว หลักคิดที่ถูกต้องในเรื่องนี้คืออย่างไรครับ

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่จะกรุณาให้ความรู้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ นั่นก็คือ อาศัย เหตุปัจจัย คือสภาพธรรมอื่นๆ จึงเกิดขึ้นได้ครับ อย่างเช่น การเห็น เห็นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุหลายประการ คือ ตา (จักขุปสาท) เป็นเหตุประการหนึ่ง อาศัย สี (สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เป็นรูป) เป็นเหตุอีกประการหนึ่ง อาศัยแสงสว่าง และอาศัยจิตที่รำพึงถึง เป็นเหตุประการหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม ก็ทำให้สภาพธรรม คือการเห็นเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีเหตุตามที่กล่าวมา ไม่มีตา ไม่มีจักขุปสาท ตาบอด ก็ไม่สามารถเกิดการเห็นได้ครับ ดังนั้น สภาพธรรมทั้งหลาย แต่ละอย่างจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย คืออาศัยสภาพธรรมแต่ละอย่างทำให้เกิดขึ้นครับ

ส่วนคำกล่าวที่ว่า

"เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็เกิด เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็ไม่เกิด" และทำให้เข้าใจว่า ถ้าเป็นเช่นว่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องอบรมเจริญสติ เพราะถึงจะอบรมไปสักเท่าไร ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย สติก็ไม่เกิดอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ก็ปล่อยให้ "เหตุปัจจัย" เป็นตัวอบรมเจริญสติไปเอง จะไม่ดีกว่าและถูกต้องกว่าดอกหรือ มนุษย์จะต้องทำอะไรให้เหนื่อยยากทำไมในเมื่อ "เหตุปัจจัย" เป็นตัวทำให้เกิดอะไรๆ อยู่แล้ว


สติเป็นธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเช่นกัน คืออาศัยเหตุ คือ การคบสัตบุรุษ เมื่อได้คบสัตบุรุษ ก็มีการฟังพระธรรม เมื่อมีการฟังพระธรรม กุศลธรรมก็เกิดมีศรัทธาเป็นต้น และทำให้มีสติเกิดขึ้นครับ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยตามที่กล่าวมา แต่ถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรมแล้ว สติและปัญญาจะเกิดขึ้นเองก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้สติและปัญญาเกิดครับ ดังนั้น จึงไม่มีเรา ตัวเราที่ปล่อยให้เป็นไปตามนั้นตามนี้ แต่ธรรมทำหน้าที่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่เข้าใจ ธรรมทำหน้าที่ ไม่มีเราพยายาม ไม่มีเราปล่อย ธรรมทำหน้าที่เข้าใจในขณะนั้น อันเป็นปัจจัยให้สติเกิด ดังนั้น เหตุมี ผลย่อมมี ถ้าเหตุไม่มี ผลของธรรมนั้นก็ไม่มี แต่จะต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องของธรรมที่ทำหน้าที่ เมื่อมีการอบรมเหตุ คือการฟังพระธรรม ผลก็ย่อมมี คือขณะที่เข้าใจก็เป็นผลของการฟังพระธรรมแล้วมีสติเกิดด้วยพร้อมปัญญาในขณะนั้น ซึ่งถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วก็รู้ว่าเป็นหน้าที่ของธรรม ก็เบาสบาย ฟังพระธรรม อบรมเหตุ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติและปัญญาก็เกิด แต่เพราะไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมที่ทำหน้าที่ ไม่มีเรา มีแต่เหตุปัจจัยที่เป็นไป ก็มีตัวตน มีความเป็นเราที่ต้องการ อยากจะรู้ อยากจะทำ อยากจะปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ลืมไปว่า สังขารขันธ์คือสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง มีปัญญาและสติเป็นต้นจะค่อยๆ เจริญขึ้น และรู้ความจริงเอง

ดังนั้น มนุษย์ไม่ต้องเหนื่อยยากด้วยโลภะ ที่ต้องการผลให้เกิดสติ แต่สะสมเหตุคือการฟังพระธรรม เมื่อเหตุมี เมื่อปัจจัยถึงพร้อม ผลก็ย่อมมี คือสติและปัญญาเกิดรู้ความจริงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของเหตุผล ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วจะบรรลุได้ ไม่มีเหตุเลย ดังความเห็นผิดประการหนึ่งในความเห็นผิด ๖๒ ประการที่กล่าวว่า มนุษย์ไม่ต้องทำอะไร สุดท้ายเหล่าสัตว์ก็บริสุทธิ์กันเองได้ นี่ก็เท่ากับปฏิเสธเหตุ ปฏิเสธกรรม แต่พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องกรรมวาทะ เรื่องของเหตุและผล หากมีเหตุ ผลก็ย่อมมี แต่ถ้าไม่มีเหตุจะให้ผลเกิดก็ไม่ได้ ถ้าไม่ฟังพระธรรมที่ถูกต้องจะเกิดสติและปัญญาก็ไม่ได้ แต่ถ้าสะสมเหตุแล้ว มีการฟังพระธรรม ปัญญาเจริญขึ้นเอง สติเกิดขึ้นได้เมื่อพร้อม เหมือนน้ำในตุ่ม สะสมน้ำทีละหยด สุดท้ายน้ำก็เต็มตุ่ม น้ำทีละหยดก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือจำนวนน้ำเพิ่มขึ้นจนเต็มตุ่ม การอบรมปัญญา อาศัยการฟังพระธรรม เมื่อเหตุบริบูรณ์แล้วก็ถึงการรู้แจ้ง สติเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ครับ

เพียงแต่ว่าเมื่อรู้ว่าเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยก็ไม่ต้องเหนื่อยที่จะทำด้วยโลภะ ความต้องการ เพียงแต่ฟังพระธรรม ธรรมก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้ปัญญาเจริญเอง เบาสบาย ด้วยความใส่ใจพระธรรม สะสมเหตุที่ถูกเท่านั้นครับ สติและปัญญาจึงมีเหตุตามที่กล่าวมาและอบรมเหตุและก็เป็นหน้าที่ของธรรมที่เป็นไปครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 มิ.ย. 2554

"เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็เกิด"

แสดงว่าสติจะเกิดได้ต้องมี "เหตุปัจจัย" ไม่ใช่เกิดขึ้นเองได้ลอยๆ หรือ บังคับให้เกิดเองได้

เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดสติ ก็ต้องมีการสั่งสมสติมาก่อน มิฉะนั้นสติจะมาจากไหน?

การเสพคุ้นกับสัตบุรุษเป็นการซึมซับธรรมฝ่ายดีซึ่งก็มีสติเกิดร่วมด้วย เมื่อคบสัตบุรุษก็ย่อมมีการสนทนา (ธรรม) กัน มีการไตร่ตรองพิจารณา มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีการน้อมไป ... เพื่อประพฤติปฏิบัติตามค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องของการสั่งสมสติและปัญญาทั้งหมด เหตุปัจจัยที่ว่า ... ก็มาจากตรงนี้แหละค่ะ

ป.ล. การอ่านหรือการฟังธรรมของสัตบุรุษ ก็เป็นการคบสัตบุรุษเช่นเดียวกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 3 มิ.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

จากความคิดเห็นที่ 1 ถึง 3 กระผมสรุปได้ว่า ผลมาจากเหตุ

สะสมน้ำทีละหยด (เหตุ) น้ำก็เต็มตุ่ม (ผล)

ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง (เหตุ) สติ (และปัญญา) ก็เกิด (ผล)

สงสัยต่อไปว่า มีอะไรเป็นตัวกำหนดให้มีการสะสมน้ำทีละหยด หรือให้มีการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง อีกหรือไม่ หรือจะต้องตอบว่า ก็ต้องมีเหตุต่อๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ฯลฯ แบบทศนิยมไม่รู้จบ

คำที่ว่า "ธรรมทำหน้าที่" นั้น กระผมเกรงว่า เราก็คงจะต้องตอบคำถามอีกอยู่นั่นเองว่า "แล้วอะไรเป็นเหตุให้ธรรมทำหน้าที่" ก็จะเป็นทศนิยมไม่รู้จบอีกข้อหนึ่งเท่านั้นเอง

ขอความกรุณาชี้แนะหลักคิดที่ถูกต้องด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

คำว่าน้ำทีละหยด หมายถึง ความเข้าใจขึ้น ปัญญาที่เกิดแต่ละขณะ ก็สะสมไป สติ และปัญญาเกิดทีละหยด เกิดทีละขณะก็ค่อยๆ เต็ม ปัญญาก็มากขึ้น จนถึงจุดที่น้ำเต็ม จนถึงจุดที่ปัญญาบริบูรณ์สามารถรู้ ประจักษ์ความจริงในขณะนี้ครับ ดังนั้น ปัญญาจะเจริญขึ้นก็ต้องมีเหตุคือการฟังพระธรรม แต่ฟังครั้งเดียวคงไม่พอ เพราะปัญญาเกิดขึ้นเพียงนิดเดียว ดังนั้น อาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ สะสมเหตุ ปัญญาก็เจริญขึ้น เพราะอาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ ขึ้นนั่นเองครับ และเมื่อปัญญาบริบูรณ์ ที่พระอรหันต์ท่านทราบว่า ท่านทำกิจเสร็จแล้ว คือกิจในการอบรมปัญญา ถึงความเป็นพระอรหันต์ แทงตลอด อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา นั่นก็เท่ากับว่า จบการอบรมเหตุคือการอบรมปัญญาครับ เพราะปัญญาบริบูรณ์แล้วนั่นเองครับ

ส่วนประเด็นคำถามเรื่อง ธรรมทำหน้าที่ ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นต้น ดังนั้น ขณะนี้มีธรรม คือ จิต ขณะนี้กำลังเห็น จิต มีกิจ มีหน้าที่ของตน จิตเห็น มีหน้าที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทำกิจเห็น ดังนั้น เหตุที่ธรรมทำหน้าที่เพราะเป็น จิตนิยาม คือเป็นสภาพธรรมของจิต ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ ดังที่พระองค์แสดงเรื่อง นิยาม ไว้ว่า จิตนิยาม ธรรมของจิตต้องเป็นไปอย่างนั้น มีหน้าที่รู้อารมณ์ เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ธรรมทำหน้าที่ มีกิจ เพราะสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นอย่างนั้นเองครับ เป็นจิตนิยาม หรือบางครั้งอาจคิดว่าทำไมฝนตก ทำไมแดดออก ก็เพราะเป็นธรรมดา ต้องเป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติที่เป็นอุตุนิยาม เป็นต้นครับ ดังนั้น ธรรมทั้งหลาย มี จิต และเจตสิก เป็นต้น จึงมีกิจ มีหน้าที่ของสภาพธรรม สติ มีหน้าที่ คือระลึก ปัญญารู้ตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อปัญญายังไม่เกิด จะเอาอะไรไปรู้ความจริง แต่เมื่อปัญญาเกิด ธรรมทำหน้าที่เอง คือปัญญา เป็นธรรมที่ทำหน้าที่ตามความเป็นจริงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

ถ้าไม่อบรม ก็ไม่มีเหตุปัจจัยให้ปัญญาเกิด เช่น สติปัฏฐานก็ต้องมีอาหารเป็นปัจจัย คือสุจริต ๓ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และสุจริต ๓ ก็มีการสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารเป็นปัจจัยจึงจะเกิด ฯลฯ ค่ะ แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังต้องอบรมปัญญา อบรมบารมี นานถึง ๔ อสงไขยแสนกัปจึงเป็นปัจจัยให้ทรงบรรลุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า "บุคคลผู้เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทาง (อริยมรรค) ด้วยปัญญา" เป็นความจริงอย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาจะมีคำสอนให้ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ต้องสะสมกุศลประการต่างๆ มีปัญญา เป็นต้น ไม่ใช่อย่างนี้เลย กุศลทุกอย่างทุกประการ ควรสะสม ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น ไม่ควรเกียจคร้านในการเจริญกุศล ส่วนอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรละ ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น ซึ่งไม่มี-ตัวตนที่จะไปเป็นอย่างนั้น แต่เป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ได้เลย ผู้เกียจคร้าน ย่อมไม่เห็นอริยมรรคที่จะพึงเห็นได้ด้วยปัญญาอย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นได้ว่า อริยสาวกทั้งหลายในอดีต ท่านไม่ได้เป็นผู้เกียจคร้านเลย แต่เป็นผู้ปรารภความเพียร มีการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่เพศเท่านั้น กล่าวคือ อริยสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านก็มีการกระทำกิจที่คฤหัสถ์ควรกระทำตามฐานะของตน (อย่างเช่นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเป็นพระโสดาบัน และท่านเป็นพ่อค้าด้วย ท่านก็ทำกิจของพ่อค้า มีการดำรงชีวิตอยู่อย่างคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนทุกประการ แต่กิเลสที่ท่านละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย เป็นต้น)

อริยสาวกที่เป็นบรรพชิต ก็ทำกิจที่ควรทำของบรรพชิต ตามสมควรแก่เพศของตน ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญญาที่จะเป็นเครื่องดับกิเลส ท่านเหล่านั้นได้แล้ว เพราะมีการสะสมปัญญาด้วยการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ใช่ว่าท่านเหล่านั้นจะเป็นผู้อยู่เฉยๆ โดยไม่ได้สะสมเหตุที่ดีอะไรเลย ผู้ที่มีปัญญาย่อมจะพิจารณาได้ว่า ช่วงเวลาของชีวิตที่ประเสริฐ ก็คือ การมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง อันเป็นความน้อมไปของกุศลธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่น้อมไปอย่างนั้น แต่มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น และประการที่สำคัญการฟังแต่ละครั้ง ย่อมไม่ไร้ผล มีแต่จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ซึ่งไม่ใช่การบังคับ แต่กุศลธรรมซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงปฏิเสธความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล อย่างสิ้นเชิง ซึ่งอีกความหมายหนึ่งของอนัตตา ที่ท่านแสดงไว้ในอรรถกถา เถรคาถา สรุปได้ว่า ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา คือ ไม่เป็นอิสระ เพราะไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

กระผมรู้สึกว่าคำอธิบายที่ท่านผู้รู้กรุณามอบให้นี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่พอจะมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว มีคำอธิบายแบบสั้นๆ กระชับๆ สำหรับคนที่ยังไม่มีพื้นฐานทางธรรมมาก่อนบ้างไหม ครับ ถ้าได้ชนิดที่พูด ๒ - ๓ คำ ผู้สงสัยก็อุทานว่า Oh! I see ได้ก็ยิ่งประเสริฐ

ขอขอบพระคุณท่านที่จะกรุณาชี้แนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

การสะสมปัญญาของสัตว์โลกมาต่างกัน แม้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงสัตว์โลก ผู้ที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจหรือบรรลุ ไม่บรรลุ ว่ามีบุคคลหลายประเภทครับ อย่างเช่น ผู้ที่สะสมปัญญามามาก ฟังเพียงบทเดียว คำสั้นๆ ก็บรรลุเลย เข้าใจเลยทันที นี่คือบุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญู คือบุคคลเพียงฟังหัวข้อก็บรรลุ แม้บางพวกก็ต้องอาศัยการอธิบายเพิ่มเติม จบสูตรนั้นก็บรรลุ นี่ก็ถือว่ามีปัญญามาก แต่บางพวกต้องอาศัยการฟังพระธรรมมาก สอบถาม สนทนามาก ใช้เวานานหลายปี หลายสิบปี จึงบรรลุ มีท่านพระราหุล เป็นต้น เป็นเนยยบุคคล เห็นไหมครับ ขนาดพระราหุลท่านยังต้องฟังมาก อบรมมาก โดยนัยเดียวกันการจะเข้าใจธรรมทันที จะเพียงฟังคำสั้นๆ ทันที เข้าใจทันที ไม่ได้ครับ ส่วนผู้ที่แม้ฟังมากเท่าไหร่ สอบถาม สนทนาเท่าไหร่ก็ไม่บรรลุในชาตินั้น ก็เป็นปทปรมบุคคล และเราจะเป็นบุคคลประเภทไหนดีครับ บรรลุชาตินี้หรือเปล่า หรือฟังเพียงบทเดียวเข้าใจแจ่มแจ้งทันทีครับ และยิ่งคนที่เริ่มต้นจะฟังเพียงบทเดียว เข้าใจทันทีไ่ม่ได้ครับ เพราะสะสมมาน้อย ดังนั้น ต้องอาศัยการอธิบาย โดยละเอียด และสอบถาม สนทนา เป็นปีๆ เป็นร้อยๆ ชาติ แสนชาติ เป็นกัปๆ ครับ จึงจะค่อยๆ มีปัญญาคมกล้าได้ครับ ดังนั้น ต้องอาศัยการอบรมฟังพระธรรมต่อไป ปัญญาไม่ได้ก้าวกระโดดทันทีครับ สำหรับผู้สะสมมาน้อยต้องค่อยเป็นค่อยไปครับ เพียงคำสองคำแล้วเข้าใจทันที คงยากครับ ต้องอาศัยการอธิบายโดยละเอียดดังที่อธิบายในบุคคล ๔ จำพวกที่กล่าวมาครับ ไม่เช่นนั้น พระพุทธองค์ผู้ฉลาดในเทศนาก็จะแสดงเพียงบทสั้นๆ กับทุกคนครับ แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสัตว์โลกสะสมมาต่างกัน โดยเฉพาะสัตว์โลกในยุคสมัยนี้ ปัญญาต่างกับสมัยพุทธกาลมา ดังนั้น ก็ต้องอาศัยการฟัง สนทนาโดยละเอียดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วินิจ
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

คุณ นอ.ทองย้อยอนุญาติให้ออกความเห็นได้นะครับ,

ผมคิดอย่างนี้ครับ, คือคำว่า "เหตุ ปัจจัย" คือหมายความว่าภาพรวมทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น, เช่น ก่อนที่เราจะคิด อยากมาเสวนากันในบ้านธรรมะก็อาจมีเหตุจากชมรายการบ้านธรรมะทางทีวีช่อง 11 มา ก่อน, แล้วทำไมเราต้องมาหยุดดูที่รายการนี้ ก็เพราะเป็นคนชอบแสวงหาสัจจะ, แล้วทำไมเราจึงชอบแสวงหาสัจจะ, ก็เพราะเป็นคนสนใจธรรมะ (คนสนใจธรรมะมักเป็นคนชอบแสวงหาสัจจะโดยธรรมชาติ) , แล้วทำไมจึงเป็นคนสนใจธรรมะ, ... (ขอตัดบทเลย, บางรายอาจเป็นเพราะเหตุอื่นก็ได้) ... ก็อาจเพราะเคยสั่งสมความเป็นคนสนใจธรรมะมา จากชาติก่อน; แต่ ณ มิติปัจจุบัน, บางคนอาจจะดูรายการทีวีครั้งเดียวแล้ววิ่งเข้าเว็บเลย, แต่บางคนอาจจะคิดกลับไปกลับมาแล้วคลิกตัดสินใจในรอบที่ ๖, แต่คงไม่ใช่เหตุปัจจัยในชาติก่อนกำหนดตายตัวว่าเราต้องตัดสินใจในรอบที่ ๖ (เพราะการคิดกลับไปกลับมา เป็นธรรมชาติของความคิดอยู่แล้ว, และเลขที่ออกอาจจะเป็นรอบที่ ๔ หรือ ๕ ก็ได้, เพราะ ธรรมชาติความคิดมันพริ้วได้อยู่แล้ว) , คือจะบอกว่าทุกสิ่งเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งสิ้น, แต่เราคงไม่รู้และไม่มีประโยชน์ที่จะต้องมาค้นหาว่าเหตุปัจจัยอะไรจึงต้องมาตัดสินใจ ตรงรอบที่ ๖ เพราะมันเป็นรายละเอียดปลีกย่อย, เป็นภาวะที่เรียกว่า "ตถตา" (=มันเป็นเช่น นั้นเอง) นั่นเอง, (เหมือนการออกเลข ... นั่นแหละ, ถ้าเครื่องออกเลขดีสมบูรณ์แบบ, คงไม่มีใครบอกได้ว่าเลขงวดนี้จะออกเลขอะไร, แต่ถ้าถามว่าการจะออกเลขอะไรเป็นเรื่อง เหตุ ปัจจัยหรือไม่, ขอตอบแบบ "ฟันธง" ว่าใช่, แต่ไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้, เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนที่จะแยกแยะอธิบายได้โดยยาก) , ดังนั้น จึงขอสรุปว่า, คำว่า "เหตุปัจจัย" หมายถึงเรื่องหลักๆ , เพื่อต้องการเน้นให้เห็น "สัจจธรรม" ว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องของ " (สภาพ) ธรรม" ไม่ใช่ "เรา" (ตัวตน, อัตตา) แต่คงไม่เน้นรายละเอียดปลีกย่อย;

สรุปปิด ท้าย:- "เหตุปัจจัย" หรือ "กรรมเก่า" คงไม่ถึงกำหนดว่า " วันที่ ๔-๖-๕๔ เราจะต้องแปรงฟัน เวลา ๖ โมง ๑๔ นาที "

...ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม...

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ลุงหมาน
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

ผมจะลองตั้งคำถามๆ จขกท. ว่า เช่นว่า ข้าว คำเดียวที่คุณกำลังกลืนกินเข้าไปนั้นเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าต้องมีกับข้าว เช่น แกง คุณจะทำกับข้าว เช่น จะแกงสักหนึ่งอย่างๆ นี้เป็นต้น ลองคิดดูว่าแกงหม้อนั้น มีอะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิดแกงหม้อนั้นได้ ๑ ก็ต้องบอกว่าน้ำพริกแกง แล้วในน้ำแกงนั้นมีอะไรเป็นปัจจัย เช่น พริก หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ มะกรูด พริกไทย เครื่องเทศ กะปิ น้ำปลา และอีกมากมาย เป็นต้น จึงเป็นน้ำพริกแกงได้ก็ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ จึงเกิดน้ำพริกแกงขึ้น แล้วลองคิดอีกว่าสิ่งที่มารวมกันได้นั้นมาจากไหน จะยกตัวอย่าง เช่น น้ำปลาซักหนึ่งอย่างที่มาปรุงรสแกงนั้น อะไรทำให้เกิดน้ำปลา ๑ ปลา ๒ เกลือ ๓ คนทำน้ำปลากว่าจะมาใส่แกงได้ ก็ต้องหาปัจจัยอีกว่า ปลานั้นมาจากไหน เกลือนั้นมาจากไหน แล้วต้องอุปกรณ์ที่จะผลิตเกลือนั้นต้องใช้อะไรบ้าง แล้วใครเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทำเกลือ เช่น เครื่องจักรวิดน้ำหรือกังหันวิดน้ำ แล้วเครื่องจักรวิดน้ำต้องอาศัยน้ำมัน แล้วก็น้ำมันมาจากไหน ยิ่งคิดก็ยิ่งเป็นลูกโซ่คล้องกันไปเรื่อยจนหาเงื่อนไม่เจอ นี่ผมลองคิดให้เป็นตัวอย่างแค่น้ำปลาอย่างเดียว ปัจจัยสิ่งอื่นยังไม่ได้คิด คิดไปคิดมาผมบ้าแน่ คือหาคำตอบหาปัจจัยที่แท้จริงไม่ได้ มันเป็นเรื่องอจินไตย เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด หรือ จขกท. ว่าไง

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 4 มิ.ย. 2554

ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ สำหรับทุกคำตอบ

กระผมเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิก ถ้าจะได้ตั้งคำถามที่ดูเหมือนคนเข้าใจอะไรยากเสียจริงๆ ก็ต้องกราบขออภัย บางเรื่องกระผมถามด้วยความอยากรู้ในประเด็นหนึ่ง แต่ท่านผู้รู้ก็กรุณาตอบในประเด็นแวดล้อมมาให้ด้วย เหมือน "ขอน้อย แต่ให้มาก" อันเป็นลักษณะของผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง ได้รับคำตอบหลายเรื่อง หลายแง่มุมเข้า ก็รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่ในวงญาติที่มีความปรารถนาอยากให้ญาติด้วยกันรู้ถูก เข้าใจถูก รู้สึกเหมือนเด็กที่มีผู้ใหญ่รุมกันเข้ามาคอยดูแลเอาใจใส่ อบอุ่นครับ

พอดีกระผมสนใจภาษาไทยและรักภาษาไทยมากๆ ด้วย เห็นคำว่า"อนุญาติ" (ความเห็นที่ 14) ก็เกิดความรู้เดียวกัน คืออยากให้ญาติด้วยกันรู้ถูก เข้าใจถูก (คำที่ถูกคือ อนุญาต ไม่มีสระอิครับ) บางทีเราก็เคยมือหรือเคยชินโดยไม่มีเจตนา ทั้งๆ ที่รู้ว่าคำถูกคืออย่างไร ได้อ่านของญาติคนไหนอีกท่านหนึ่งก็ลืมไปแล้ว ท่านเขียนคำว่า เขา (สรรพนาม) เป็น เค้า ก็รู้สึกไม่สบายใจ กระผมก็รู้ว่านี่มันก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติ แต่ก็อดไม่ได้ที่อยากจะให้เราสมมติกันให้ถูก บัญญัติกันให้เหมาะ

นี่ก็เลยขออนุญาตแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับภาษาไทยแถมเข้ามาในรายการธรรมะด้วย ถ้าจะผิดกติกาไปบ้างก็กราบขออภัย

กระผมคงจะตั้งคำถามและรอคำตอบจากท่านผู้รู้อีกในหัวข้ออื่นๆ ขอขอบพระคุณที่จะได้รับความกรุณาอีกเช่นเคย

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 5 มิ.ย. 2554

ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ ล้วนมีเหตุ จึงมีผลเกิดขึ้น ขณะนี้เดี๋ยวนี้เป็นผลแล้ว ย่อมมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแน่นอน การศึกษาพิจารณาตามลำดับจึงจะค่อยๆ รู้และเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังธรรม พิจารณา คือการอบรม เจริญธรรมะฝ่ายกุศล เพื่อสะสมเหตุและปัจจัยฝ่ายกุศลนั่นเอง เมื่อเหตุและปัจจัยตรงและพร้อมที่จะให้เกิดสติหรือธรรมฝ่ายกุศลอื่นๆ ก็ย่อมเกิดสติพร้อมๆ กับธรรมะฝ่ายกุศลอื่นๆ ที่เป็นผลอย่างแน่นอน

เพราะธรรมะทั้งหลายบังคับบัญชาไม่ได้ คือทำให้เกิดไม่ได้ จึงไม่มีตัวเราหรือใครจะทำให้สติเกิดได้เลย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
วินิจ
วันที่ 6 มิ.ย. 2554

ขอบคุณท่าน นอ.ทองย้อย (คห.17) ที่กรุณา 'ตรวจปรู๊ฟ' ให้ผม, จริงๆ ญาติธรรม 'บ้านธรรมะ' ก็อบอุ่นอย่างนี้, เราดูแลซึ่งกันและกัน, โดยเฉพาะถ้าเป็นพระหรือนักบวชหรือผู้สูงอายุ เราก็ให้เกียรติเป็นพิเศษ; ผมก็เคยตรวจปรู๊ฟให้ อ.ผเดิมเช่นกันครับ, อ.ผเดิมก็ขอบคุณผม, ผมก็ดีใจปลาบปลื้ม, เราตรวจทานให้ซึ่งกันและกันก็ดีนะครับ, เป็นการผดุงอนุรักษ์ภาษาไทยตามที่ทุกฝ่ายให้ความห่วงใย, ปกติถ้าคำไหนผมไม่แน่ใจผมจะมีปทานุกรมเปิดเช็คดู, แต่คำที่ท่านทักท้วง, คงเร่งรีบเกินไปเลยไม่ทันดูละเอียด ขอยอมรับผิดโดยดี, และขอปวารณา (ยืมคำพระมาใช้) ไว้ว่า, ญาติธรรมทุกท่านสามารถว่ากล่าวติเตือนผมได้เสมอ ครับ, ผมคิดว่าการติติงเตือนกันก็เป็นเหตุแห่งการละ "มานะทิฏฐิ" ได้ดีนะครับ ... ขอบคุณ ท่าน นอ.ทองย้อย อีกครั้งครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
choonj
วันที่ 6 มิ.ย. 2554

ขอแสดงความเห็นด้วยคน ดูว่าจะเป็น Oh! I see หรือเปล่า ก่อนอื่นก็ต้องรู้ว่าอะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย ถ้าจะบอกว่าเหตุคืออสาธารณะ ปัจจัยคือสาธารณะ เหตุก็คือ เหตุหก มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นอสาธารณะคือเกิดขึ้นแฉพาะตน เป็นของตนไม่ใช่ของคนอื่น ส่วนปัจจัยเป็นสาธารณะเป็นของทั่วไปเป็นของทุกคน ทีนี้ก็มาที่คำถามที่ว่า "ไม่จำเป็นที่จะต้องอบรมสติ ก็ปล่อยให้เป็นเหตุปัจจัยทำหน้าที่ไปเอง" สติเกิดกับกุศลจิต ถ้าไม่มีการสังสมที่เป็นเหตุ คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ สติก็เกิดไม่ได้ แล้วที่ว่าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเหตุปัจจัยย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ปัจจัยที่เป็นสาธารณะนั้นเมื่อเกิดหรือมีขึ้นก็จะส่งเสริมให้เหตุคือสติเกิด เพราะสติเป็นอนัตตาต้องมีปัจจัยส่งเสริมจึงเกิดได้ จึงกล่าวว่าทุกสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะเหตุและปัจจัย สติเมื่อจะเกิดต้องมีการสังสมมาก่อนและอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่มีการสังสมจะปล่อยให้เกิดขึ้นเอง ย่อมไม่ได้แน่นอน ...ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 6 มิ.ย. 2554

Oh! I see ครับ

ขอบพระคุณสำหรับทุกๆ ความคิดเห็น โดยเฉพาะความคิดเห็นที่ 19 อ่านแล้วสบายใจจังเลยครับ กระผมกลัวที่สุดก็คือจะไม่มีใครเข้าใจเจตนาในการทักท้วงของเรา ตัวกระผมเองนั้นยึดหลัก "ผู้ชี้ข้อบกพร่องคือผู้ชี้ขุมทรัพย์"

"เราดูแลซึ่งกันและกัน" ประโยคนี้สุดยอดจริงๆ กระผมอยากให้ประโยคนี้เป็นคำขวัญประจำบ้านธรรมะ และประจำใจของญาติธรรมนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
มกร
วันที่ 6 มิ.ย. 2554

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
akrapat
วันที่ 7 มิ.ย. 2554

ตัวผมเอง พิมพ์ไม่ค่อยคล่อง จึงใช้เวลานานในการพิมพ์ และไม่ได้ตรวจทาน ขาดความ ละเอียดรอบคอบ ขอขอบคุณที่ช่วยเตือนสติ และถ้าจะมีการแก้ไขข้อความ ตัวสะกด ให้ถูกต้อง จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
วินิจ
วันที่ 8 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาคห. 20-24 โดยเฉพาะคห. 24 คงต้องตั้งแผนก "ตรวจปรู๊ฟ" เฉพาะมั้งครับ ... (ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก คนที่เข้าอ่านจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ธรรมะเป็นเรื่องละเอียด)

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
พรรณี
วันที่ 21 มิ.ย. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็เกิด เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยให้สติเกิด สติก็ไม่เกิด เช่น ถ้าเราไม่เรียนหนังสือ เราก็จะอ่านหนังสือไม่ออก การเรียนหนังสือเป็นปัจจัยที่ทำให้ เราอ่านออกเขียนได้ อย่างนี้พอจะเข้าใจง่ายขึ้น ขอขอบคุณผู้ตั้งกระทู้ขึ้นมาทำให้ดิฉันได้อรรถรสในพระธรรมจากคำตอบของคุณผเดิม และอาจารย์คำปั่น ในครั้งนี้อย่างมากด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
ประสาน
วันที่ 11 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
chatchai.k
วันที่ 3 มิ.ย. 2565

เหตุปัจจัย

เหตุปัจจัย

เหตุ (เค้ามูล สิ่งที่ทำให้เกิดผล) + ปจฺจย (อาศัยเป็นไป)

สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดผลโดยความเป็นเหตุ หมายถึง เหตุเจตสิก ๖ ดวง คือโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งประกอบกับจิต จึงเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย รวมทั้งจิตตชรูปเกิดขึ้น และเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิกัมมชรูปในขณะปฏิสนธิกาลด้วย

เหตุปัจจัย เป็นปัจจัยแรกในปัจจัย ๒๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในคัมภีร์ปัฏฐาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุปัจจัยเพราะถ้าไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เหล่านี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่มีการกระทำที่เป็นบาปหรือเป็นบุญ และเมื่ออบรมเหตุที่เป็นฝ่ายกุศลจนสามารถดับเหตุฝ่ายที่เป็นอกุศลได้แล้ว เหตุที่เป็นฝ่ายกุศลก็จะถึงความสิ้นไปด้วย ยังคงเหลือเหตุที่เป็นฝ่ายอัพยากตะเท่านั้น และเมื่อหมดกรรมที่ทำให้มีชีวิตอยู่ในชีวิตนั้นแล้วก็ถึงความดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการปฏิสนธิในภพใหม่อีกต่อไป

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ