ข้อความเตือนสติเรื่องอรหันตสูตร

 
wittawat
วันที่  9 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18509
อ่าน  3,774

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตรตรงนี้

อรหันตสูตร

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 442

และ ตถสูตร

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 444

๑. ขณะของการอุบัติขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าย้อนถอยไป ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ทีปังกร พระองค์บำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีจนกระทั่งพร้อมจะตรัสรู้แล้วในพระชาติสุดท้าย ในขณะถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดาก็ดี ออกจากพระครรภ์ก็ดี เสวยราชสมบัติอยู่ก็ดี ออกผนวชอยู่ก็ดี กระทั่งคืนก่อนตรัสรู้ก็ดี ไม่ใช่การอุบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อเมื่อได้แทงตลอด อริยสัจ ๔ แล้วนั่นคือ การอุบัติขึ้นแล้ว พร้อมคุณที่ไม่ทั่วไปเพราะตรัสรู้โดยพระองค์เอง และสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้

๒. ความสำคัญของการตรัสรู้ จากความไม่รู้สู่ความรู้

ก่อนตรัสรู้โลกมืดด้วยความไม่รู้ เพราะแม้ว่าสภาพธรรมมีอยู่จริง แต่ไม่มีใครสามารถเห็นถูก ตามความจริงที่มีขณะนี้ หากไม่มีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เกิดจนได้ฟังพระธรรม ก็ไม่มีใครได้รู้ความจริง แต่เพราะฟังจึงรู้ว่าทรงตรัสรู้ตามความจริงทุกขณะที่มีปัจจัยเกิดและปรากฏ ซึ่งเข้าใจได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการสะสม

แสงสว่าง คือ การสามารถเห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ เพราะมีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และพระคุณของพระองค์สุดที่จะประมาณได้ เพราะจากความมืดมิดที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งก็อาจจากไป ด้วยความมืดมิด เพราะฉะนั้นจึงควรฟังเพื่อเข้าใจความจริงที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมตามที่ทรงตรัสรู้และแสดง

๓. ความหมายของคำว่าโลก

โลก หมายถึง สิ่งที่แตกดับ ตามนัยของโลก ๓ [1] ได้แก่

โอกาสโลก หมายถึง โลกที่เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่สัตว์

สัตวโลก หมายถึง โลก คือ หมู่สัตว์

สังขารโลก หมายถึง สังขารธรรม ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ถ้าเป็นโอกาสโลกหรือโลกของแต่ละคนจะเกิดหรือมี ก็ต้องมีจิตเกิดขึ้น โลกทางตาจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นโลกจริงๆ คือ จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นธาตุรู้ในแต่ละขณะของรูป สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป คือ โลก ทุกคนก็คือโลกแต่ละโลก รวมกันโดยที่คิดว่าอยู่ที่นี่ ทั้งหมดคือความคิด แต่ความจริงคือ ขณะที่เห็นนั้นแสนสั้น มีสิ่งที่ปรากฏ มีนามธรรมที่เกิดเห็น แล้วดับ ซึ่งโดยละเอียดแล้วรูปธรรมดับช้ากว่านามธรรม นี่คือโอกาสได้ฟังธรรมเข้าใจถูก รู้ความจริงละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แล้วตายไปอย่างมืดสนิท

๔. พุทธศาสนาแก้วิกฤตโลกอย่างไร

ก่อนอื่นต้องรู้ว่า โลกคืออะไร จิตแต่ละคนเป็นแต่ละโลก เพราะฉะนั้นพิจารณาโลกใบนี้ของแต่ละคนว่ายังมีกิเลสอยู่หรือไม่ ขณะที่ติดข้องไม่รู้ความจริง หรือโกรธขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นไม่รู้ความจริง คือความมืด เพราะอกุศลทั้งหมดมืด เสมือนว่าเรารู้จักโลกดี แต่ลืมโลกซึ่งมีอยู่คนเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย ตราบใดที่ไม่มีการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า โลกมืดด้วยอวิชชา ความไม่รู้ และความประมาท ถ้าจะแก้โลกจริงๆ คือ แก้โลกที่ปรากฏ ให้แต่ละคนสามารถรู้ตามจริงของตนเอง

๕. วิกฤตโลกที่แท้จริง

โลกในความคิดของแต่ละคน เสมือนวิกฤต แต่วิกฤตในความคิดแม้ตายไปสู่สวรรค์ก็ยัง วิกฤตต่อไป เพราะวิกฤตคือกิเลส ประโยชน์ของการฟังธรรมที่ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เพราะขณะที่จิตยังไม่อ่อนควรแก่การงานของกุศล แม้กล่าวว่าขณะนี้เป็นธรรมไม่ใช่เรา มีปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่จิตก็ยังไม่อ่อนควรพอจะเห็นจริงอย่างนั้น กว่าที่จิตจะอ่อนควรเป็นกุศลธรรมมั่นคงเห็นถูกในอริยสัจที่เกิดดับ ขณะนี้ ต้องเป็นศรัทธาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ฟังนิดเดียว ต้องอาศัยการอบรมเข้าใจธรรมถูกว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ จนกว่าวิกฤตจะหมดเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

๖. ความหมายของ อริยสัจ ๔

หมายถึง ความจริงของพระอริยะ หรือ ความจริงที่ทำให้บุคคลรู้แจ้งเป็นพระอริยะ ได้แก่

ทุกขอริยสัจ หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรดับ ที่ว่าสุข โดยสุขเวทนา หรือ โสมนัสเวทนา แม้สุขแล้วก็ยังต้องแปรไปอีก เพราะตั้งอยู่ไม่ได้ เพียงนิดเดียวแล้วก็หายไป ซึ่งจะเข้าใจได้ต้องฟัง ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจชัดเจน จึงจะสามารถเข้าใจลักษณะของทุกข์ได้

ทุกขสมุทยอริยสัจ หมายถึง เหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ความยินดีพอใจ หรือตัณหา หรือโลกเจตสิก

ทุกขนิโรธอริยสัจ หมายถึง ความดับแห่งทุกข์ คือ พระนิพพาน

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ หมายถึง ทางดำเนินไปสู่ความดับแห่งทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘

๗. ความหมายของสภาพธรรม

สนฺโต ภาโว สภาโว (สิ่งที่มีอยู่จริงๆ ชื่อว่า สภาพธรรม) มาจากศัพท์ว่า สนฺต แปลว่า มีอยู่, แปลง สนฺต เป็น ส, ภาว แปลว่า ความเป็น รวมกันเป็น สภาโว (สภาวธรรม, สภาพธรรม) สภาวธรรม หรือ สภาพธรรม จึงหมายถึง สิ่งที่มีจริง, สิ่งที่มีอยู่จริงๆ มีลักษณะเฉพาะของตน

ธรรม กับ ธาตุ มีความหมายเหมือนกัน คือ สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน เพราะฉะนั้น ธรรม คำเดียวมาจากธาตุทุกธาตุไม่เว้นอะไรเลย และแม้คำว่าสภาวะคำเดียว ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร

๘. ความหมายของปริญญา ๓ [2] แปลว่า ปัญญาที่กำหนดรู้ ได้แก่

ญาตปริญญา

หมายถึง ปัญญารู้ยิ่ง ชื่อว่า ญาณโดยความหมายว่าปรากฏอยู่แล้ว คือ รู้ยิ่ง ซึ่งนามและรูปพร้อมทั้งปัจจัย (ของนามและรูปนั้น มีจักขุปสาทรูป เป็นต้น) เริ่มตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นภูมิพื้นเฉพาะของญาตปริญญานั้น

ตีรณปริญญา

หมายถึง ปัญญากำหนดรู้ ชื่อว่า ญาณโดยความหมายว่าไตร่ตรอง ว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เริ่มตั้งแต่กลาปสัมมสนญาณจนถึง อนุโลมญาณ เป็นภูมิพื้นเฉพาะตีรณปริญญานั้น

ปหานปริญญา

หมายถึง ปัญญาในการปหานะ (การละ) ชื่อว่า ญาณโดยความหมายว่าละทิ้งไป โดยนัย เป็นต้นว่า “ละนิจจสัญญา" (ความหมายรู้ว่าเที่ยง) ด้วยอนิจจานุปัสสนา ... ดังนี้ เริ่มตั้งแต่ภังคานุปัสสนาญาณจนถึงมรรคญาณ เป็นภูมิพื้นเฉพาะปหานปริญญานั้น

ปริญญา ๓ ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น เวลานี้ความรู้ในขั้นฟังปริยัติ แต่ยังไม่รู้จักธรรม แม้คำว่า มีเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งปรากฏให้เห็นก็ยังไม่รู้จักทั้ง ๒ อย่าง เพราะถ้ารู้ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งหมายถึง อสัมโมหสัมปชัญญะ [3] ไม่หลงผิด เข้าใจผิดในธรรมที่ปรากฏ แม้เห็นและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่ใช่เรากำหนด แต่เป็น สติสัมปชัญญะมีปัจจัยเกิดรู้ลักษณะสภาพธรรม แต่นั่นก็ยังไม่ถึงญาตปริญญา เป็นแต่เพียง การอบรมเจริญสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นเหตุเท่านั้น เพราะวิปัสสนาญาณนั้นเป็นผลของการ อบรมเจริญปัญญาที่สมบูรณ์แล้ว

๙. ความหมายของอจินไตย ๔ [4]

หมายถึง สิ่งที่ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดจะมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า ได้แก่ พุทธวิสัย เป็นการคิดหาโดยไม่ทราบเหตุที่มาแท้จริงของการเป็นพระพุทธเจ้า หรืออานุภาพ พุทธคุณ มี สัพพัญญุตญาณ เป็นต้น

ฌานวิสัย

เป็นการคิดหาโดยไม่ทราบเหตุที่มาแท้จริงของฌาน ในวิสัยของผู้อบรมความสงบจิตจนถึง รูปฌาน อรูปฌาน อภิญญาจิต แสดงอิทธิฤทธิ์ได้ หรือมีจิตระดับสูงกว่าขั้นกาม ที่ไม่รู้กามารมณ์คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เป็นต้น

กรรมวิบาก

คือความคิดเรื่องของวิบากของกรรม มีกรรมที่จะให้ผลในปัจจุบัน เป็นต้น เช่น การคิด เรื่องคนนั้นที่ได้รับผลกรรมนั้นเพราะทำอย่างนั้นด้วยวิสัยตน

โลกจินตา

คือ ความคิดเรื่องโลก ได้แก่ ใครเป็นคนสร้างดวงจันทร์ ดางอาทิตย์ แผ่นดิน เป็นต้น เพราะ แม้คิดด้วยวิสัยตนก็ไม่ได้คำตอบ

โลกที่ควรพิจารณา

ถ้าจะคิดนับโลก หรือว่าคิดเรื่องมีอะไรในโลกบ้าง ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รู้ทั่วความจริงของโลกนี้ จึงไม่ควรคิดเรื่องโลกอื่น เพราะไม่ใช่การรู้แจ้งขณะนั้นในโลกนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรรู้แท้จริง ก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้

[1] คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาคสมาธิ ปริจเฉทที่ ๗ อธิบายบทของ โลกวิทู

[2] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส นันทมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๗ หรือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาคปัญญา ปริจเฉทที่ ๒๒

[3] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อรรถกถา สามัญญผลสูตร

[4] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อจินเตยยสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
jaturong
วันที่ 5 ต.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ms.pimpaka
วันที่ 2 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ