ไม่เข้าใจภาษาบาลีเลยค่ะ

 
pinyada
วันที่  15 ส.ค. 2549
หมายเลข  1851
อ่าน  1,789

จากการอ่านข้อธรรมมะในกระดาน บางหัวข้อที่คัดมาจากพระไตรปิฏกหรือบทความ

อ้างอิงต่างๆ อ่านแล้วเข้าใจยากเพราะมีคำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยมาก แต่อยากเข้าใจธรรมมากๆ ช่วยชี้แนวทางสำหรับคนใหม่ที่เริ่มศึกษาด้วยค่ะ และการที่จะศึกษาด้านปริยัตินี้คำว่าปริยัติหมายถึงอะไร ครอบคลุมแค่ไหน รวมถึงศัพย์บาลีด้วยหรือไม่ แล้วจะต้องเริ่มศึกษาอย่างไร กรุณาแนะนำด้วย ขอบคุณค่ะ ที่ผ่านมาอ่านแต่หนังสือธรรมะทั่วๆ ไปเช่น หนังสือของดังตฤนทุกเล่ม ท่านพุทธทาสเรื่อง อานาปานสติ ตัวกูของกู เป็นต้นแบบนี้ถือว่าเป็นการศึกษาด้านปริยัติไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chorswas.n
วันที่ 16 ส.ค. 2549
สวัสดีค่ะ ดิฉันคิดว่าผู้สนใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรศึกษาจากแหล่งตรงนั่นคือพระไตรปิฏก ที่พระอรหันต์และพระโบราณจารย์ได้ทรงรวบรวมไว้เพื่อชนรุ่นหลัง เช่นพวกเรา แน่นอนค่ะว่า ภาษาที่ใช้ย่อมต้องมีคำบาลี หรือคำที่เราผู้ศึกษาใหม่ยังไม่เข้าใจ สำหรับดิฉันเองแก้ปัญหานี้โดยการฟังธรรมจากผู้รู้เช่นท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และคณะ ที่ท่านบรรยายอยู่ทุกเสาร์และอาทิตย์ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ นอกจากนี้เมื่อใดที่เปิดอ่านเองแล้วติดคำศัพท์ดิฉันจะหาเอาจากพจนานุกรมค่ะซึ่งต้องพยายาม มีหลายเล่มนะคะแล้วเทียบเคียงความหมายจากเล่มโน้นเล่มนี้ โดยถือให้ตรงกัน อย่าลืมค่ะว่าหนังสือสมัยปัจจุบันนี้ ก็เขียนขึ้นโดยบุคคลในสมัยเดียวกับเรา ที่ท่านเขียนก็เป็นความเข้าใจของท่านค่ะ ความเข้าใจพระธรรม เราต้องทำความเข้าใจด้วยสามารถของตน แล้วแต่ปัญญาและเหตุปัจจัยที่สะสมมา ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กรุณากล่าวเตือนเสมอค่ะ จงอย่าเชื่อเพราะเหตุถือตามกันมา อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ ฟังมากๆ อ่านมากๆ ทุกเมื่อที่โอกาสอำนวย บางครั้งเรารู้แล้วเข้าใจแล้ว เช่นเราจะไม่กระทำบาปกรรมหรืออกุศลเช่นการพูดโกหก เป็นต้น เพราะเราละอายและเกรงกลัวต่อบาป นั่นก็หมายความว่าเราพอเข้าใจคำว่า หิริ โอตตัปปะแล้วค่ะ การศึกษาพระธรรมนั้นเราศึกษาอยู่ตลอดเวลาค่ะ ไม่ว่าจะกำลังทำงานอยู่ อ่านหนังสืออยู่ ขับรถอยู่ เรากำลังปฏิบัติอยู่ค่ะ ลองอ่านความหมายของคำว่าอุบาสกที่ดิฉัน ขอยกมาให้อ่านข้างล่างนี้นะคะ แล้วเพิ่มการเจริญเมตตาโดยการทำบุญ บริจาคทาน ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการ แม้เป็นงานเล็กน้อยนี่คือการปฏิบัติที่สมควรแก่คฤหัสถ์หรือฆราวาสแล้วค่ะ
คฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ชื่อว่าอุบาสก

เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าอุบาสก

เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย จริงอยู่อุบาสกนั้นได้ชื่อว่าอุบาสกด้วยอรรถว่า

นั่งใกล้พระพุทธเจ้า นั่งใกล้พระธรรมพระสงฆ์ ก็เป็นอุบาสกเหมือนกัน

อะไรคือศีลของอุบาสกนั้น

เวรมณี ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก

เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตจากอทินนาทานจากกาเมสุมิจฉาจาร

จากมุสาวาท จากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล

อาชีพอย่างไร

คือละการค้าขายผิดศีลธรรม ๕ อย่าง เลี้ยงชีพโดยธรรมสม่ำเสมอ

การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้อุบาสกไม่ควรทำ ๕ อย่างอะไรบ้าง

การค้าขายศัสตรา (อาวุธ)

การค้าขายสัตว์

การค้าขายเนื้อสัตว์

การค้าขายน้ำเมา

การค้าขายยาพิษ

การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้แล อุบาสกไม่ควรทำ
ศีลสมบัติและอาชีวสมบัติของอุบาสกนั้นนั่นแหละเป็นสมบัติของอุบาสก

ได้แก่ธรรม ๕ ประการ

เป็นผู้มีศรัทธา

เป็นผู้มีศีล

ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว

เป็นผู้เชื่อกรรม

ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระศาสนา ทำบุญในพระศาสนานี้

อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๔๙๐-๔๙๑
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
narong
วันที่ 16 ส.ค. 2549

ปริยัติ หมายถึง การศึกษาพระธรรม คำสอนของพระพุทธองค์ โดยการ อ่าน การฟังการสนทนา ซึ่งคุณpinyada ได้มีโอกาสเข้ามารู้จักเว็บบ้านธัมมะนี้แล้ว กระผมจึงขอแนะนำให้ศึกษาโดยเริ่มจากในเว็บนี้เลย และการศึกษาธรรมะ ใช้หลักที่ว่า ทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน ฟัง ทุกๆ ครั้ง ความเข้าใจจากการ อ่าน การฟังซึ่งจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ อย่าใจร้อน รีบร้อนที่จะรู้ให้มากๆ หรือรีบที่จะปฏิบัติ หรือให้สติปัฏฐานเกิดเร็วๆ เพราะหนทางนี้เป็นหนทาง "ละ" ไม่ใช่หนทางที่จะ "ได้" ซึ่งก็คือโลภะ นั่นเอง ก็จะกั้นการเจริญของปัญญา

สรุป คือ ให้ศึกษาจากในเว็บนี้เลย ในเรื่องใดๆ ก็ได้ที่ท่านสนใจ ประเด็นสำคัญคือ ต้องมีความเห็นถูกก่อน

หวังว่าคงพอเข้าใจนะครับ ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pinyada
วันที่ 16 ส.ค. 2549

ขอบคุณค่ะ จะตั้งใจและพยายามศึกษาให้มากขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wirat.k
วันที่ 17 ส.ค. 2549
สวัสดีครับคุณ pinyada ก่อนอื่นขอ "อนุโมทนา" คือ ยินดีด้วยในจิตที่เป็นกุศลของคุณ pinyada ที่สนใจใคร่จะมีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นเวลานานราว 10 กว่าปี ผมก็เคยได้ยินเสียงการบรรยายและสนทนาธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ ฯ แต่ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่มีพื้นฐานความรู้ทั้งภาษาบาลี และพระอภิธรรม แต่ผมก็รู้สึกว่าชอบฟังเรื่องชาดก และเห็นว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์บรรยายมีเหตุผล มีที่มาที่ไป คือท่านจะกล่าวถึงที่มาว่ามาจากพระไตรปิฎก เล่มใด ส่วนไหน และจริงๆ แล้วทุกๆ คำที่ท่านกล่าวถึงนั้น ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าท่านจะบอกความหมายกำกับตลอดแทบทุกคำ เมื่อครั้งที่ผมกลับมาฟังใหม่ก็รู้สึกว่าไม่เข้าใจคำอีกมาก แต่เมื่อได้มาฟังจากตอนเริ่มต้น ตามลำดับจริงๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ... ขอให้เริ่มต้นตามลำดับ ...ศึกษาเพื่อการละ ...ไม่ใช่เพื่อที่จะได้หรือเอาสิ่งใดท่านอาจารย์สุจินต์ท่านย้ำเสมอว่า...เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น...เท่าที่เราจะสามารถเข้าใจได้ สำหรับผม...การฟัง...ช่วยได้มาก จากนั้นก็อ่านทบทวนก็ได้นะครับ หนังสือปรมัตถ-ธรรมที่ทางมูลนิธิมีแจกสำหรับผู้สนใจก็เป็นคัมภีร์ที่ช่วยได้มาก ค่อยๆ อ่านทีละเล็กละน้อยครับ และต้องเข้าใจความหมายของทุกคำอย่างถ่องแท้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่"ฟังเผิน" ก็จะเข้าใจผิด ไม่ได้สาระประโยชน์อะไรจากพระธรรมคำสอน
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ